xs
xsm
sm
md
lg

2010 ปีแห่งสงครามชิงเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คงต้องบอกว่า “ชะตากรรม” การเมืองไทยในปี 53 นั้น เสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดความรุนแรง และตกอยู่ในภาวะที่น่าจะให้นิยามได้ว่า “ดิบ ถ่อย เถื่อน” ขึ้นอยู่ว่า “ตัวละคร” แต่ละฝ่ายจะเคลื่อนทัพเพื่อชิงบ้านชิงเมืองกันอย่างไร

แต่ละฝ่ายที่ว่านั้น หมายถึงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้จัดการรัฐบาลว่า จะสามารถรักษาสมดุลแห่งอำนาจระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเอาไว้ได้นานแค่ไหน และจะเข้มแข็งเพียงพอที่จะรับมือกับเกมล้มรัฐบาลที่ฝ่ายตรงกันข้ามทุ่มสรรพกำลังเข้าใส่หรือไม่

แต่ละฝ่ายที่ว่านั้น หมายถึง นช.ทักษิณ ชินวัตรที่ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า พร้อมจะนำทัพกลุ่มคนเสื้อแดงผู้จงรักภักดีบดขยี้ฝ่ายตรงกันข้ามเพื่อปกป้องทรัพย์สมบัติมูลค่า 7.6 หมื่นล้าน โดยมีฐานบัญชาการอยู่ที่ประเทศกัมพูชา

แต่ละฝ่ายที่ว่านั้น หมายถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เจ้าของสมญานาม “นักฆ่าลุ่มเจ้าพระยา” ว่าจะกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเพื่อต่อกรกับนักโทษชายหนีคดีเอาไว้อย่างไร และจะจัดการจัดแถว “ขุนทหาร” ในเก้าอี้สำคัญๆ ได้ตามใจปรารถนาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ รวมถึงก๊วนบูรพาพยัคฆ์ที่มีพล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

และแต่ละฝ่ายที่ว่านั้น หมายรวมถึง “นายฮุนเซน” และรัฐบาลของเขาที่ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต้องการล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ซึ่งสุดท้ายอาจเป็นไปได้ว่า อาจนำไปสู่การทำให้ทั้งสองประเทศตกอยู่ในภาวะสงคราม

ทักษิณ-จัดทัพออกศึก พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน


เมื่อพิเคราะห์จากเงื่อนไขและเงื่อนเวลาทางการเมืองที่ดำรงอยู่ ประเด็นแรกที่จำต้องพิจารณาคงหนีไม่พ้นการเคลื่อนไหวของ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” นักโทษชายหนีคดีที่พร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อ 1.รักษาทรัพย์สินจำนวน 7.6 หมื่นล้านบาทที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาในช่วงต้นปี และ 2.พร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อหวนกลับคืนสู่ประเทศไทยและต้องการกลับสู่อำนาจโดยที่ไม่ต้องรับความผิดที่ตัวเองได้ก่อเอาไว้ในทุกกรณี

คำถามก็คือแล้ว นช.ทักษิณจะเคลื่อนไหวอย่างไรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตัวเอง?

ทางเลือกของ นช.ทักษิณมีเพียงประการเดียวคือ ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งวิธีการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือ ต้องล้มรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ให้จงได้ และต้องทำให้ได้ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษายึดทรัพย์ออกมา

คำถามก็คือ แล้วจะทำอย่างไรถึงจะล้มได้?

ทางเลือกของ นช.ทักษิณมี 2 ทางคือ 1.ทำให้เกิดการยุบสภา และทำให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้พรรคเพื่อไทยกลับมามีอำนาจ 2.ทำให้เกิดความรุนแรงเพื่อสร้างเงื่อนไขให้ทหารออกมารัฐประหาร และพยายามเจรจาต่อรองเพื่อให้เขากลับมาผงาดในการเมืองไทยได้อีกครั้ง

และเหยื่อล่อชิ้นงามที่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่งและหลายคนกำลังจ้องกันชนิดปากมันก็คือ เงิน 7.6 หมื่นล้านที่ว่ากันว่า เขาตัดสินใจยกให้เกือบครึ่งเพื่อใช้เป็นเงินเดิมพันล่อไอ้เข้

