xs
xsm
sm
md
lg

“เมล์เขียว”เตรียมร่วมทุนลาว เปิดเดินรถโดยสาร-ขายตั๋ว 1 ใบ 2 ประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย ทองคำคูณ
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – “เมล์เขียว” จับมือผู้ประกอบการเดินรถโดยสารลาว เชื่อมต่อระบบจำหน่ายตั๋วเส้นทางเชียงใหม่-หลวงพระบาง อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว ซื้อตั๋วแค่จุดเดียวเฉพาะต้นทาง คาดเริ่มขายได้ปลายปี 2552 นี้ ขณะเดียวกันเตรียมทุ่ม 80 ล้านบาทร่วมลงทุนธุรกิจเดินรถโดยสารในลาว

นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจเดินรถโดยสารประจำทางครอบคลุมเส้นทางในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่รู้จักกันดีในชื่อ “เมล์เขียว” เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเชื่อมระบบการจำหน่ายตั๋วโดยสารในเส้นทางเดินรถระหว่างเชียงใหม่-หลวงพระบางว่า ขณะนี้บริษัทฯ กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการเดินรถโดยสารในแขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว ) ด้านตรงข้ามกับอ.เชียงของ จ.เชียงราย ในการที่จะเป็นพันธมิตรและเครือข่ายทำธุรกิจร่วมกัน ด้วยการเชื่อมระบบการจำหน่ายตั๋วโดยสารระหว่างกันในเส้นทางเชียงใหม่-หลวงพระบาง

ความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้ผู้โดยสาร ที่ซื้อตั๋วโดยสารที่ต้นทางเชียงใหม่และหลวงพระบาง สามารถเดินทางถึงปลายทางได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยการซื้อตั๋วเพียงจุดเดียว ยกตัวอย่างเช่น ซื้อตั๋วที่เชียงใหม่ จะออกเดินทางจากเชียงใหม่ด้วยรถโดยสารของบริษัทฯ ไปถึงอ.เชียงของ แล้วนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงไปยังแขวงบ่อแก้ว และโดยสารรถของผู้ประกอบการลาวต่อไปจนถึงหลวงพระบาง ขณะที่หากซื้อตั๋วที่หลวงพระบาง ก็จะเป็นการเดินทางย้อนกลับมาในลักษณะเดียวกัน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตกลงรายละเอียดการจ่ายเงินระหว่างกัน ที่ต้องมีการนำระบบ IT มาใช้ คาดว่าประมาณปลายปี 2552 น่าจะเริ่มจำหน่ายตั๋วได้

“ตามความร่วมมือในครั้งนี้กับผู้ประกอบการเดินรถลาว เราจะเชื่อมต่อระบบการขายตั๋วโดยสารระหว่างกัน ทำให้ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางจากเชียงใหม่ไปหลวงพระบาง หรือจากหลวงพระบางมาเชียงใหม่ มีความสะดวกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น เพราะซื้อตั๋วเพียงครั้งเดียวที่ต้นทาง จากนั้นก็สามารถเดินทางได้จนถึงปลายทางโดยไม่ต้องเสียเวลาไปซื้อตั๋วเรือข้ามแม่น้ำโขงและซื้อตั๋วรถโดยสารเพื่อเดินทางต่อเหมือนที่ผ่านมา คาดว่าในช่วงปลายปีนี้น่าจะเริ่มขายตั๋วได้ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี” นายสมชาย กล่าว

