xs
xsm
sm
md
lg

แดงทั้งแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

1 ใน 3 ของคนดื่มเบียร์ 2 ขวดมักคิดว่าตนเองยังขับขี่ได้ ไม่ต่างจากคนดื่มสุรา 1 แบนที่ 1 ใน 2 ยืนยันว่าตนเองขับขี่ไหว ตามผลการสำรวจของเอแบคโพลล์ อีกทั้งผู้ชายส่วนมากมักฝืนขับทั้งๆ ที่เมาเพราะกลัวเสียหน้า บางส่วนหวงรถไม่ยอมให้คนอื่นขับแทน ขณะผู้หญิงก็เกรงใจไม่กล้าปัดปฏิเสธเดินทางกับคนขับเมามายจนนำมาซึ่งการบาดเจ็บล้มตาย หรือไม่ก็พิการไปทั้งชีวิต

เพราะเพียงมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 20 mg/dl ความสามารถในการขับขี่ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ถ้าสูง 30-50 mg/dl ก็จะขับรถส่ายไปมา ขณะสูง 50-100 mg/dl โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าคนไม่ดื่ม 3 เท่า การตอบสนองต่อการเหยียบเบรกช้าลง 0.5 วินาที จนระยะทางหยุดรถเพิ่มราว 15 เมตร และถ้าทะยานระดับ 100-150 mg/dl โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 8 เท่า เพราะการตอบสนองต่อการเหยียบเบรกช้าลงราว 0.7-1 วินาที จนระยะทางหยุดรถจะเพิ่มถึง 25 เมตร

หลายประเทศจึงกำหนดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดไว้ไม่เกิน 20 mg/dl ด้วยตระหนักถึงความสูญเสียชีวิตทรัพย์สินที่จะตามมา ต่างจากประเทศไทยที่อนุญาตให้มัจจุราชไหลเวียนในกระแสโลหิตได้มากกว่ามาก จนอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับส่วนใหญ่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกิน 100 mg/dl และอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับยังเกิดได้ทุกเวลา ถึงดื่มมากช่วงค่ำคืนแต่ห้วงอรุณรุ่งก็ยังเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุอยู่ดี เนื่องจากระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลงในอัตราค่อนข้างคงที่ที่ชั่วโมงละ 10-15 mg/dl

เทศกาลปีใหม่ที่ดื่มติดต่อตั้งแต่หัวค่ำจนล่วงเลยเข้าปีปฏิทินใหม่ชนิด ‘ไม่เมาไม่เลิก’ จึงต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะกำจัดแอลกอฮอล์จนหมดสิ้น หากทว่าคนเมามายมากมายกลับไม่รู้ตัวประมาณตนออกไปขับขี่ระหว่างนั้นเพราะคึกคะนองคิดว่าตัวเองประคับประคองรถไหว กระทั่งท้ายสุดไม่เพียงตนเองบาดเจ็บล้มตาย ยังพรากชีวิตทรัพย์สินผู้อื่นจากการใช้ชีวิตโดยประมาทของตนเองด้วย

สถิติอุบัติเหตุห้วงวันเปลี่ยนปีจึงสูงสุดในช่วง 7 วันระวังอันตราย ดังปี 2551 ที่เกิดอุบัติเหตุ 858 ครั้ง บาดเจ็บ Admit 950 ราย ตาย 74 ราย ปี 2552 เกิดอุบัติเหตุ 882 ครั้ง บาดเจ็บ Admit 962 ราย ตาย 87 ราย และล่าสุดปี 2553 เกิดอุบัติเหตุ 709 ครั้ง บาดเจ็บ Admit 763 ราย ตาย 77 ราย โดยสาเหตุหลักยังมาจากเมาแล้วขับเป็นสำคัญ วันขึ้นปีใหม่ของปีนี้เมาแล้วขับจึงครองแชมป์เช่นเดิม ที่ร้อยละ 46.12 มากกว่าการขับเร็วเกินกำหนดอันเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุอันดับ 2 กว่า 2 เท่า