ดังนั้น ปี 2553 จึงเป็น “ปีแห่งศึกสงคราม” ที่ นช.ทักษิณจะทุ่มสรรพกำลังเพื่อการนี้ ประกอบกับความที่เขาเป็นคนที่เชื่อในเรื่องของ “ดวง” ปี 2553 ก็เป็นปีที่เขาเชื่อว่า เขาจะดวงดี เพราะตัวเลขต่างๆ เข้าล็อกได้อย่างพอดิบพอดี โดยเฉพาะ “เลข 10” ที่ถูกโฉลกกับนักโทษชายผู้นี้เป็นอย่างยิ่งกับปี ค.ศ. 2010

ทั้งนี้ ถ้าหากพิจารณาการเคลื่อนไหวของ นช.ทักษิณในรอบปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เขาได้ตระเตรียมสรรพกำลังเอาไว้อย่างเต็มที่ ทั้งการย้ายฐานบัญชาการจากดูไบมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการควบคุมสถานการณ์ โดยมี “เจ๊เพ็ญ-นายจักรภพ เพ็ญแข” และ “นายยงยุทธ ติยะไพรัช” ร่วมปักหลักวางแผนอยู่ที่นั่น

ขณะเดียวกัน นช.ทักษิณก็ได้กวาดต้อนบรรดา “ขุนทหาร” ที่จะมาเป็นไม้เป็นมือในการทำงานเข้าร่วมขบวนด้วยเป็นจำนวนมาก เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 ทหารพราน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เสธ.แดง-พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล” เป็นต้น

การปรากฏชื่อของบุคคลเหล่านี้ คือสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึง “ความรุนแรง” ที่จะเกิดขึ้น แต่ความรุนแรงดังกล่าวอาจไม่ได้ทำอย่างเปิดเผยหรือโจ่งแจ้งเหมือนกับช่วงสงกรานต์เลือด หากเป็นความรุนแรงที่กระทำโดยการใช้ “ขบวนการใต้ดิน”

และการเคลื่อนไหวเหล่านี้จะเร่งและแรงขึ้นก่อนที่คำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านออกมาโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้แผ่นดินไทยตกอยู่ในสภาพบ้านป่าเมืองเถื่อน อำนาจรัฐไม่สามารถแก้ไขได้ และนำไปสู่การตั้งโต๊ะเจรจาต่อรองโดยยึดประชาชนเป็นตัวประกัน

ว่ากันว่า คำสั่งให้ “ขจัด” ฝ่ายตรงข้ามก็เป็นหนึ่งในยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งออกมาเช่นไร ไม่ว่าแพ้หรือชนะ เชื่อได้ว่า นช.ทักษิณก็คงจะไม่ยุติการเคลื่อนไหว เพราะเป้าประสงค์ที่แท้จริงของเขาก็คือต้องการ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” ประเทศไทยให้ได้โดยมี “ฮุนเซนโมเดล” เป็นแบบอย่าง ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่เรื่องที่ทำสำเร็จได้ใน 1-2 ปี แต่เขาเชื่อว่าสักวันหนึ่งโมเดลนี้จะเป็นความจริง

ขณะเดียวกัน สมมติว่า ถ้าเขาทำสำเร็จด้วยการกดดันให้นายอภิสิทธิ์ตัดสินใจยุบสภา เขาก็พร้อมที่จะเจรจาเพื่อดึงบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันให้ย้ายค่ายกลับไปอยู่กับเขา


ปชป.ร่อแร่-อภิสิทธิ์รุ่งริ่ง

ตัดกลับมาที่รัฐบาลภายใต้การนำทัพของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กันบ้างว่า แนวทางการ “รุกและรับ” ศัตรูตัวฉกาจจะสามารถจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อกระเส็นกระสายออกมาแล้วว่า จะมีการนำยุทธศาสตร์ใต้ดินทั้งในและนอกประเทศมาใช้ก่อความรุนแรงเพื่อกดดันให้นายอภิสิทธิ์ตัดสินใจยุบสภา หรือสร้างสถานการณ์ให้ทหารทำการรัฐประหาร

และนั่นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

แต่การตัดสินใจยุบสภาของนายอภิสิทธิ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีหลักประกันอันใดที่จะมั่นใจได้ว่า ปชป.จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง ไม่มีหลักประกันอันใดที่จะมั่นใจได้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้จะกลับมาอยู่กับปชป.เหมือนเดิม ดังนั้น ถ้าหากถึงจุดที่จะต้องยุบสภา นายอภิสิทธิ์จะต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่เหมาะสมที่สุดและปชป.ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งมากที่สุด