**ร่วมทุนเดินรถโดยสารในลาว

กรรมการผู้จัดการ บริษัทชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด กล่าวด้วยว่า นอกจากการสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเดินรถลาว ในการเป็นเครือข่ายทำธุรกิจด้วยกันในครั้งนี้แล้ว ในอนาคตบริษัทฯ ยังมีแผนที่จะร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการเดินรถลาว ในการทำธุรกิจเดินรถโดยสารในประเทศลาว เชื่อมต่อกับเส้นทางจากประเทศไทยด้วย เบื้องต้นประเมินว่าน่าจะใช้เงินลงทุนในแผนร่วมลงทุนครั้งนี้ประมาณ 80 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตามแผนจะมีทั้งการสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารและซื้อรถโดยสารใหม่ที่ต้องเปลี่ยนพวงมาลัย เพราะทางฝั่งทางลาววิ่งเลนขวาแต่รถเราถูกออกแบบมาให้วิ่งเลนซ้าย ซึ่งราคารถโดยสาร 1 คันราคาประมาณ 4-5 ล้านบาทมีการสั่งไว้ประมาณ 10 คันซึ่งคาดว่าหากปี 2555 มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงด้านอ.ชียงของและแขวงบ่อแก้วเสร็จก็จะสามารถวิ่งไปมาระหว่างกันได้

นอกจากนี้แล้ว เส้นทางเดินรถขนส่งผู้โดยสารที่น่าจะลงทุนเพื่อเชื่อมต่อให้ครบวงจรมากที่สุด คือ เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย-เชียงของ และไปหลวงน้ำทา-เชียงรุ้ง-คุนหมิง คาดว่าปริมาณผู้โดยสารที่จะเดินทางต่อวันคงไม่ต่ำกว่า 400-500 คน ในช่วง 1-2 ปีแรก แต่ต่อไปในอนาคตคิดว่า แนวโน้มอาจจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว เพราะคุนหมิง มีประชากรหลายล้านคน ประกอบกับนักธุรกิจจากจีนมีความต้องการเข้ามาทำธุรกิจและท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และลงมาที่กรุงเทพฯ พัทยา หรือภูเก็ต เนื่องจากคุนหมิงมีภูมิประเทศเป็นภูเขาเป็นส่วนใหญ่ จึงคาดหวังเรื่องการท่องเที่ยวเป็นหลัก

"เชียงใหม่และเชียงรายมียุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นยุทธศาสตร์แรก คุนหมิงมีจำนวนประชากรอยู่ไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคนถ้าเกิดมีรูปแบบของการเดินทางที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น และมีการลดต้นทุนในการเดินทางมากขึ้นเชื่อแน่ว่า คน 6 ล้านคน น่าจะลงมาเที่ยวที่ประเทศไทยโดยเฉพาะเชียงใหม่ภาคเหนือแล้วลงไปสู่ภาคกลางได้ด้วย" กรรมการผู้จัดการบริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสมชาย กล่าวถึงภาพรวมผลประกอบการของ“เมล์เขียว”ในปี 2552 ว่า หากใช้ผลประกอบการในปี 2549 เป็นฐานแล้ว ในปี 2552 ถือว่าผลประกอบการค่อนข้างแย่โดยลดลงไปประมาณ 7% ขณะที่ปี 2550 และปี 2551 ลดลงประมาณร้อยละ 3 เท่ากัน โดยผลประกอบการที่ลดลงทั้งในแง่รายได้และจำนวนผู้โดยสารนั้น เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมที่ซบเซา ทำให้ผู้โดยสารลดจำนวนการเดินทางลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้โดยสารที่เดินทางเพื่อทำงานและกลับบ้าน

สำหรับการปรับตัวเพื่อรองรับกับภาวะจำนวนผู้โดยสารที่ลดจำนวนลง นายสมชาย กล่าวว่า ต้องเน้นการบริหารต้นทุนการดำเนินการให้ประหยัดที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ โดยการลดจำนวนเที่ยวการเดินรถโดยสารประจำทางเป็นวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ จากปกติที่จะมีการเดินรถโดยสารประจำทางในทุกเส้นทางประมาณ 200 เที่ยวต่อวัน ในช่วงวันธรรมดาที่มีผู้โดยสารน้อยก็จะมีการปรับลดจำนวนเที่ยวการเดินรถลงไปประมาณ 30% เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย แต่เมื่อถึงช่วงวันหยุดที่มีการเดินทางมากก็มีการเพิ่มเที่ยวการเดินรถให้มีจำนวนเที่ยวตามปกติ ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนไปได้ในระดับหนึ่งและทำให้ธุรกิจยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น