xs
xsm
sm
md
lg

จีนโหม“คุน-มั่น กงลู่”ถนนสู่อาเซียน(จบ)ทุนLogisticมังกรยึดถนนR3aเชื่อมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สิชา สิงห์สมบูรณ์ ประธานบริษัทเอเอซี กรีนซิตี้ลาว จำกัด
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – สารพัดกลุ่มทุนขนส่งจีนพาเหรดเข้าหาพาร์ตเนอร์ท้องถิ่น ลุยโปรเจกต์รองรับเส้นทาง “คุน-มั่น กงลู่” และข้อตกลงจีน – อาเซียน ล่าสุดกลุ่ม “ทัวร์GMSสิบสองปันนา” คว้าใบอนุญาตวิ่งรถจีน-ลาว-ไทย ผ่าน R3a เป็นรายแรก พร้อมเปิด สนง.ที่เชียงราย-ห้วยทราย(ลาว) ขณะที่ทุน Logistic ยักษ์หยุนหนัน ดีลผ่าน “ทุนไทย-เกาหลีใต้”รอส่งสินค้าจีนผ่าน “แหลมฉบัง” ด้านสายการบิน “SGA”เล็งเปิดบินเข้าเชียงรุ่งเมษาฯ 53 รองรับ บริษัททัวร์ไทยเตรียมส่งเรือ “สัญชาติไทย” ลำแรกลงน้ำโขงแล้ว

ขณะที่สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อม อ.เชียงของ จ.เชียงราย เข้ากับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว( สปป.ลาว )จุดเริ่มต้นถนน R3a ที่เป็นส่วนหนึ่งของคุน-มั่น กงลู่ มีกำหนดการ (เบื้องต้น) เปิดประมูลวันที่ 7 มกราคม2553 เพื่อก่อสร้างให้เสร็จในปี 2555 อันจะทำให้โครงข่ายคมนาคมสายนี้สมบูรณ์ 100%นั้น ในกลุ่มธุรกิจขนส่งทั้งคน-สินค้า ก็มีความเคลื่อนไหวเข้ายึดกุมโอกาสทางธุรกิจที่เปิดขึ้นตามเส้นทางคมนาคมเช่นกัน

Ji Jin ผู้จัดการใหญ่ บริษัทรถทัวร์ GMS สิบสองปันนา จำกัด กิจการร่วมทุนระหว่างทางการสิบสองปันนา – เอกชนจีน เปิดเผย ASTVผู้จัดการรายวัน เมื่อคราวร่วมคณะเลขาฯพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำสิบสองปันนา เยือนเชียงใหม่-เชียงราย ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม 2552 ว่า บริษัทของเขามีสำนักงานเครือข่ายกระจายอยู่ในตัวเมืองหลัก ๆ ของหยุนหนัน ทั้งคุนหมิง ลี่เจียง สิบสองปันนา ฯลฯ ให้บริการทั้งรถประจำทาง รถทัวร์เช่า ฯลฯ ล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัทหย่าไทร้เอเชี่ยนทัวร์ จำกัด และบริษัทเทียนเฉิน จำกัด(จีน) ตั้งศูนย์กระจายสินค้าและการท่องเที่ยวสิบสองปันนา-เชียงราย ขึ้น ณ ที่ทำการของบริษัทหย่าไทร้ฯ บริเวณ 5 แยกพ่อขุนฯ กลางเมืองเชียงราย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงาน-ฐานข้อมูลสำหรับธุรกิจต่างๆ เกี่ยวกับการเดินทางไปมาระหว่างเชียงราย-จีนตอนใต้ โดยมีทางการจีนให้การรับรองเพียงรายเดียวของไทย รวมทั้งเป็นเครือข่ายให้บริการลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการรถทัวร์ของบริษัทเดินทางไปมาระหว่างจีน-ไทย ผ่านเส้นทาง R3a ที่บริษัทมีใบอนุญาตจากทางการลาวเพียงรายเดียวในการวิ่งรถข้ามทั้ง 3 ประเทศ

นอกจากนี้บริษัทยังเปิดสำนักงานในลักษณะเดียวกันนี้ ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพื่อให้บริการลูกค้า ที่มีต้นทางที่ห้วยทราย – คุนหมิง หรือเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ ของหยุนหนันด้วย