คำถามก็คือแล้วเงื่อนไขที่เหมาะสมที่สุดคืออะไร

หากวิเคราะห์กันในทุกปัจจัยแล้ว นายอภิสิทธิ์จะน่าจะยื้อเวลาของรัฐบาลออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อผลักดันนโยบายและงบประมาณเพื่อสร้างคะแนนเสียงให้กับปชป.อย่างเต็มอิ่มเสียก่อน ดังนั้น จึงต้องอาศัยลูกเล่นเพื่อช่วยประคับประคองสถานการณ์และเป็นเงื่อนไขต่อรอง นั่นก็คือ เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทว่า หากกลุ่มคนเสื้อแดงสร้างความรุนแรงถึงขั้นก่อจลาจล นายอภิสิทธิ์จะต้องทำให้รัฐบาลและปชป.ตกอยู่ในสภาพที่ “ได้ใจ” คนทั้งประเทศ เหมือนเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์สงกรานต์เลือด จนกระแสรักชาติพุ่งสุดๆ ปชป.ถึงจะมีสิทธิ์ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยคะแนนเสียงที่ไม่ต่ำกว่าพรรคเพื่อไทยมากนัก

นั่นคือ ทางรอดและทางเลือกเดียวของปชป. ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลจอมเสียบทั้งหลายดูจะไม่อนาทรร้อนใจเท่าใดนัก ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทยพัฒนาหรือแม้กระทั่งพรรคมาตุภูมิก็พร้อมที่จะเปลี่ยนขั้วกลับไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยได้ตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญยิ่งของ ปชป.และนายอภิสิทธิ์ก็คือ “การยุบพรรค” ในคดีเงินบริจาค 258 ล้านที่ขณะนี้เดินทางมาถึงจุดชี้เป็นชี้ตายเช่นกัน ยิ่งถ้า “นายอภิชาต สุขัคคานนท์” ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(ก.ก.ต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองมีคำวินิจฉัยไม่ยุบพรรคออกมาด้วยแล้ว สถานการณ์การเมืองจะยิ่งถูกใส่สีตีไข่ให้เลวร้ายขึ้นด้วยข้อหา 2 มาตรฐานและไม่มีความยุติธรรม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กลุ่มคนเสื้อแดงไม่พลาดที่จะหยิบยกขึ้นมาโจมตี

ที่สำคัญคือ ถ้าหากสุดท้ายแล้ว ปชป.ถูกยุบพรรคจริงๆ การเมืองไทยจะตกอยู่ในภาวะสุญญากาศทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะกลุ่มก๊วนผลประโยชน์ต่างๆ จะแตกกระสานซ่านเซ็นออกจาก ปชป.และไปหาแหล่งยึดเกาะใหม่ที่มีความมั่นคง และเป้าหมายหลักเห็นจะหนีไม่พ้นพรรคภูมิใจไทยของนายเนวิน ชิดชอบ

ขณะที่อีกพรรคหนึ่งที่น่าจะได้ประโยชน์ไม่น้อยก็คือ พรรคการเมืองใหม่ที่ประชาชนมีสิทธิ์เทคะแนนให้แทนปชป.ก็เป็นได้

นอกจากนี้ ความสุ่มเสี่ยงอีกประการหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์และแผ่นดินไทยก็คือ “นายฮุนเซน” เพราะการที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาประกาศเลือกข้าง นช.ทักษิณและยี้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้น ได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้เวลาที่ยูเนสโกจะตัดสินเรื่องมรดกโลกกับประสาทพระวิหารในช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม เนื่องจากจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงได้

และถ้ากัมพูชาไม่สามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ ภาวะความกดดันทั้งหลายทั้งปวงจะพุ่งเข้าใส่นายฮุนเซนอย่างหนัก ประชาชนคนกัมพูชาจะไม่พอใจนายฮุนเซน ซึ่งจะมีผลกระทบที่สำคัญยิ่งต่อคะแนนเสียงของเขา และอาจมีความเป็นไปได้ว่า นายฮุนเซนจะยั่วยุหรือไม่ก็กระทำการบางอย่างเพื่อนำประชาชนทั้งสองประเทศเข้าสู่ “ภาวะสงคราม”

