xs
xsm
sm
md
lg

ส.นิวเคลียร์ฯสร้างความเข้าใจผู้นำท้องถิ่นเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ปรีชา  การสุทธิ์  นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย  ประธานเปิดประชุมโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มสื่อสารสาธารณะและการยอมรับของประชาชน ( โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์)โดยมีผู้นำชุมชนท้องถิ่น
ระยอง - สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ประชุมสร้างความเข้าใจแก่ผู้นำท้องถิ่น เรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

วันนี้ (13 พ.ย.52) ที่พีเอ็ม.วาย.บีช รีสอร์ท ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง ผศ.ปรีชา การสุทธิ์ นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและความปลอดภัยนิวเคลียร์และคณะอนุกรรมการ เป็นประธานเปิดการชุมโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มสื่อสารสาธารณะและการยอมรับของประชาชน รุ่นที่ 3 (โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์) มีผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น จำนวน 100 คนเข้าร่วมรับฟัง

ผศ.ปรีชา กล่าวว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มสื่อสารสาธารณะและการยอมรับของประชาชน การที่จะเผยแพร่ความรู้ด้านพลังงานนิวเคลียร์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจนั้น บุคคลากรด้านสื่อต้องมีความเข้าใจเรื่องหลักการและเทคนิคของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ กลยุทธ์และเทคนิคการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

แผนพัฒนากำลังไฟฟ้า (พีดีพี) กำหนดไว้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกของไทย มีกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์จะเกิดขึ้นในปี 2563 โรงที่สอง ในปี 2564 อีก 1,000 เมกะวัตต์ ขณะนี้มีการเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษา คัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมครั้งแรก 14 แห่ง ในกลางปีหน้าคัดเหลือ 5 แห่ง หลังจากนั้นจะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงจะคัดเหลือ 3 แห่ง เพื่อหาที่เหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

โครงการดังกล่าวรัฐบาลได้อนุมัติ ให้ทำการศึกษาเรื่องการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ตั้งแต่ พ.ศ.2550 เป็นเวลา 3 ปี ศึกษาเรื่องกฎหมาย เรื่องเงินงบประมาณ บุคลากรและสถานที่ก่อสร้าง ที่สำคัญการมีส่วนร่วมของประชาชน ในระยะเวลา 3 ปี ต้องให้ความรู้ความเข้าใจว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมี ในอนาคตที่เรียกกันว่า พลังงานฐาน ก็ใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน

ส่วนอื่นๆ ล้วนเป็นพลังงานเสริม เช่นพลังงานน้ำ ปัจจุบันเราใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติถึง 70% 1 ใน 3 สั่งซื้อจากประเทศพม่า ทั่วโลกมีพลังงานฐานคือนิวเคลียร์ ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ในอนาคตอีก 15-20 ปีข้างหน้าก๊าซธรรมชาติจะหายาก จะเอาอะไรมาทดแทน คือ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและนิวเคลียร์

ผศ.ปรีชา กล่าวว่า ขณะนี้ต้องทำความเข้าใจกับชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ฯลฯ เรื่องนิวเคลียร์ที่จะนำมาใช้พลังงานไฟฟ้าในอนาคต เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เคยมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ระยะเวลาก่อสร้างต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 13 ปี การที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลต้องมีนโยบายที่แน่ชัด ที่สำคัญประชาชนต้องให้การยอมรับ รัฐบาลจึงให้ทำการศึกษา 3 ปี และในพ.ศ. 2554 จึงจะเสนอรัฐบาลว่าจะให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่

ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่ทั้งพื้นดิน ริมทะเล ที่ไหนมีแนวแผ่นดินไหวก็สร้างไม่ได้ ประชากรหนาแน่นก็ไม่ได้ ว่าที่ใดมีความเหมาะสม ปี 2554 ต้องได้ข้อสรุปว่าที่ไหนมีความเหมาะสมที่จะสร้างได้ จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นหลังจากนั้นต้องนับไปอีก 10 ปี ถึงจะได้ไฟฟ้า การประชุมในวันนี้เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ที่เดินทางไปดูโรงไฟฟ้าถ่านหิน บีแอลซีพี มีปัญหาอย่างไร แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จุดสำคัญคือจุดเริ่มต้น ประชากรหนาแน่น มีโรงงานอุตสาหกรรมเหมือนมาบตาพุด จ.ระยอง สร้างไม่ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น