ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ตัวแทนภาครัฐ-เอกชนจีน เร่งกรุยทางลงทุนตามแนวเส้นทาง “คุน-มั่น กงลู่” ส่งทีมตั้งโต๊ะหารือส่วนราชการ – กลุ่มทุนไทยถี่ยิบ รองรับข้อตกลงจีน-อาเซียน ที่เริ่มต้นขึ้นแล้วในปีนี้(พ.ศ.2553) ขณะที่รัฐไทย ยังเล่นกับ “งบ” ผุดสารพัดโปรเจกต์ตัดถนนเพิ่ม – ศึกษารถไฟเด่นชัย-เชียงรายใหม่ ทั้งที่สารพันปัญหาจ่อคิวผุดหลัง “ไทย-พม่า-ลาว-จีน”เดินเครื่องเต็มตัว
รอบ 4-5 เดือนสุดท้ายของปีกลาย (2552) มีกระแสความเคลื่อนไหวของภาครัฐ-เอกชนจีน ผ่านลงมาตามเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ หรือคุน-มั่น กงลู่ (มั่น – มาจากคำว่า ม่านกู่ ในภาษาจีนกลาง ที่แปลว่า กรุงเทพฯ) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ถึงความพยายามขยายเครือข่ายการลงทุนลงใต้ของ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะมณฑลหยุนหนัน อย่างมุ่งมั่น
ไม่ว่าจะเป็นคณะของ “เตา หลินอิง” ผู้ว่าฯสิบสองปันนา ที่นำคณะนั่งรถจากสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน ลงมาตาม R3a ขึ้นฝั่งที่เชียงของ เมื่อสิงหาคม 52
ตามมาด้วยคณะของ Jiang Pusheng เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำสิบสองปันนา และประธานสมาคมมิตรภาพระหว่างประเทศสิบสองปันนา พร้อมตัวแทนภาครัฐ-เอกชนจากสิบสองปันนา ทั้ง MR.Chen Qizong รองผู้ว่าฯสิบสองปันนา , Mr.Lu Jingquan ผอ.สนง.การท่องเที่ยวสิบสองปันนา ,Mr.Den Xiping รองประธาน Yunnan Airport Group CO,LTD ฯลฯ ก็มุ่งหน้ามาตามเส้นทาง R3a เพื่อร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างการท่องเที่ยวสิบสองปันนา กับสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชียงใหม่ – เชียงราย ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม 2552
ถัดจากนั้นอีกไม่กี่วัน คือวันที่ 9 ธันวาคม 2552 Mr.Xu Zhonglin อดีตประธานกระทรวงอุตสาหกรรมมณฑลหยุนหนัน พร้อมคณะนักธุรกิจทั้งด้านลอจิสติกส์ เฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งภายใน อุตสาหกรรมหนักต่าง ๆ อีกร่วม 50 ชีวิต ที่เดินทางจากคุนหมิง เมืองเอกของหยุนหนัน มาตามเส้นทางคุน-มั่น กงลู่ เพื่อสำรวจช่องทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว
คณะนี้มีผู้บริหารบริษัทเอกชนรายใหญ่ของหยุนหนัน ร่วมเดินทางมาด้วย เช่น กลุ่มผู้บริหารบริษัทหยุนหนันการลงทุนในภาคพื้นเอเชีย จำกัด -บริษัทหยุนหนันกลุ่มวิศกรรมก่อสร้าง จำกัด -บริษัทโลหะกรรมวิศวกรรมก่อสร้าง จำกัด -บริษัทคุนหมิงเหาเหม่ย อสังหาริมทรัพย์พัฒนา จำกัด -บริษัทหยุนหนันลู่เฉียว จำกัด- โรงงานไท่เหอซึ่งอยู่ในเครือซีวายกรุ๊ป จำกัด -บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลคอมบัสชั่นเอ็นยิเนีย จำกัด- โรงงานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในเครือบริษัทจิ่วโจว อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ตามมาด้วยคณะ เฉียน เต๋อ เว่ย รองนายกเทศมนตรีนครผูเอ่อ ที่นำทีมบินตรงจากคุนหมิง เข้าสุวรรณภูมิ ก่อนย้อนขึ้นมาพิษณุโลก พบปะกับนักธุรกิจเมืองสองแควพร้อมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมระหว่างรัฐต่อรัฐ คือ เทศบาลนครพิษณุโลกกับเทศบาลนครผูเอ่อ เป็นบ้านพี่เมืองน้องให้ความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว พร้อมกับดูลู่ทางการร่วมทุนในธุรกิจการเกษตร – ศูนย์สินค้าเกษตรอินโดจีน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2552