ทั้งๆ ที่มีการตั้งจุดตรวจในวันนั้นถึง 2,700 จุด ผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่บูรณาการทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ อปพร. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่นๆ ถึง 69,185 คน เฉลี่ย 25 คน/จุด ก็ยังหยุดยั้งอุบัติเหตุช่วงวันปีใหม่ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุที่เกิดกับเยาวชนไทยอายุ 15-19 ปี ที่เฉพาะวันนั้นวันเดียวก็เสียชีวิตถึง 167 คน หรือร้อยละ 19.88 จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยเกิดช่วงเวลา 16.01-20.00 น.สูงสุดร้อยละ 29.76 เพราะเป็นช่วงตระเวนออกเที่ยวสังสรรค์เฮฮาตามบ้านเพื่อนหรือสถานบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ

อนาคตของชาติที่ดับดิ้นไปในวันอำลาปีเก่าต้อนรับปีใหม่ไม่ใช่น้อยเกิดจากเมาแล้วขับเป็นสำคัญ แม้นว่าวันนั้นจะมีการเรียกตรวจยานพาหนะถึง 729,200 คัน จำแนกเป็นรถจักรยานยนต์ 248,127 คัน หรือร้อยละ 34.03 รถปิกอัพ 223,394 คัน หรือร้อยละ 30.64 และรถเก๋ง/แท็กซี่ 129,391 คัน หรือร้อยละ 17.74 รวมถึงจับดำเนินคดีตามมาตรการ 3ม 2ข 1ร+4 ถึง 71,641 ราย แยกเป็นไม่มีใบขับขี่ร้อยละ 32.10 ไม่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 28.87 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยร้อยละ 14.81 มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัยร้อยละ 8.14 ขับรถเร็วเกินกำหนด 4.00 และเมาสุราร้อยละ 3.74 ก็ตามที

ถึงที่สุดแล้วตัวเลขก็คงสูงอยู่มากหากถือว่าวันแห่งความสุขไม่ควรเกิดอุบัติเหตุเลยสักครั้ง ทั้งยังไม่อาจนับเป็นชัยชนะแท้จริงถึงจะลดจำนวนการตายได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 5 จากปีก่อนหน้า เพราะยังคลี่คลายวิกฤตการณ์เมาแล้วขับที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ที่ใช้รถใช้ถนนไม่ได้ ถ้าแก้ไขได้ขื่นคาวเลือดแดงฉานเต็มผืนแผ่นดินไทยช่วงปีใหม่คงไม่เกิดซ้ำซากจากสาเหตุเมาแล้วขับเช่นเดิมทุกๆ ปี

ด้วยถึงวันที่ 6 ของรณรงค์ ‘7 วันขับขี่ปลอดภัยเทิดไท้องค์ราชัน’ เกิดอุบัติเหตุสะสมแล้วทั้งสิ้น 3,289 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 309 ราย แม้นจำนวนอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตจะลดลงร้อยละ 7.33 และ 7.76 ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทว่าท้ายสุดเมาแล้วขับก็คงเป็นสาเหตุสูงสุดดังเดิม

การสังเคราะห์เหตุผลที่คนเมาแล้วขับสามารถเล็ดรอดด่านตรวจมากมายออกไปตระเวนก่อความเดือดร้อนทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน จนถึงประเทศชาติได้จึงจำเป็นเร่งด่วน โดยระหว่างนั้นก็ต้องบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับเคร่งครัดเพื่อสานความปรารถนาของผู้คนในสังคมไทยร้อยละ 20.5 ที่ต้องการผลักดันมาตรการเพิ่มค่าปรับให้สูงขึ้นและเพิ่มโทษกักขังแทนการรอลงอาญา และร้อยละ 73.4 ไม่ต้องการให้คนดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะปริมาณน้อยเท่าใดขับขี่ ตามผลสำรวจสวนดุสิตโพล

สำคัญกว่านั้นต้องเปลี่ยนค่านิยมสังคมไทยโดยรวมว่าด้วยการประสบอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับให้ได้ ให้เหมือนผลสำรวจเรื่องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการขับขี่ยวดยานพาหนะโดยคณะทำงานวิจัยและประเมินผลโครงการรณรงค์เกี่ยวกับการขับขี่ยวดยานพาหนะภายหลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เมาไม่ขับ) ร่วมกับเอแบคโพลล์ที่พบว่ากลุ่มตัวอย่างมองอุบัติเหตุเมาแล้วขับไม่ใช่เรื่องเวรกรรม และเห็นควรกำหนดกฎหมายให้ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะทุกประเภทต้องมีระดับแอลกอฮอล์ 0 mg/dl รวมถึงคุมประพฤติผู้ถูกจับข้อหาเมาแล้วขับเข้มข้น

