ASTVผู้จัดการรายวัน/แทงเนียน/เอเอฟพี – รัฐสภาเวียดนามซึ่งเปิดประชุมสมัยสามัญปลายปีสัปดาห์ที่แล้วได้รับหลักการ ร่างกฎหมายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการกรุยทางสำหรับโครงการก่อสร้างโรงฟ้านิวเคลียร์ที่มีกำลังปั่นไฟ 4,000 เมกะวัตต์ ด้วยงบประมาณก่อสร้างเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์ในเฟสที่หนึ่ง
สมาชิกรัฐสภา (National Assembly) ได้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ และ ยังมีสมาชิกสภาบางส่วนที่กล่าวว่า โครงการนี้ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง แต่ในที่สุดองค์นิติบัญญัติก็ลงมติรับในหลักการโครงการที่มีมูลค่า 16,000-18,000 ล้านดอลลาร์ในเฟสที่หนึ่ง
รัฐสภาเวียดนามจะลงมติครั้งสุดท้ายในวันที่ 27 พ.ย.นี้ เพื่อให้สามารถเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2557 และ เริ่มเดินเครื่องปั่นไฟในปี 2563 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า
รัฐสภาเวียดนามได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว เป็นการกรุยทางด้านนิติบัญญัติ สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในประเทศ หลังจากมีการถกเถียงเรื่องนี้มานานนับ 10 ปี ซึ่งคณะกรรมการพลังงานเวียดนามประเมินว่า พลังงานนิวเคลียร์จะสามารถรองรับความต้องการไฟฟ้าถึง 30% ภายในกลางศตวรรษนี้
แต่ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนสอบถามว่ารัฐบาลก้าวเร็วเกินไปสำหรับโครงการนิวเคลียร์หรือไม่
"คุณไม่สามารถนำโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไปเปรียบเหมือนกับรถยนต์ที่คุณจะซื้อมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้" นายฝั่มยวีเฮี่ยน (Pham Duy Hien) ประธานคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์แห่งเวียดนาม กล่าว
ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูแห่งชาติ ได้เสนอให้รัฐบาลลดขนาดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลง และเลื่อนเวลาการก่อสร้างออกไปเป็นอีก 10 ปีข้างหน้า แต่โครงการที่รัฐสภารับในขั้นหลักการในวันศุกร์ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเดินหน้าตามแผนการเดิม เพียงแต่ยอมแบ่งโครงการออกเป็น 2 เฟส และลดขนาดโรงไฟฟ้าลง
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เฟสแรกจะมีโรงไฟฟ้า 2 โรง มีเตาปฏิกรณ์แห่งละ 1 มีกำลังปั่นไฟหน่วยละ 1,000 เมกะวัตต์ และด้วยเงินทุนระหว่าง 16,000-18,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากที่ประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้
ผู้เชี่ยวชาญนอกรัฐสภายังมีความกังวลต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับการกำจัดกากนิวเคลียร์ที่เสี่ยงอันตรายรอบด้าน
"หลังจากผ่านไป 10 ปี ปริมาณของกัมมันตภาพรังสีจากกากจะมีอยู่อย่างมหาศาล" นายเฮี่ยนกล่าว ทั้งแสดงความวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงของโครงการอันเนื่องมาจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงในเวียดนาม
รัฐบาลได้เลือก จ.นิงห์ทวน (Ninh Thuan) ในภาคกลางตอนล่าง ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้รับเสียงวิจารณ์ถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมจากโครงการก่อสร้างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของชุมชนชาวประมง
เวียดนามต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ทุกปี เนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมหนัก เช่นการก่อสร้างซึ่งเป็นภาคส่วนที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุด ความต้องการอาจจะสูงถึง 20% ต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องเริ่มเดินเครื่อง.