ขณะเดียวกัน จุดที่น่าเป็นห่วงก็คือ การบริหาร “คน” หรือพูดชัดๆ ก็คือ “รัฐมนตรี” ทั้งของปชป.เองและพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งนายอภิสิทธิ์จำต้องสกัดยับยั้งการทุจริตและประพฤติมิชอบให้อยู่หมัด มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นตัวเร่งให้รัฐบาลพังพาบไปเร็วกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งที่เวลานี้เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่า กำลังเตรียมที่จะสวาปามกันอย่างขนานใหญ่

และไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุขแห่งเดียวเท่านั้น กระทรวงอื่นๆ ก็น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย


“ป๋าเปรม” ออกศึก ระดมขุนทหารชน “ทักษิณ” วางเกมตั้ง ผบ.ทบ.-ผบ.ตร.


ก่อนสิ้นปี 52 มีปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งและส่งผลสะเทือนทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ นั่นก็คือ การที่ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เปิดบ้านให้อวยพรปีใหม่ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งมี 2 จุดกับอีก 1 คำพูดที่น่าจับตายิ่ง

จุดแรกก็คือ การปรากฏตัวในครั้งนี้ พล.อ.เปรมแต่งชุดเครื่องแบบทหารบกแขนสั้นเป็นครั้งแรกต่อหน้าสาธารณชน นับตั้งแต่ครั้งสุดท้ายที่ใส่ชุดทหารแต่ละเหล่าทัพเพื่อไปบรรยายให้แต่นักเรียนนายร้อยแต่ละเหล่าทัพ เมื่อช่วงต้นปี 2549 ก่อนจะมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

จุดที่ 2 คือนอกจากขุนทหาร “ลูกป๋า” ที่มากันอย่างพร้อมเพรียงในทุกเหล่าทัพ ทั้ง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.สส.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ตร.) พล.ต.อ.ปทีป  ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว ยังปรากฏว่า นายวิรัช  ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ได้เดินทางเข้าร่วมอวยพรด้วย และมีกระแสข่าวรายงานว่า พล.อ.เปรมให้พบเป็นการส่วนตัวอีกต่างหาก

ส่วนอีก 1 คำพูดที่ซ่อนปมเอาไว้อย่างแยบคายก็คือ "รู้จักกับพล.อ.ประยุทธ์(จันทร์โอชา รองผบ.ทบ.) มา 20 กว่าปีแล้ว และเข้าใจดีว่าพล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่อะไรมาบ้าง โดยเฉพาะการถวายรักษาความปลอดภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หากน้องในกองทัพภาคที่ 1 ทำตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ทำจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันที่เรารัก และศรัทธา ด้วยชีวิตของเรา ในกองทัพบกมีตัวอย่างคือ รอง ผบ.ทบ. ที่แสดงให้เห็นว่า ทหารที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ และปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลจะต้องทำอะไรที่ดีต่อชาติบ้านเมือง"

หลายคนตีความและฟันธงลงไปทันทีว่า พล.อ.เปรมสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์นั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.คนใหม่สืบต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 53 นี้

และทั้ง 2 จุดกับอีก 1 คำพูดของคือการส่งสัญญาณตรงว่า พล.อ.เปรมยังคงทรงพลังยิ่งในกองทัพ และต้องการสื่อสารให้นช.ทักษิณ ชินวัตรรับรู้ว่า ทหารลูกป๋ายังคงคุมกำลังสำคัญในกองทัพและพร้อมจะต่อกรกับนักโทษชายหนีคดีต้องเต็มอัตราศึกในปี 2553 นี้

กระนั้นก็ดี หากจะมีการตีความสัญญาณที่ออกมาให้ลึกลงไปอีก ย่อมแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.เปรมกับพล.อ.ประวิตรและพล.อ.อนุพงษ์ที่เคยระหองระแหงกันก่อนหน้านี้ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว เพราะพล.อ.เปรมจำต้องใช้ขุนทหารเหล่านี้รับมือกับศึกใหญ่ และการจองเก้าอี้ผบ.ทบ.ให้กับพล.อ.ประยุทธ์ก็จำต้องกระทำด้วยการใช้อำนาจผ่านคนทั้งสอง

และถ้าเป็นไปตามนั้นจริง ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่า สุดท้ายแล้วเก้าอี้สำคัญอีกตัวหนึ่งคือ “ผบ.ตร.” อาจจะตกอยู่กับ “พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย” ก็เป็นได้

กำลังโหลดความคิดเห็น