เบื้องหลังการเดินทางของตัวเลขในผลโพลแสดงเจตนารมณ์แจ้งชัดว่าถึงเวลาสุกงอมแล้วที่สังคมไทยต้องกล้าหาญบริหารจัดการวิกฤตการณ์เมาแล้วขับจริงจัง จะมัวรอเวลาให้ผืนแผ่นดินดื่มด่ำเลือดเนื้อคนไทยผู้บริสุทธิ์และผู้คนที่ยอมตนเป็นมัจจุราชจากการดื่มแล้วขับต่อไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นทรัพยากรประเทศชาติทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณจักสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์เยอะแยะอย่างเดิม ที่ถึงวันนี้มีการประมาณการความสูญเสียแต่ละปีระดับหลักแสนล้านบาทแล้ว

โดยเมาแล้วขับเป็นสาเหตุและกลไกสำคัญ ด้วยทุกช่วงเวลา กลุ่มคนเมาแล้วขับขับรถราเสาะหาเหยื่ออยู่เสมอทั้งบนถนนหลวงและท้องถิ่นชุมชน รวมถึงปีใหม่นี้ที่จังหวัดทั่วไทยไม่พ้นเงื้อมเงามัจจุราชเมาแล้วขับ ยกเว้นก็เพียงจังหวัดยโสธรเท่านั้นไม่เกิดอุบัติเหตุ ขณะเชียงใหม่มีผู้เสียชีวิตสะสม 11 ราย และเกิดอุบัติเหตุสูงสุด 110 ครั้ง ทั้งนี้ โดยทั่วไปจังหวัดเหล่านี้เมื่อมองจากแผนที่จะถูกระบายสีแดงเพื่อให้รู้ว่าอันตรายและเกิดอุบัติเหตุแล้ว ฉะนั้น 6 วันที่ผ่านมาสีแดงจึงขึงผืดไทยทั้งประเทศ

การหยุดยั้งปรากฏการณ์ ‘แดงทั้งแผ่นดิน’ เมาแล้วขับที่ระบายเฉดสีร้อนแรงแทบทุกตารางนิ้วบนผืนแผ่นดินขวานทองจึงต้องมองหาจุดคานงัดหลัก โดยเฉพาะหน้าคือการเร่งเรียนรู้มาตรการของยโสธรว่าทำอย่างไรไม่เกิดอุบัติเหตุสักครั้ง ทั้งที่ใช่ไม่มีคนดื่มเหล้า แต่เหตุใดวินัยจราจรจึงเข้มแข็งกว่า

ระยะยาวก็ต้องบูรณาการระหว่างภาครัฐและประชาสังคมเข้มข้น โดยเฉพาะกระทรวงทบวงกรมของภาครัฐที่ต้องประสานงานกันอย่างมีเอกภาพ ไม่เกิดช่องว่างของความไม่เข้าใจไม่ลงรอยกัน นับแต่กระทรวงที่ดูแลเหล้าเบียร์ สุขภาพ จนถึงคมนาคม ที่ต่างต้องมองประโยชน์ประชาชนสำคัญเหนืออื่นใด อย่าให้บรรษัทเหล้าเบียร์ควบคุมการตัดสินใจ รวมทั้งอย่าเปลืองเปล่าทรัพยากรไปกับมาตรการทางอ้อม อาทิ โครงการเมาไม่ขับกลับแท็กซี่ ที่มีประสิทธิผลและความคุ้มค่าต่ำมาก

การจะลบรอยร้าวรื้นขื่นคาวจากเมาแล้วขับจึงอยู่ที่ความกล้าหาญทยอยไล่ระบายเฉดอื่นแทนสีแดงที่แสดงถึงวินัยจราจรอันอ่อนแอลงบนแผนที่ประเทศไทย ถึงแม้ไม่หมดไป แต่ก็ต้องไม่มีนัยสำคัญทำประเทศชาติสูญเสียเหมือนก่อน ตลอดจนไม่ท้อถอยท้อแท้ที่จะสร้างสรรค์ผืนแผ่นดินนี้ให้เป็น ‘ปลอดเมาแล้วขับ’ ที่เกิดจากผู้คนมีวินัยจราจรจริงๆ

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น