หลากหลายคณะตัวแทนรัฐ-เอกชนจีน ที่ตบเท้าเข้าไทยผ่านคุน-มั่น กงลู่ เหล่านี้ ล้วนแต่มีนัยว่า จีนเดินหน้าเต็มที่ สำหรับการเปิดช่องทางการค้า ลงทุน ท่องเที่ยว จีนตอนใต้เชื่อมโยงกับอาเซียน – ตลาดโลก ผ่านเส้นทางสายนี้
Jiang Pusheng เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำสิบสองปันนา และประธานสมาคมมิตรภาพระหว่างประเทศสิบสองปันนา กล่าวระหว่างประชุมร่วมกับคณะผู้ว่าฯ-ภาคธุรกิจที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ณ ศาลากลางเชียงใหม่ ว่า เขามาเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานได้รับการพัฒนามาก การเดินทางระหว่างจีน-ไทย เริ่มสะดวกมากขึ้น ทั้งเส้นทาง R3a (จีน-ลาว-ไทย) ก็เปิดใช้มาเกือบ 2 ปี ,แม่น้ำโขง ที่ 4 ประเทศร่วมกันพัฒนาจนสามารถเดินเรือได้ เหลือเพียงทางอากาศ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีสายการบินให้บริการระหว่างเชียงใหม่ – สิบสองปันนา แต่ได้เลิกบินไปแล้วอย่างน่าเสียดาย คราวนี้เขาจึงต้องการให้จังหวัดเชียงใหม่ ช่วยผลักดันให้มีการเปิดเส้นทางบินระหว่างเชียงใหม่-สิบสองปันนาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
Xu Zhonglin อดีตประธานกระทรวงอุตสาหกรรมมณฑลหยุนหนัน กล่าวระหว่างประชุมหารือด้านการค้าการลงทุนร่วมกับหอการค้าฯ-สภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่ และอมรพันธ์ นิมานันท์ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ที่โรงแรมอโมร่า ท่าแพ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม2552 ว่า ข้อตกลงอาเซียน + 1 ที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 จะก่อให้เกิดแรงจูงใจทำให้การค้าระหว่างจีน-กลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะไทยคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะการค้าผ่านคุน-มั่น กงลู่ ที่เชื่อมเข้าภาคเหนือของไทยที่เชียงราย จะเป็นจุดเชื่อมลอจิสติกส์ร่วมกันระหว่างจีนและกลุ่มอาเซียน
Xu Zhonglin ย้ำว่า หยุนหนัน ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือจีน-อาเซียนมาก และมองว่าไทยเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออก และสามารถพัฒนาเป็นฮับ(HUB) ได้ เพราะมีภูมิประเทศที่เหมาะสม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา มณฑลหยุนหนัน ก็ได้ตั้ง สหพันธ์ความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน – เอเชียอาคเนย์ / จีน-เอเชียใต้
ขณะที่ “ฟ่ง หวา” กรรมการบริษัทจิ่วโจว อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่มีโครงการก่อสร้างโรงแรม คลับเฮาส์ บนที่ดินราว 50 ไร่ ที่บ้านดอนมหาวัน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ริมจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง 4 มูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ระบุกับ ASTVผู้จัดการรายวัน ว่า หลังข้อตกลงจีน-อาเซียนมีผล ก็จะทำให้ 4 มณฑลตะวันตกเฉียงใต้ของจีนทั้งหยุนหนัน กว่างซี เสฉวน และกุ้ยโจว ที่มีประชากรรวมกันกว่า 200 ล้านคน เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งพื้นที่แถบนี้มีอุตสาหกรรมหนัก และสินค้ากระจายในตลาดภูมิภาคนี้อยู่แล้ว แต่ขนส่งผ่านทะเลจีนใต้ไปยังท่าเรือสิงคโปร์มากกว่า
แต่เมื่อเส้นทาง R3a และคุน-มั่น กงลู่ สะดวกตลอดทั้งสาย รวมถึงมีข้อตกลงจีน-อาเซียน ก็จะหันมาใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้ ลำเลียงสินค้าต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบังกระจายสินค้าผ่านอ่าวไทยและท่าเรือ จ.ระนอง ออกไปทางทะเลอันดามัน-มหาสมุทรอินเดีย ต่อไป
