xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กในอียูและไทย

เผยแพร่:   โดย: วรรณนิภา พิภพไชยาสิทธิ์

ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ทุกประเทศมีการตื่นตัว และหันมาทำการปฏิวัติพลังงาน โดยเน้นใช้พลังงานทดแทน และพยายามหาวิธีต่างๆ ที่จะช่วยลดความร้อนบนโลก ล่าสุดผู้นำจากทั่วโลกมาร่วมเจรจาเวทีภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน ซึ่งสื่อมวลชนได้เสนอข่าวถึงเรื่องความไม่ชัดเจนของผลการประชุมดังกล่าว กลุ่ม NGO ออกมาประท้วงทวงถามถึงความชัดเจนในเรื่องนี้ จนเป็นเหตุวุ่นวายขึ้น

สำหรับกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ คือ สหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประสบกับพายุหิมะและอากาศที่หนาวผิดปกติ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุรถชนบนท้องถนน รถไฟยูโรสตาร์ รวมทั้งสายการบินต่างๆ ต้องหยุดให้บริการ มีผู้โดยสารติดค้างอยู่ที่สถานีรถไฟและสนามบินเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรป เคยจัดทำรายงานร่วมกับกลุ่ม NGO เกี่ยวกับอนาคตของพลังงานทดแทน ซึ่งในรายงานดังกล่าวได้ลงภาพข่าวภัยธรรมชาติในไทยถึง 2 เหตุการณ์ ได้แก่ ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้มีผู้คนสูญหาย และการเสียชีวิต รวมถึงภาพผู้คนพายเรือในเหตุการณ์น้ำท่วมที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

พลังงานทดแทนที่ถือว่าเป็นพลังงานสะอาดนั้นมีหลายประเภท อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากคลื่นในมหาสมุทร แต่ที่ใช้กันมานานแล้วก็คือ พลังงานจากน้ำหรือ Hydro Power และโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก Small Hydro Power (SHP) ซึ่งเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานที่เกิดจากกระแสน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง และลำธาร ข้อได้เปรียบของ SHP นั้นได้แก่ การรักษาสิ่งแวดล้อมและ ลด CO2 emission สนับสนุนการรักษาต้นน้ำ รักษาส่วนที่เป็นหน้าดิน สามารถใช้เป็นโอกาสทองในการส่งออกเทคโนโลยี มีอัตราผลตอบแทนกลับด้านพลังงานสูง และที่สำคัญเป็นการช่วยพัฒนาทุกๆ ด้าน อาทิ เศรษฐกิจของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งท้องถิ่นทุรกันดารให้สามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงจากการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือเพื่อการพาณิชย์โดยการจำหน่ายให้กับชุมชนใกล้เคียง

พัฒนาการของโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก

เป็นเวลานานกว่า 2,000 ปีแล้ว ที่ได้มีการใช้พลังงานจากน้ำ โดยยุคเริ่มแรกมีการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมของทวีปยุโรปและอเมริกาตอนเหนือ ในสหรัฐอเมริกามีการใช้กังหันลมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ส่วนจีนก็มีวิวัฒนาการในการใช้พลังงานจากน้ำเช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ

หลังจากที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในชุมชนเล็กๆ หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 10 เมกะวัตต์ จากปี 2548 ถึงปี 2551 มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 28 ทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กทั่วโลกมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 85 กิกะไบต์ ซึ่งมากกว่าร้อยละ 70 เป็นโรงไฟฟ้าฯ ที่อยู่ในจีน ตามด้วยญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอินเดีย

จีนเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงอัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้นในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก เช่น ในปี 2519 เฉพาะในภาคใต้ของจีน มีการใช้กังหันลมขนาดเล็กประมาณ 60,000 ตัว และวางแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นอีกกว่า 10,000 หมู่บ้านตามแผนงานการใช้พลังงานทดแทน ที่เรียกว่า China Village Electrification Program ในปี 2553

กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก

การที่จะสามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ อาทิ ความแรงของกระแสน้ำ ความสูงของน้ำตก เป็นต้น จากสถิติทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าได้มีการใช้พลังงานจากน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 17 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 730 กิกะวัตต์ จึงถือว่าโรงไฟฟ้าฯ เป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สำคัญที่สุดในการผลิตกระแสไฟฟ้า กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปผลิตกระแสไฟได้ ประมาณ 47 กิกะวัตต์ จีนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำสูงประมาณ 25 เมกะวัตต์ ในอินเดียประมาณ 15 เมกะวัตต์

นอกจากนี้อียูยังมีการจัดตั้ง The European Commissionâ™s White Paper on Renewable Energy และ Renewable Electricity Directive (RES-e Directive) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่น ความปลอดภัย และการสร้างระบบพลังงานที่ยั่งยืน

พลังงานทดแทนที่ประชาคมยุโรปจัดให้การส่งเสริม คือ พลังงานจาก Bioenergy (อาทิ จากไบโอแมส ไบโอเอทานอล เป็นต้น) / Biofuels /CSP (Solar Power หรือพลังงานจากแสงอาทิตย์) / Geothermal Energy (พลังงานจากภูเขาไฟ น้ำพุร้อน หรือพลังงานจากของแข็งภายในโลก) โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก พลังงานจากมหาสมุทร Solar Electricity / Solar Thermal และพลังงานลม ทุกแหล่งพลังงานที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น สหภาพยุโรปได้มีการจัดตั้งเป็นสมาคมต่างๆ ด้วย เพื่อเป็นการประสานงานและสนับสนุนสมาชิกในสมาคม อาทิ สมาคมไบโอแมสแห่งสหภาพยุโรป สมาคมไบโอเอทานอลแห่งสหภาพยุโรป สมาคมอุตสาหกรรมไบโอแมสแห่งสหภาพยุโรป ไบโอดีเซลบอร์ด สมาคมโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น