“เราเริ่มเปิดให้บริการวิ่งรถผ่าน 3 ประเทศเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2552 นี้เอง ถือเป็นบริษัทในหยุนหนันรายแรกที่วิ่งรถได้ทั้ง 3 ประเทศแล้ว ที่ผ่านมามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากกว่า 2,000 คนแล้ว”

Ji Jin บอกว่า ในอนาคตบริษัทจะขยายเครือข่ายให้บริการครอบคลุมประเทศในกลุ่ม GMS ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น จีน ลาว พม่า ไทย กัมพูชา เวียดนาม เมื่อเส้นทางคมนาคม และกฎระเบียบต่าง ๆ เอื้ออำนวยให้มากขึ้น จะทำให้คนในภูมิภาคนี้ สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ทั้งหมด

ขณะที่นายพงษ์ทร ชยาตุลชาต กรรมการผู้จัดการ บริษัทหย่าไทร้เอเชี่ยนทัวร์ จำกัด ยืนยันว่า บริษัทรถทัวร์GMS สิบสองปันนา จำกัด วิสาหกิจจีน ได้รับอนุญาตจากทางการลาว นำรถบัสนำเที่ยวขนาด 32 ที่นั่งและ 57 ที่นั่ง เปิดให้บริการบนถนน R3a เชื่อมเชียงราย-สปป.ลาว ผ่านแขวงบ่อแก้ว-แขวงหลวงน้ำทา-เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 ในอนาคตจะเปิดให้บริการไปยังกรุงเทพฯ เพื่อให้สุดทางถนนคุนหมิง-กรุงเทพฯ หรือคุน-มั่น กงลู่ รวมทั้งจะขยายต่อไปยังประเทศมาเลเซีย-สิงคโปร์ด้วย

โดยคิดค่าบริการแบบเช่าเหมาสายเชียงราย-บ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ชายแดนติดกับประเทศจีน รถบัสขนาด 40 ที่นั่งขึ้นไป ราคา 43,000 บาท และรถบัสตั้งแต่ 30-40 ที่นั่ง ราคา 41,500 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นเดินทางจาก อ.เชียงของ ชายแดนไทย-สปป.ลาว ติดกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ไปยังเมืองบ่อเต็นหรือเส้นทางเชียงของ-บ่อเต็น คิดราคาจากรถบัส 40 ที่นั่งขึ้นไป ราคา 35,000 บาท และรถบัส 30-40 ที่นั่ง ราคา 32,000 บาท และเส้นทางห้วยทราย-บ่อเต็น สำหรับรถบัส 40 ที่นั่งขึ้นไปราคา 28,000 บาท และรถบัส 30-40 ที่นั่ง ราคา 26,000 บาท

“ตลาดท่องเที่ยวบน R3a ยังโตได้อีกมาก ยิ่งถ้ามีการผ่อนคลายกฎระเบียบ ให้คนจีนใช้เอกสารบอร์เดอร์พาสแทนพาสปอร์ตเข้าไทยได้ ก็จะทำให้มีคนจีนเดินทางเข้ามาเชียงราย หรือภาคเหนือของไทยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนต่อวันแน่นอน”

ขณะที่บริษัทไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด ที่บริหารงานโดย บริษัทชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด หรือกรีนบัส ผู้ให้บริการรถโดยสารขนส่งมวลชนรายใหญ่ของภาคเหนือ ได้ทำการเซ็นสัญญากับท่าตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสาร Green bus ณ บ้านห้วยทราย จุดจำหน่ายบัตรจุดแรกในประเทศลาว เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อเชื่อมผู้โดยสารลาว-ประเทศไทย รองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศไปยังแหล่งท่องเที่ยวเมืองหลวงพระบาง และยังเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทาง R3a และขยายเครือข่ายจำหน่ายตั๋วร่วมไปถึงคุนหมิง เมืองเอกของหยุนหนันต่อไป
การเดินเรือในแม่น้ำโขงยังคงเฟื่องฟู ขณะที่การคมนาคมทางบก ที่ผ่านถนน R 3 a และ R 3b ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งการขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว
ด้าน ดร.สิชา สิงห์สมบุญ ประธานบริษัทเอเอซี กรีน ซิตี้ ลาว จำกัด บริษัทร่วมทุนไทย-เกาหลีใต้ ที่เข้าสัมปทานพื้นที่ 1,200 ไร่ บริเวณบ้านดอนขี้นก จุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ฝั่งเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ซึ่งมีโครงการก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ต สปา สนามกอล์ฟ ฯลฯ ด้วยงบลงทุน 1,320 ล้านบาท ล่าสุดลงทุนปรับพื้นที่-พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานไปแล้ว กว่า 200 ล้านบาท กล่าวว่า หากเคลียร์ปัญหาเรื่องแนวก่อสร้างถนนเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำโขง 4 และจุดก่อสร้างอาคารด่านพรมแดน บนพื้นที่ผ่านพื้นที่สัมปทานของโครงการได้ ก็จะทำให้แผนงานต่าง ๆ ของบริษัทเดินหน้าต่อไปได้