ฟ่ง หวา ย้ำว่า รัฐบาลจีน ให้การสนับสนุนเอกชนเพื่อขยายการค้าการลงทุนผ่านไทยมาก โดยเฉพาะด้านเงินทุนที่สนับสนุนหลายบริษัทในลักษณะร่วมทุนกับเอกชนสัดส่วน 50 ต่อ 50 และหลังถนน R3a ผ่าน สปป.ลาว ซึ่งร่วมทุนระหว่างไทย-จีน-ธนาคารพัฒนาเอเชีย 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ก็ยังระดมเงินทุนเอาไว้อีก 300 ล้านหยวน หรือ 1,500 กว่าล้านบาท เพื่อสนับสนุนเอกชนที่จะเข้าไปลงทุนตามแนวถนน R3a
จีนเสนอตั้งคณะทำงานสางปมผ่านแดน
อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ ภาพรวมของอนุภูมิภาคนี้ทั้ง 4 ประเทศคือไทย จีน สปป.ลาว และพม่า ต่างก็มีปัญหาคือ แต่ละประเทศมีหน่วยงานที่บริหารงานทั้งที่ขึ้นต่อส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ซึ่งฝ่ายจีนได้เสนอให้มีการตั้งองค์กรความร่วมมือประสานงาน 3 ฝ่าย 5 พื้นที่ คือไทย-พม่า-จีน และไทย-สปป.ลาว-จีน โดยมี 5 พื้นที่เป็นคณะทำงานร่วมจากพื้นที่เชียงราย เชียงใหม่ สิบสองปันนา แขวงหลวงน้ำทาและแขวงบ่อแก้ว (สปป.ลาว) เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ และถ้าได้ผลก็อาจขยายไปยังแขวงหลวงพระบาง (สปป.ลาว) และเมืองเชียงตุง (พม่า) ต่อไป โดยอาจจัดเป็นศูนย์ประสานงานขึ้น
“ถ้าพบปัญหาที่เกี่ยวกับหน่วยงานท้องถิ่นก็สามารถหารือกันได้โดยทันที แต่ถ้าพบปัญหาระดับนโยบายอันเกิดจากส่วนกลางก็จะมีการประชุม 5 ฝ่าย เพื่อนำเสนอไปยังรัฐบาลของแต่ละฝ่ายต่อไปได้ ซึ่งผมเดินทางมาครั้งนี้ก็อยากจะประสานงานเพื่อเริ่มต้นกันที่ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ก่อนจากนั้นค่อยๆ ขยายไปยังแขวงบ่อแก้วต่อไป” Jiang Pusheng กล่าว
ไทยเล่นแต่“งบ”/ทุ่มทุนสร้างถนน-ปลุกรถไฟ“เด่นชัย-เชียงราย”
ขณะที่โครงข่ายถนนคุน-มั่น กงลู่ (คุนหมิง-กรุงเทพฯ) ในประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว (R3a) และพม่า(R3b) จะก่อสร้างแล้วเสร็จ รอเพียงสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ที่จะเชื่อม อ.เชียงของ จ.เชียงราย ของไทยเข้ากับ R3a ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นนั้น ประกอบกับกระแสทุนจีน ที่หลั่งไหลเข้ามารองรับกรอบข้อตกลงอาเซียน + 1 อย่างต่อเนื่องนั้น ในส่วนของไทย ก็มีความเคลื่อนไหวปรับปรุง – ก่อสร้างเส้นทาง และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ขึ้นมารองรับเช่นกัน
โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม มีโครงการก่อสร้างถนน เพื่อสนับสนุนท่าเรือเชียงแสน 2และสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมเชียงของ-แขวงบ่อแก้ว และถนน R3a รวมทั้งยังมีโครงการทางหลวงเชื่อมเชียงใหม่-เชียงราย ด้วยได้แก่
- โครงการทางหลวงหมายเลข 1020 สายเชียงราย-เชียงของ ปัจจุบันได้ดำเนินการตอนที่ 1 แล้ว ตั้งแต่เชียงของ ลงมา ระยะทาง 11.1 กม. มีสัญญาก่อสร้างระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2552-31 พฤษภาคม 2554 งบประมาณ 320 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการระยะที่ 2 อีก 18.9 กม. ด้วยงบประมาณ 664 ล้านบาท ขณะนี้กำลังรอการลงนามในสัญญาการก่อสร้างอยู่ ซึ่งโครงการนี้จะเชื่อมระหว่าง อ.เมืองเชียงราย-สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 โดยตรง
- ถนนเชื่อมไปยังท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสน 2 บนทางหลวงหมายเลข 1016 สาย อ.แม่จัน - อ.เชียงแสน โดยอยู่ระหว่างก่อสร้างตอนที่ 1 ระยะทาง 19.2 กม. มีสัญญาก่อสร้างกับเอกชนระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2552-26 กันยายน 2554 ด้วยงบประมาณ 630 ล้านบาท รวมทั้งยังมีโครงการตอนที่ 2 อีกประมาณ 16.40 กม. ซึ่งรองบประมาณอีก 540 ล้านบาท