นอกจากนั้น สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานทดแทนทั้งหมด ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น European Renewable Energy Council หรือ EREC เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2543 และสามารถสร้างรายได้ประมาณ 45 พันล้านยูโร เกิดการจ้างงานถึง 450,000 คน

จากการจัดตั้ง RES-e Directive ที่มีกฎระเบียบบังคับกลุ่มประเทศสมาชิก เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายประเทศกลับมาให้ความสนใจเป็นพิเศษ และยอมรับว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก เป็นพลังงานทดแทนที่ดีที่สุดในบรรดาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนต่างๆ เนื่องจากมีการใช้มานานแล้ว

ในปัจจุบันมีการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ ประมาณร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งหมดในอียู สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าจาก SHP นั้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 จากสถิติการผลิตไฟฟ้าจาก SHP ของ Eurostat ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานสถิติของอียูเมื่อปี 2545 พบว่า อิตาลีมีการใช้ SHP ประมาณร้อยละ 21 ของการใช้ SHP ทั้งหมดในกลุ่มประเทศ EU-25 ตามด้วยฝรั่งเศส ประมาณร้อยละ 17 และสเปน ประมาณร้อยละ 16

สำหรับกลุ่มสมาชิกใหม่ คือ โปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก ทั้งสองประเทศมีปริมาณการใช้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 จากสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจาก SHP ของกลุ่ม EU-25 ซึ่งถือว่าเป็นประเทศชั้นนำในบรรดากลุ่มประเทศสมาชิกใหม่ด้วย นอกจากนั้น โรมาเนียและตุรกี ก็มียอดการผลิตไฟฟ้าจาก SHP อยู่ที่ประมาณร้อยละ 25 และ 15 ตามลำดับ

กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปนั้นยังเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำรองจากภูมิภาคเอเชียซึ่งรวมถึงจีนและอินเดีย เอเชียถือเป็นผู้น้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของโลก สำหรับในแอฟริกาใต้ ปัจจุบันมีศักยภาพในการผลิตประมาณร้อยละ 5

โดยทั่วไปแล้ว โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ มักประสบปัญหาในการก่อสร้างมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก แต่ไม่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ต้นทุนการผลิตไม่สูง ซึ่งแตกต่างจากพลังงานทดแทนอื่นๆ ที่จะมีต้นทุนในการผลิตที่ค่อนข้างสูง

ภาวะอุตสาหกรรมของการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

สหภาพยุโรปถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ที่มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำจำนวนมาก เนื่องจากมีพัฒนาการมานานกว่า 150 ปี เหตุผลสำคัญคือ มีกำลังซื้อจากตลาดภายในอียูสูง และมีการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาวิธีการผลิตมาโดยตลอด ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือในการติดตั้งต่างๆ จึงมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสูงกว่าบริษัทในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

เนื่องจากต้องพัฒนาและป้อนให้กับตลาดภายในอียู ทำให้อียูมีบริษัททางด้านนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและมาจากหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มบริษัทผลิต Turbine สำหรับ SHP (European SHP turbine manufacturers) ส่วนบริษัทที่เป็นสมาชิกนั้นมาจากประเทศในอียู อาทิ จากออสเตรีย 18 บริษัท เบลเยียม 3 บริษัท เช็ก 9 บริษัท เดนมาร์ก 5 บริษัท ฟินแลนด์ 5 บริษัท ฝรั่งเศส 19 บริษัท เยอรมนี 36 บริษัท กรีซ 4 บริษัท

ฮังการี 1 บริษัท อิตาลี 18 บริษัท ลักเซมเบิร์ก 1 บริษัท เนเธอร์แลนด์ 3 บริษัท โปแลนด์ 7 บริษัท โปรตุเกส 2 บริษัท โรมาเนีย 3 บริษัท สโลวาเนีย 5 บริษัท สเปน 5 บริษัท สวีเดน 14 บริษัท สหราชอาณาจักร 44 บริษัท สวิตเซอร์แลนด์ 20 บริษัท ในประเทศนอกกลุ่มสหภาพอียูฯ ได้แก่ แอลเบเนีย 1 บริษัท โครเอเชีย 3 บริษัท ไอซ์แลนด์ 2 บริษัท นอร์เวย์ 9 บริษัท รัสเซีย 1 บริษัท ตุรกี 7 บริษัท ยูเครน 1 บริษัท

นอกจากนั้น ยังมีสมาคม Hydro Equip Association (HEA) ซึ่งเป็นสมาคมบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2544 โดยเป็นการรวมกลุ่มกันของบริษัทสมาชิกที่เป็นบริษัทผู้ผลิตชั้นนำของโลก เช่น บริษัท ALSTOM POWER บริษัท VOITH บริษัท SIEMENS บริษัท HYDRO POWER GENERATION บริษัท Andritz VA TECH HYDRO เป็นต้น

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น