ก่อนหน้านี้ ได้ตกลงเบื้องต้นกับกลุ่มขนส่งยักษ์ใหญ่ของหยุนหนันไว้ คือ กลุ่ม พีค็อก ว่า เมื่อขนส่งสินค้าจากจีนลงมาตามเส้นทาง R3a ก็จะเข้ามาพักเปลี่ยนหัวลากในพื้นที่ของบริษัท ก่อนที่จะลำเลียงเข้าไทยต่อไปที่ท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านบริษัทที่เป็นพันธมิตรกันอย่างสยามสตีล เพื่อส่งสินค้าออกสู่ตลาดโลกต่อไป

SGAเล็งเปิดบินเชียงราย-เชียงรุ่ง

ด้านนายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองเลขาธิการฝ่ายพัฒนาระบบ Logistic หอการค้าจังหวัดเชียงราย ระบุเพิ่มเติมว่า ยอมรับว่าตอนนี้มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาหาช่องทางลงทุนตามแนวถนนคุน-มั่น กงลู่ อย่างคึกคัก หลากหลายกลุ่ม โดยระยะแรกจะเป็นการแสวงหาพาร์ตเนอร์ในท้องถิ่น ก่อนที่จะเริ่มเดินเครื่องอย่างจริงจังต่อไป ทั้งกลุ่มธุรกิจขนส่ง – ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ฯลฯ

นายวันชัย ช่วงชัยกิจการ รองผู้อำนวยการฝ่ายการขายและตลาดของสายการบินเอสจีเอ กล่าวเมื่อคราวร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างการท่องเที่ยวสิบสองปันนา – สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชียงรายเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ว่า เอสจีเอ มีแผนจะทำการบินระหว่างเชียงใหม่-เชียงราย-สิบสองปันนา ด้วยเครื่องรุ่น 304 ขนาด 33 ที่นั่ง ซึ่งปัจจุบัน เอสจีเอ ได้สั่งซื้อและเตรียมเครื่องบินเอาไว้แล้วที่ออสเตรเลีย 2 ลำ โดยจะบินมาไทยในเดือนนี้ (มกราคม 2553) และตั้งเป้าว่าจะเปิดบินเชียงราย ให้ได้ในเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม 2553 และพร้อมจะเชื่อมธุรกิจกับเอกชนจีนต่อไป โดยจะเดินเรื่องขออนุญาตและกฎระเบียบต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะเปิดให้เร็วกว่ากำหนด

ปัจจุบันเอสจีเอ มีเครื่องบินเล็กจำนวน 3 ลำให้บริการโดยมีเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางการบินเชื่อมกับ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงราย และ จ.น่าน จ.อุดรธานี

ขณะที่ Den Xiping รองประธานบริษัทหยุนหนัน แอร์พอร์ตกรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ถ้าสายการบิน เอสจีเอเปิดบินจริง ทางท่าอากาศยานนานาชาติสิบสองปันนา ก็จะให้ส่วนลดไม่ต้องเสียค่าลงจอดในปีแรกทันที 100% ปีที่สองลด 50% ปีที่สามลด 80% แต่ถ้าหาก 2-3 ปียังมีปัญหาด้านการลงทุนก็สามารถยกเว้นให้ได้อีกต่อไป

