xs
xsm
sm
md
lg

นัดถก4ฝ่ายปลดปมมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-คณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด นัดถกประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบชุมชนรุนแรงวันนี้ ภาคเอกชนติงการกำหนดประเภทและขนาดกำลังการผลิตไม่เหมาะสม ควรดูเทคโนโลยีและระบบการจัดการแทน จับตาโรงแยกก๊าซฯ 6 ปตท. ไม่รอด ส่งผลแอลพีจีอาจขาดตลาดและราคาเพิ่มแน่ พลังงานเตรียมแผนรับมือใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในโรงแยกฯ และโรงกลั่นแทนแอลพีจี
นายธงชัย พรรณสวัสดิ์ 1 ในคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย แก้ไขปัญหามาบตาพุด และประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบชุมชนอย่างร้ายแรง เปิดเผยว่า วันนี้ (6ม.ค.) จะเชิญตัวแทนกรรมการมาร่วมประชุมหารือ โดยจะนำ 19 กิจการเดิมที่เคยผ่านการทำประชาพิจารณ์ และจัดทำร่างประกาศแล้วมาทบทวนใหม่ โดยจะนำเหตุผลของทุกฝ่ายมาพิจารณาร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
ทั้งนี้ ภาคเอกชนเห็นว่าการกำหนดประเภทและขนาดกำลังการผลิตของบางกิจการ ไม่เหมาะสมเพียงพอ เช่น กำหนดประเภทกิจการปิโตรเคมีขนาดกำลังการผลิตวันละ 100-500 ตันขึ้นไป ภาคเอกชนเห็นว่าไม่ควรกำหนดขนาดดังกล่าว เพราะแต่ละโรงงานใช้เทคโนโลยีไม่เหมือนกัน ขนาดกำลังการผลิตที่เท่ากัน ไม่ได้หมายความจะปล่อยมลพิษได้เท่ากัน เพราะท้ายสุดขึ้นอยู่กับระบบเทคโนโลยีที่ติดตั้งและระบบการจัดการ
“คณะอนุกรรมการฯ จะเปิดให้ภาคเอกชนนำเหตุผลทางวิชาการมาสนับสนุนประเด็นที่ไม่เห็นด้วย โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ วิศวกรรม อุตสาหกรรม เป็นต้น มาให้ร่วมรับความเห็นว่าเหมาะสมเพียงพอที่จะตัดออกจากข้อกำหนดเดิมหรือไม่” นายธงชัยกล่าว
ทั้งนี้ หลังจากที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ข้อสรุปกำหนดประเภทกิจการรุนแรงเบื้องต้น ก็จะจัดทำเวทีรับความเห็นคิดในเชิงเทคนิคจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ หลังจากนั้น ก็จะนำไปทำประชาพิจารณ์รับความความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 เดือน และจะนำเสนอให้คณะกรรมการร่วม 4 ฝ่ายพิจารณาเห็นชอบแล้วก็จะเสนอให้รัฐบาลดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
นายสุทธิ อัชฌาศัย 1 ในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย กล่าวว่า การจัดประเภทกิจการรุนแรง คงยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะจะต้องรับฟังความเห็นด้านเทคนิค และรับฟังความเห็นจากประชาชน เพื่อให้ประกาศออกมาแล้วตรงกับข้อเท็จจริงมากสุด โดยหลักการจะนำเอา 19 ประเภทกิจการเดิมมาเป็นเอกสารขั้นต้นในการพิจารณา

ปั๊มแอลพีจีป่วนหากปตท.สะดุด
นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) กล่าวว่า ผู้ค้ามีความกังวลกรณีหากโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 6 ของปตท.ไม่สามารถหลุดจากคำสั่งศาลในการระงับกิจการได้ ในช่วงเม.ย.-พ.ค.2553 ก็จะมีผลต่อการนำเข้าแอลพีจีจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อระบบการจัดหาโดยเฉพาะคลังที่รองรับที่อาจไม่เพียงพอและอาจมีผลต่อการขาดแคลนในบางช่วงเวลาได้
เนื่องจากล่าสุดราคาน้ำมันได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ทำให้ปั๊มแอลพีจีเริ่มมีการขยายตัวตามในต่างจังหวัดที่ค่อนข้างเห็นชัดเจนซึ่งเป็นการเชิญชวนให้ผู้ที่ใช้รถหันไปติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้แอลพีจีมากขึ้นได้ การนำเข้าก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นมากจะมีผลต่อภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น รัฐบาลอาจจำเป็นจะต้องพิจารณามาตรการการปรับขึ้นราคาขายปลีกแอลพีจีในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลก

***สั่งโรงกลั่น-โรงแยกฯใช้น้ำมันเตาแทนแอลพีจี
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กำลังศึกษาแนวทางรับมือการใช้แอลพีจีปีนี้ หลังปี 2552 มีการนำเข้าก๊าซหุงต้มสูงถึงเดือนละ 1 แสนตัน โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานปิโตรเคมีที่มียอดการใช้ก๊าซหุงต้มสูงถึง 4.28 แสนตันต่อปี หรือคิดเป็น 8.3%ของการใช้ทั้งหมด โดยแนวทางเบื้องต้นจะเน้นด้านการบริหารจัดการ โดยจะให้โรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ใช้ก๊าซหุงต้มในกระบวนการผลิตเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาแทน ซึ่งทางกระทรวงพลังงานจะชดเชยส่วนต่างราคาระหว่างน้ำมันเตากับราคาก๊าซหุงต้มให้ในอัตราไม่เกิน 14 บาทต่อกิโลกรัม

*** ปตท.ยื่นขอผ่อนผันต่อศาลฯ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.และบริษัทในเครือ ได้แก่ บมจ.ปตท.เคมิคอล บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด ได้ยื่นคำชี้แจงต่อศาลปกครองกลางเพื่อผ่อนผันการหยุดกิจกรรมชั่วคราวโรงงานในมาบตาพุดตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการยื่นคำชี้แจงรายบริษัท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะสั่งการอย่างไร รวมทั้งส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อขอให้ทบทวนเรื่องการอนุญาตเปิดดำเนินการ โดยโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่อยู่ในหลักเกณฑ์ 19 โครงการตามมติ ครม. ที่ไม่มีผลกระทบรุนแรง ลดมลพิษ และได้รับความเห็นชอบเรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้ เช่น โรงแยกก๊าซฯ 6 โครงการท่อส่งก๊าซไปยังบริษัทในกลุ่ม เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น