ในเช้ามืด...ตีสองครึ่งของวันเสาร์(21 พ.ย.) คนงานเหมือง 528 คน กำลังทำงานในเขตปฏิบัติงานเหมืองถ่านหินที่ลึกลงไปใต้ดิน 500 เมตร ท่ามกลางอุณหภูมิอากาศติดลบ พลันก๊าซก็ระเบิดขึ้น... คนงาน 420 คน กระเสือกกระสนหนีรอดชีวิตมาได้ ขณะที่อีกกว่าร้อยคนต้องสังเวยชีวิตไปในเหมืองถ่านหินซินซิง เมืองเฮ่อกัง มณฑลเฮยหลงเจียงนั้น หน่วยงานรัฐรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหมืองมรณะเมื่อวันพุธ(25 พ.ย.) เท่ากับ 107 คน....
บรรดานักเฝ้ามองจีนหลายคน ก็คงได้ถอนหายใจ “เอาอีกแล้ว เหมืองระเบิดรายวัน” สำหรับครั้งนี้ นับเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบสองปี ที่ดังพอที่จะปลุกกระแสรณรงค์ความปลอดภัยในปฏิบัติการเหมืองในจีน
แม้จะมีแรงกดดันจากกลุ่มรณรงค์สิทธิแรงงาน ป่าวร้องถึงจำนวนคนงานที่เสียชีวิตในแต่ละปี ที่สูงนับพันๆคน การตีแผ่ถึงความล้าหลังทางเทคโนโลยีเหมือง ความหละหลอม และความโลภของนายทุน ที่พยายามประหยัดต้นทุน และเร่งผลิตถ่านหินให้เพียงพอแก่ความต้องการที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
และแม้จะมีกระแสการพัฒนาพลังงานสะอาดในจีนอันน่าทึ่ง และผู้นำสูงสุดในรัฐบาลก็ลั่นสัญญาการพัฒนาพลังงานสะอาดก่อนหน้าที่จะมีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกในโคเปนเฮเกนสัปดาห์หน้า เพื่อถกมาตรการลดโลกร้อนกัน
แต่แนวโน้มที่ดูเป็นจริงมากกว่าในอนาคตที่เห็นๆคือ พญามังกรจะต้องสังเวยชีวิตคนงานเหมืองถ่านหินและเป็นข่าวให้ชาวโลกอ่านอยู่บ่อยๆเช่นเคย เป็นเวลานานอย่างน้อยๆก็ถึงทศวรรษหน้า เพื่อประกันแหล่งพลังงานสำหรับรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำไมถึงต้องเป็นชีวิตคนงานเหมือง ก็ด้วยเพราะถ่านหินเป็นแหล่งป้อนพลังงานมากถึงร้อยละ 70 ของแหล่งพลังงานทั้งหมดในประเทศ นั่นคือการประเมินสถานการณ์อันน่าสลดของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในวงการ
ผู้เชี่ยวชาญ จากสำนัก IHS Global Insight นาย Thomas Grieder ชี้ว่า จีนอาจต้องใช้เวลาถึงราว 10 ปี ที่จะลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน โดยอาจลดลงมาที่ระดับร้อยละ 50 ภายในปี 2563
การที่จีนยังพึ่งพิงถ่านหินเป็นเสาหลักอยู่เช่นนี้ นั่นก็หมายถึงว่าจะต้องมีการผลิตถ่านหินจำนานมหาศาลในแต่ละวัน ซึ่งโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะสภาพการทำงานของคนงานในเหมืองจีน ที่เลื่องลือว่าอันตรายที่สุดในโลก
ตัวเลขคนงานจีนที่เสียชีวิตในอุบัติภัยเหมืองเมื่อปีที่แล้ว ที่หน่วยงานรัฐระบุ เท่ากับ 3,200 คน ขณะที่กลุ่มรณรงค์สิทธิแรงงานอิสระหลายกลุ่ม แย้งว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้ สืบเนื่องจากยังมีกรณีอุบัติเหตุเหมืองที่ถูกปิดเงียบ หลายกรณี เพราะกลัวถูกปิดกิจการ
การที่จีนจะลดการพึ่งพิงถ่านหินในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นเรื่องยาก เพราะนอกจากถ่านหินแล้ว จีนมีแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ (fossil fuels) อื่นๆอย่าง น้ำมัน ก๊าซธรรมาชาติ และหินน้ำมัน อยู่น้อยมาก
จีนก็พยายามเข็นครกขึ้นเขาในการพัฒนาพลังงานสีเขียว โดยขณะนี้ได้ทุ่มงบประมาณหลายพันล้านเหรียญสหรัฐไปในการพัฒนาพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานนิวเคลียร์ โดยมีเป้าหมายหลักในการลดการแพร่กระจายความร้อน ที่ขณะนี้เชื่อกันว่า จีนเป็นแหล่งแพร่กระจายความร้อนแก่โลกมากที่สุด ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ได้สัญญาในการประชุมสุดยอดสหประชาชาติ (ยูเอ็น)เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า จะลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนให้ได้อย่างเป็นล่ำเป็นสันภายในปี 2563 หรือในอีกราว10 ปีข้างหน้า โดยเทียบกับระดับการแพร่กระจายฯในปี 2548 แต่ก็ไม่ระบุตัวเลขที่ชัดเจน...
ขณะนี้จีนบรรลุเป้าการลดการบริโภคพลังงานต่อหน่วยจีดีพีลงร้อยละ 20 ระหว่างปี 2549-2553 และได้หันมาใช้พลังงานทดแทนจากแหล่งพลังงานธรรมชาติ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 15 ในปี 2563
กระนั้นก็ตาม ปัจจุบันในจีนก็ยังมีการก่อสร้างโรงงานพลังงานถ่านหินเฉลี่ย 2 แห่งในแต่ละสัปดาห์ เพื่อที่จะสนองความต้องการพลังงานราคาถูกที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ โรงงานพลังถ่านหินเหล่านี้ สามารถสร้างเสร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว เทียบกับการสร้างโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ หรือโรงงานพลังงานทดแทนอื่นๆ นอกจากนี้ ที่สำคัญกลุ่มบริษัทถ่านหินยังเป็นผู้ว่าจ้างงานหลักของประเทศ
จากตัวเลขหน่วยงานของรัฐ จีนผลิตถ่านหิน 2,700 ล้านตัวในปี 2551 และมีแนวโน้มที่จะผลิตได้มากขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกาศแผนขยายผลผลิตเพิ่มอีกร้อยละ 30 ภายในปี 2558 หรือในอีก 5 ปี
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ Valerie Niquet นักวิจัยประจำสถาบันฝรั่งเศสเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้ชี้ว่า ผู้นำจีนยังยึดถือถ่านหิน เป็นเสาหลักสร้าง “ความเป็นอิสระด้านพลังงาน” อีกด้วย
“ด้วยอานิสงค์จากถ่านหิน ทำให้ระดับการพึ่งพาตัวเองได้ในด้านพลังงานของจีน สูงถึงร้อยละ 90 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงอัตราของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในองค์กรเพื่อความร่วมมือเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ถึงร้อยละ 20
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงเรื่องพึ่งพิงถ่านหินในจีน จึงเป็นเรื่องหินทีเดียว