สอดคล้องกับ Jiang Pusheng เลขาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำสิบสองปันนา ที่ย้ำผ่านเวทีประชุมร่วมทั้งที่เชียงใหม่ – เชียงราย ว่า การเปิดเส้นทางบินระหว่างภาคเหนือของไทย กับสิบสองปันนา รอบใหม่นี้ รับรองไม่ขาดทุนแน่นอน

เตรียมเรือไทยลำแรกลงแม่น้ำโขง

หลังข้อตกลงเปิดเดินเรือพาณิชย์ฯในแม่น้ำโขงตอนบน ระหว่าง ไทย พม่า ลาว จีน เริ่มมีผลตั้งแต่เมษายน 2544 เป็นต้นมา ปรากฏว่า เรือสินค้า-นำเที่ยวนับร้อย ๆ ลำที่วิ่งขึ้นล่องในแม่น้ำโขง ล้วนแต่เป็นเรือสัญชาติจีนทั้งสิ้น
แต่นับจากนี้จะมีเรือนำเที่ยวสัญชาติไทยวิ่งแล้ว

นางสาวผกายมาศ เวียร์รา ประธานกรรมการบริษัทแม่โขงเดลต้าทราเวล เอเจนซี จำกัด ผู้ให้บริการนำเที่ยวในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ทั้งทางบก ผ่านเส้นทาง R3a / R3b และทางน้ำผ่านแม่น้ำโขงตอนบน จากเชียงแสน – เชียงรุ่ง มากว่า 2 ปี บอกว่า บริษัทกำลังปรับปรุงเรือท่องเที่ยวขนาด 80 ที่นั่ง (ชั้นธุรกิจ 40 ที่นั่ง VIP 40 ที่นั่ง สามารถปรับเป็นห้องประชุมสัมมนาลอยน้ำได้ กว้าง 5 เมตร ยาว 41 เมตร กินน้ำลึก 60 ซม.) ที่สั่งต่อกันที่หลวงพระบาง สปป.ลาว โดยใช้วิศวกรจาก 3 ชาติ (ไทย ลาว จีน) ร่วมกันคุมงาน ที่นำมาเทียบท่าริมน้ำโขงหน้าสำนักงานบริษัทที่เชียงแสนอยู่ ก่อนจะเริ่มทดลองวิ่งในแม่น้ำโขงอย่างจริงจังต่อไป

“ลำนี้ จะเป็นเรือสัญชาติไทยลำแรกที่วิ่งในแม่น้ำโขง ถ้าไม่นับพวกเรือหางยาว เรือแจวที่ทำมาหากินในแม่น้ำโขงกันมานาน”

นางสาวผกายมาศ บอกว่า เรือลำนี้ จะจดทะเบียนที่ประเทศไทย เป็นเรือสัญชาติไทย ใช้ชื่อไทย ส่วนกัปตันถ้าขึ้นไปทางเชียงแสน จากสามเหลี่ยมทองคำ – สิบสองปันนา ก็ใช้กัปตันจีน ลูกเรือจีน ถ้าล่องลงหลวงพระบาง ก็ใช้คนลาว นายน้ำลาว ลูกเรือผสมกันระหว่างจีน – ลาว แต่ฝ่ายต้อนรับทั้งหมด จะใช้คนไทย ที่มีทักษะดีกว่า

เธอบอกว่า หลังจากนี้จะต่อเพิ่มอีกลำ และจะทำที่ไทย สร้างเรือให้ตรงตามกฎหมายไทย ก่อนที่จะขออนุญาตวิ่งเข้าจีน ลาว เพื่อวิ่งเข้าหลวงพระบางด้วย

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทแม่โขงเดลต้าเคยร่วมมือกับ บริษัทขนส่งเทียนต๋าสิบสองปันนา รัฐวิสาหกิจของสิบสองปันนา ทั้งเรือ “นกยูงทอง” เรือท่องเที่ยวที่มีห้องพักในตัว รองรับผู้โดยสารได้ 76 คน (ขยายได้ 130 คน) เรือสามเหลี่ยมทองคำ 8 จุผู้โดยสารได้ 68 คน กับเรือเทียนต๋า 1 และ 2 ที่สามารถจุผู้โดยสารได้ลำละ 48 คน ก็จะค่อย ๆ ปลดระวางไป เพราะบางลำ จะสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก บางลำเริ่มมีปัญหากับอายุการใช้งานที่มากขึ้น เพราะกระแสน้ำในแม่น้ำโขง แตกต่างจากน้ำทะเล และแหล่งน้ำอื่น ๆ มาก ก็ต้องหาช่องทางแก้ปัญหา

