xs
xsm
sm
md
lg

“กรีนบัส”ยึดเส้นทางเดินรถลุ่มน้ำโขง ต้นปีเปิด“ ชม.-หลวงพระบาง”ลุ้นต่อ“ชม.-คุนหมิง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย ทองคำคูณ
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – “กรีนบัส” ยึดเส้นทางเดินรถทั่วลุ่มน้ำโขง ล่าสุดเตรียมเปิดเดินรถประจำทางเส้นทาง “เชียงใหม่-หลวงพระบาง” ประมาณเดือนมีนาคม 53 แย้มราคาค่าโดยสารเบื้องต้นอยู่ที่ 1,000 บาท เล็งเป้าหมายหลักกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระบุหากสำเร็จพร้อมขยายเดินรถถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ระบุหากทุกอย่างราบรื่นเตรียมเดินทางพร้อมคณะของผู้ว่าฯไปสิบสองปันนา ลุ้นให้บริษัท เพชรอรุณ ทำ MOUกับจีนเปิดเส้นทาง “เชียงใหม่-คุนหมิง”

นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจเดินรถโดยสารประจำทางครอบคลุมเส้นทางในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่รู้จักกันดีในชื่อ “กรีนบัส” (Green Bus) เปิดเผยว่าในช่วงปลายเดือนมกราคม 2553ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นหัวหน้าคณะนำภาครัฐและภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางไปสิบสองปันนา ประเทศจีน เพื่อเจรจาความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างกัน ซึ่งตนเองจะเดินทางร่วมคณะ โดยตั้งเป้าหมายจะได้เจรจากับผู้ประกอบการจีนถึงความร่วมมือในเรื่องของการเปิดเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางไปยังจีนด้วยเส้นทางถนน R3a ซึ่งบริษัทฯ มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนเช่นกัน

เบื้องต้นบริษัท เพชรอรุณ ที่ร่วมมือกันเดินรถในเส้นทางเชียงใหม่-หลวงพระบาง กำลังได้รับใบอนุญาตเดินรถเส้นทางบ่อแก้ว-คุนหมิง ร่วมกับทางผู้ประกอบการเดินรถของจีน ซึ่งหากความร่วมมือดังกล่าวเรียบร้อย บริษัทฯ ก็เตรียมที่จะเข้าไปร่วมด้วย โดยการเชื่อมระบบการจำหน่ายตั๋วและส่งต่อผู้โดยสารในลักษณะเดียวกันกับการเดินรถในเส้นทางเชียงใหม่-หลวงพระบาง ที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการลาว

นอกจากนี้ หากเป็นไปได้จะพยายามให้มีการทำ MOU กันให้ได้ ซึ่งเส้นทางเชียงใหม่-คุนหมิง ถือว่าเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดใช้เส้นทาง R3a อย่างเต็มรูปแบบ เพราะเมื่อมีการทำธุรกิจซื้อขายระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้มีการเดินทางไปมาระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

“เส้นทางเชียงใหม่-คุนหมิง นับเป็นเส้นทางที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถนน R3a มีการเปิดใช้เต็มรูปแบบ มองว่าการใช้บริการรถโดยสารในเส้นทางนี้เพื่อเดินทางไปมาระหว่างกันจะต้องเพิ่มอีกหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน ตามปริมาณการซื้อขายและการทำธุรกิจระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ มีเป้าหมายชัดเจนที่จะพยายามบุกเบิกการเดินรถในเส้นทางให้ได้โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการจีนและลาว” กรรมการผู้จัดการ บริษัทชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด กล่าว

นายสมชาย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการเชื่อมระบบการจำหน่ายตั๋วโดยสาร ในเส้นทางเดินรถระหว่างเชียงใหม่-หลวงพระบางว่า ขณะนี้ได้ร่วมมือกับ บริษัทเพชรอรุณ ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารประจำทางในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ดำเนินการเตรียมความพร้อมต่างๆ คืบหน้าไปมากแล้ว ทั้งในส่วนของการวางระบบ IT เพื่อเชื่อมข้อมูลการจำหน่ายตั๋วเดินทาง รวมทั้งการฝึกอบรมพนักงานให้แก่ทางผู้ประกอบการลาว ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถเริ่มเปิดเดินรถโดยสารให้บริการนักท่องเที่ยวได้ประมาณเดือนมีนาคม 2553

ทั้งนี้ในช่วงแรกของการให้บริการเดินรถโดยสารในเส้นทางนี้ จะเป็นไปในลักษณะของการเชื่อมต่อระบบขายตั๋วระหว่างกัน โดยที่ผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋วโดยสารได้ที่ต้นทางเพียงจุดเดียว เช่น ซื้อตั๋วที่เชียงใหม่ จะออกเดินทางจากเชียงใหม่ด้วยรถโดยสารของบริษัทฯ ไปถึง อ.เชียงของ จ.เชียงราย แล้วนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงไปยังแขวงบ่อแก้ว ฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และโดยสารรถของผู้ประกอบการลาวต่อไปจนถึงหลวงพระบาง ขณะที่หากซื้อตั๋วที่หลวงพระบาง ก็จะเป็นการเดินทางย้อนกลับมาในลักษณะเดียวกัน โดยราคาตั๋วโดยสารในเส้นทางนี้เบื้องต้นมีการกำหนดไว้ที่ประมาณ 1,000 บาท

“การลงทุนเพื่อเปิดเดินรถเส้นทางเชียงใหม่-หลวงพระบาง กับผู้ประกอบการเดินรถลาว ในช่วงแรกนี้ใช้เงินประมาณ 20 ล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของการซื้อรถโดยสารใหม่ประมาณ 18 ล้านบาท การวางระบบ IT เชื่อมต่อข้อมูลประมาณ 2 ล้านบาท และจัดอบรมพนักงานให้กับทางลาวประมาณ 1 ล้านบาท ขณะที่อนาคตอาจจะมีการลงทุนในส่วนของการก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารทางฝั่งลาว และเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงเปิดใช้ก็มีเป้าหมายที่จะเดินรถไปกลับเส้นทางเชียงใหม่-หลวงพระบางโดยตรงเลย” นายสมชาย กล่าว

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้บริการรถโดยสารในเส้นทางเชียงใหม่-หลวงพระบางนายสมชาย กล่าวว่า กลุ่มผู้ใช้บริการหลักที่มองไว้จะเป็นในส่วนของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังเชียงของเฉลี่ยวันละประมาณ 50 คน และมีจากเชียงของที่ข้ามไปยังฝั่งแขวงบ่อแก้วอีกจำนวนหนึ่ง จึงน่าจะเป็นโอกาสดีในการเปิดให้บริการเดินรถในเส้นทางนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวเชียงใหม่และหลวงพระบาง ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างกันได้เป็นอย่างดี

ในอนาคตหากการเปิดบริการเดินรถโดยสารประจำทางในเส้นทางเชียงใหม่-หลวงพระบาง ประสบความสำเร็จด้วยดี จะขยายเส้นทางการเดินรถเชื่อมต่อไปจนถึงนครเวียงจันทน์ เมืองหลวงของสปป.ลาวอีกด้วย โดยมองว่าน่าจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับเชียงใหม่-หลวงพระบาง
กำลังโหลดความคิดเห็น