-โครงการถนนสาย อ.แม่สาย - อ.เชียงแสน เลาะตะเข็บชายแดนไทย-พม่า และไทย-สปป.ลาว บนทางหลวงหมายเลข 1290 ตอนที่ 1 ระยะทาง 30.6 กม. ระยะสัญญาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552-21 สิงหาคม 2554 รวมทั้งยังเหลือระยะทางตอนที่ 2 อีก 8 กม. ซึ่งกำลังรองบประมาณอยู่อีก 300 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางอื่นๆ ที่บรรจุอยู่ในแผนแล้ว ได้แก่ ทางเลี่ยงเมืองเชียงราย เพื่อลดความแออัดของถนนพหลโยธินในเขต อ.เมือง ซึ่งจะทำเส้นทางเลี่ยงจากพื้นที่ ต.สันทราย อ.เมือง อ้อมไปทางทิศตะวันตกเพื่อกลับเข้าสู่ถนนพหลโยธินอีกครั้งที่ ต.ท่าสุด อ.เมือง รวมระยะทางประมาณ 28 กม. งบประมาณ 900 ล้านบาท และโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 1129 เชื่อมระหว่าง อ.เชียงแสน-เชียงของ เลาะแม่น้ำโขงระยะทางประมาณ 59 กม. จาก 2ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร งบ 995 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังมีการศึกษาเพื่อก่อสร้างถนนสายเชียงราย-เชียงของ จาก อ.เมือง ผ่านไปทาง อ.ขุนตาล-เชียงของ ซึ่งจะได้ผลสรุปเพื่อหาแบบก่อสร้างที่ชัดเจนในเดือนมกราคม 2553 นี้อีกด้วย
พร้อมกันนี้ ยังมีโครงการปรับปรุงถนนสาย 118 เชื่อมเชียงราย-เชียงใหม่ ระยะทาง 179 กม. โดยเป็นการปรับปรุงจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจรประมาณ 62 กม.และปรับปรุง 2 ช่องจราจรอีก 117 กม. ด้วยงบประมาณรวมทั้งหมด 3,500 ล้านบาท โดยช่วงระยะเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด จะปรับปรุงให้เป็น 4 ช่องจราจร และจากดอยสะเก็ด-บ้านแม่เจดีย์ อ.เวียงป่าเป้า ปรับปรุง 2 ช่องจราจรเป็นระยะทาง 50 กม. ด้วยงบประมาณ 1,300 ล้านบาท จาก ต.แม่เจดีย์-อ.เวียงป่าเป้า ขยายเป็น 4 ช่องจราจรระยะทาง 25 กม. และจาก อ.เวียงป่าเป้า ขึ้นไปอีกประมาณ 67 กม. ขยาย 2 ช่องจราจรด้วยงบประมาณ 2,200 ล้านบาท ทั้งหมดส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จในปี 2555
ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ก็ได้รับอนุมัติงบประมาณปี 53 จากโครงการไทยเข้มแข็ง 80 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงแบบรายงาน EIA และศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างทางรถไฟเด่นชัย-เชียงรายอีกครั้ง โดยจะเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบรถไฟขนาดรางมาตรฐานกว้าง 1.435 เมตร จากนั้นจะขออนุมัติงบประมาณปี 54 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อเตรียมการก่อสร้างต่อไป
ส่วนท่าเรือในแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ที่หมู่บ้านสบกก อ.เชียงแสน มีเนื้อที่ 402 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา ปัจจุบันก่อสร้างด้วยวงเงิน 1,546,400,000 ล้านบาท กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีได้ว่าจ้างบริษัทพอร์ท แอนด์ มารีน คอร์ปอเรชั่น (พี.เอ.เอ็ม) จำกัด ตามสัญญาเลขที่ 52/2552/พย.ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 ให้ทำการก่อสร้างตามสัญญา 960 วัน ตั้งแต่ วันที่ 13 พฤษภาคม 2552-28 ธันวาคม 2554 รูปแบบเป็นท่าเรือย่อยรวม 5 จุดพร้อมอาคารสถานที่และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน
ขณะที่ โครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ กรมทางหลวงกำหนดให้มีการประกวดราคาในวันที่ 7 มกราคม 2553 เพื่อคัดสรรเอกชนทำการก่อสร้างด้วยงบประมาณ 1,566 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือนคาดว่าจะตอกเสาเข็มได้กลางปี 2553
สารพัดปัญหาโผล่หลังไทย-พม่า-ลาว-จีนเดินเครื่องเต็มตัว
ในมิติการขยายตัวทางการค้า การลงทุน ขนส่ง ท่องเที่ยว ตามเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ ที่เริ่มเดินเครื่องกันอย่างเต็มตัวมากขึ้น โดยมีกลุ่มทุนจีนมากหน้าหลายตาทะลักเข้ามายึดกุมพื้นที่ – โอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องนั้น ก็อาจจะมีปัญหาต่อเนื่องตามมาด้วยเช่นกัน
ระยะที่ผ่านมาคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้เปิดเวทีหารือร่วมกับกลุ่มตัวแทนจากประเทศที่เกี่ยวข้อง สามารถสรุปปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะจากมุมมองของภาคเอกชน แยกตามความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนี้
ไทย - สปป.ลาว
1.ภาครัฐควรเร่งให้มีการจัดทำผังเมืองรวมโดยด่วน พร้อมทั้งกำหนดแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาล่วงหน้า
2.ต้องเร่งเจรจาแกไขปัญหาการจัดเก็บภาษีระหว่างแดน เนื่องจากปัจจุบันมีอัตราการจัดเก็บไม่เท่ากัน ไม่มีมาตรฐาน ขึ้นกับความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่
3.ด้านลอจิสติกส์ ควรเตรียมลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าที่ อ. เชียงของ ด้วย เพื่อไม่ให้เป็นเพียงเส้นทางผ่านไปยังแขวงบ่อแก้ว เพียงอย่างเดียว
4.ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานจากแรงงานไร้ฝีมือเป็นแรงงานฝีมือด้านลอจิสติกส์
5.ปัญหาด้านการจราจร และมลพิษที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากมีสะพานหรือคลังสินค้า
6.ปัญหาด้านสังคมที่จะตามมา เช่น ปัญหาขาดการวางผังเมืองรวม ปัญหาขยะ อาชญากรรม เป็นต้น
ด้านไทย –จีน
1.ภาครัฐต้องเร่งเจรจาหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องกฎเกณฑ์และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าไปยังจีน เนื่องจากมีกฎระเบียบที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน
2.ภาครัฐต้องเร่งเจรจาแก้ไขปัญหาเรื่องการจำกัดโควตาสินค้าในการส่งสินค้าเข้าจีน เนื่องจากปัจจุบันถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนรายใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่มที่อาศัยความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของจีนเป็นหลัก
3.ภาครัฐต้องเร่งประสานงานและแก้ไขปัญหาเรื่องการอำนวยความสะดวก ในเรื่องหนังสือเดินทางระหว่างกันให้คล่องตัวมากขึ้น
4.การค้าเสรีไทย – จีน (FTA) ยังไม่สามารถทำได้เต็มรูปแบบ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบของท้องถิ่นของจีน ทำให้ต้องเสียเวลาส่งสินค้าผ่านพม่า และลาวก่อน ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มมากขึ้น
ด้านไทย – พม่า
1.ภาครัฐควรจะจัดบูรณาการหน่วยงานชายแดนทั้งหลาย เช่น ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร ตำรวจ ให้ทำงานเป็นเอกภาพ ลดขั้นตอนการทำงาน และเอื้ออำนวยความสะดวกต่อภาคเอกชนให้มากขึ้น มากกว่าการจ้องจับผิด
2.ภาครัฐควรเร่งเจรจา แก้ไขปัญหาเรื่องระบบการซื้อขายสินค้า และการชำระเงินให้ผ่านระบบธนาคารตามระบบสากล
3.ควรส่งเสริมและปรับปรุง เส้นทาง R 3 b (แม่สาย –ตองยี – เชียงตุง) ระยะทาง 475 กม. เพื่อเป็นช่องทางเสริมด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวพร้อมกันไปด้วย