เธอมองว่า อนาคตของการท่องเที่ยวแถบสามเหลี่ยมทองคำ – การท่องเที่ยวผ่านแม่น้ำโขง ยังไปได้ คนชอบ แต่การเดินทางแม่น้ำโขงต้องใช้เวลานับสิบๆชั่วโมง ทำให้คนเบื่อได้ คนจะตื่นเต้นระยะแรก ที่ได้ลงเรือแม่น้ำโขง

แต่สิ่งที่จะต้องทำก็คือ การสร้างกิจกรรมรองรับบนเรือ เช่น เคาน์เตอร์บาร์ ห้องอาหาร ฯลฯ แต่ไม่ควรเป็นเรือนอน เพราะคนกลัวที่จะนอนระหว่างทางในแม่น้ำโขง เช่น หาจุดพักกลางทาง เช่น หมู่บ้านลาว หรือสบโหลย ฝั่งพม่า ที่ปัจจุบันกลายเป็นชุมทางสินค้า – คนมากขึ้น โดยเฉพาะเกาหลีเหนือที่ทะลักมาพักรอเดินทางเข้าไทยอยู่เป็นจำนวนมาก

ส่วนเรือโดยสารก็สามารถบริหารจัดการได้ตามปริมาณผู้โดยสาร เช่น ช่วงพีกเดิมเคยวิ่งเชียงแสน-เชียงรุ่ง (สิบสองปันนา) ไปกลับสัปดาห์ละ 6 เที่ยว (ขาขึ้นจันทร์ พุธ ศุกร์ ,ขาล่อง อังคาร พฤหัสบดี เสาร์) ก็ปรับเหลือสัปดาห์ละ 2 เที่ยว (ไปกลับรวม 4 เที่ยว) และเมื่อถึงไฮซีซันก็เพิ่มความถี่สูงขึ้นเท่านั้น

ส่วนทางบก ผ่าน R3a (ไทย ลาว จีน) ส่วนหนึ่งของคุน-มั่น กงลู่ หรือคุนหมิง – กรุงเทพฯโดยมากจะเน้นหนักเรื่องการเดินทางติดต่อค้าขายมากกว่า เพราะตลอดเส้นทางวนเวียนอยู่ในภูเขา ขณะที่ สปป.ลาว เองก็กำลังอยู่ระหว่างการจัดระเบียบเดินรถอยู่ เพื่อปกป้องธุรกิจสัญชาติลาวเอง

ขณะที่ R3b (ไทย พม่า จีน) ที่แม้จะก่อสร้างเสร็จมานานหลายปี ที่จีนปิดพรมแดนมาร่วม 3-4 ปี ล่าสุดจีนก็เปิดพรมแดนต้าล่อ หรือต้าลั่ว สิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน ที่เชื่อมต่อกับปลายทาง R3b ที่เมืองลา เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ 4 แห่งสหภาพพม่า ของกลุ่ม “อูไซลิน”

แต่ในฝั่งพม่า ยังไม่เปิดพรมแดนให้ โดยส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่า – ชนกลุ่มน้อย ที่พม่า เองก็ยังไม่สามารถคุมได้ตลอดเส้นทาง และการจัดสรรผลประโยชน์กับกลุ่ม “อูไซลิน” ที่ปกครองพื้นที่อยู่ ทั้งเรื่องค่าผ่านทาง ไกด์ วีซ่า(เข้าเขตปกครอง)

อย่างไรก็ตาม ผกายมาศ บอกว่า เส้นทาง R3b ก็ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไทยอยู่เนือง ๆ เพียงแต่ยังไม่สามารถเดินทางทะลุเข้าจีนผ่านทางนี้ได้เท่านั้น

เช่นเดียวกับคนจีน (ไทลื้อ) ที่เดินทางไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องในแถบนี้มานาน ก็ยังคงใช้บอร์เดอร์พาสเข้าพม่า มาจนถึงท่าขี้เหล็ก (ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย) อยู่ บางกลุ่มขับรถมากันเองด้วยซ้ำ เพียงยังไม่สามารถข้ามฝั่งมาถึงไทยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น