xs
xsm
sm
md
lg

ไฟใต้ยังท้าทาย"ปีเสือ"เครียด จับตาเหตุรุนแรงขยายสู่เมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเมิน 6 ปีท่ามกลางไฟใต้ที่ลุกโชนระลอกใหม่ มีการก่อเหตุรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บไปแล้วกว่า 1 หมื่นราย เผยปีวัวที่เพิ่งผ่านผันมีตัวเลขการเกิดเหตุลดลงก็จริง แต่ความรุนแรงกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จับตาศักราชใหม่ยังท้าทายให้กลายเป็น "ปีเสือเครียด"

เหตุการณ์ไฟใต้ที่ถือว่าสะเทือนขวัญในรอบปี 2552 ก็คือ เหตุการณ์ในคืนหฤโหดที่กลุ่มคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงสาดเข้าใส่มัสยิดอัลฟรุกอน ที่บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถึงแม้เวลาจะล่วงมากว่าครึ่งปีแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นบาดแผลลึกที่ติดอยู่ในใจประชาชนในพื้นที่อย่างยากจะลืมเลือน เป็นความสูญเสียที่ไม่อาจทดแทนได้ด้วยสิ่งใดๆ สำหรับครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตทั้ง 10 ราย จนถึงขณะนี้แม้เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับผู้ต้องหาไปแล้ว 2 ราย แต่ในทางคดีก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

เกี่ยวกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ นายยะโก๊บ หร่ายมณี โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดกลางปัตตานี ให้ความเห็นว่า อยากจะขอให้รัฐอย่าแก้ปัญหาแบบขอไปทีอีกต่อไปเลย เพราะชาวบ้านได้ตั้งคำถามมากมายมาจนถึงวันนี้ ซึ่งแม้จะมีการออกหมายจับคนร้ายไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถจับใครได้สักที ทั้งๆ ที่รู้ว่าคนกระทำความผิดตามหมายจับ ป.วิอาญาจริงๆ นั้นคือใคร

หากพิจารณาในภาพรวมของ 7 ปีสถานการณ์ไฟใต้ที่คุโชนขึ้นระลอกใหม่ สถิติการก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 71 เดือน นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารที่ จ.นราธิวาส ในเดือน ม.ค.2547 จนถึงเดือน พ.ย.2552 มีเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นกรณีใช้อาวุธปืนยิง ระเบิด วางเพลิงและการก่อกวนอื่นๆ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บมีสูงถึง 10,340 ราย

เหตุการณ์ความไม่สงบอันเนื่องแต่ไฟใต้ตั้งแต่กลางปี 2550 เป็นต้นมา ตัวเลขของการก่อเหตุได้ลดจำนวนลงมาก ทว่านับตั้งแต่ต้นปี 2552 ที่เพิ่งผ่านพ้นมานี้กลับแนวโน้มของการก่อเหตุที่ดูเหมือนจะเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ด้าน ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) กล่าวถึงสถานการณ์ไฟใต้ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2552 ว่า ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ในพื้นที่ลดลงมากและเหตุการณ์ใหญ่ก็มีไม่มากไปกว่าปีก่อนๆ ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมการก่อเหตุของภาครัฐสามารถทำได้ดีพอสมควร

“ขอตั้งข้อสังเกตว่าแนวโน้มเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2553 นี้คงจะไม่ต่างจากปี 2552 เพียงแต่ชุมชนในเมืองต้องระวังการก่อเหตุในลักษณะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากชุมชนในชนบทที่ความสามารถในการก่อเหตุคงยากขึ้นเรื่อยๆ”

ขณะที่ พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองกำลังผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ผบ.พตท.) กล่าวว่า ตัวชี้วัดภาพรวมเหตุการณ์ไฟใต้ในรอบปี 2553 นี้มีที่น่าสนใจคือ ประการแรกเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงมาก มีการลดจำนวนลงของกลุ่มผู้ก่อเหตุ ส่วนอีกประการหนึ่งคือ ความร่วมมือของพี่น้องประชาชนที่เข้ามาร่วมมือกับฝ่ายราชการมีมากขึ้น แถมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“แนวโน้มปีหน้าเหตุการณ์ความไม่สงบจะลดลงแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะลงสู่พื้นที่ ซึ่งจะเป็นการนำการพัฒนาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย หรือการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชนลงมาช่วยเหลือ ดังนี้แล้วก็จะทำให้ประชาชนเข้ามาร่วมมือกับฝ่ายรัฐเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก” พล.ท.กสิกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วง พ.ย.2552 ที่ผ่านมาก็มีปรากฏการณ์ที่ส่งผลสะเทือนถึงรัฐบาลและสร้างความสับสนให้กับสื่อมวลชนทุกแขนงเมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ได้เสนอแนวคิดที่จะให้มีการยกระดับการปกครองของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นเขตการปกครองพิเศษหรือที่เรียกว่า “นครปัตตานี” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย เนื่องจากหวั่นเกรงกันว่าจะทำให้เกิดความแตกแยกในกลุ่มชนเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวก่อตั้งรัฐปัตตานีในที่สุด

จากนั้นในช่วงต้น ธ.ค.2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับดาโต๊ะ ซรี มูฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุล อับดุล ราซัก นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ก็ควงแขนกันลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และได้ร่วมกันลงนามเปลี่ยนชื่อสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลกแห่งที่สองที่บ้านบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เป็นสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย ซึ่งนั่นหมายถึงมีการกระชับสัมพันธไมตรีของทั้ง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงการสนับสนุนด้านการศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และที่สำคัญไทยได้รับการตอกย้ำถึงความร่วมมือจากผู้นำประเทศมาเลเซียในการช่วยเหลือดับไฟใต้ด้วย

ทั้งนี้ จากการที่ผู้นำประเทศของไทยและมาเลเซียลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้น ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นนิมิตรหมายอันดี เป็นการสร้างความสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งในด้านจิตวิทยาถือว่าดีมาก

ทว่า ในห้วงเวลาเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรีทั้งไทยและมาเลเซียลงพื้นที่ชายแดนใต้รวมทั้งก่อนหน้านั้นรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทยที่เกี่ยวข้องกับการคลี่คลายสถานการณ์ไฟใต้ได้เดินทางลงพื้นที่ก็มักจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นพร้อมกันหลายจุด อันแสดงให้เห็นว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่าภายหลังจากที่ประชาชนได้เฉลิมฉลองวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ได้ไม่นาน เชื่อว่าอาจจะมีการก่อเหตุป่วนป่วนเมืองตามมาครั้งใหญ่ของกลุ่มก๊วนคนเสื้อแดงที่ถูกบงการโดยระบอบทักษิณ

การก่อเหตุที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเพียงคดีความมั่นคงเท่านั้น แต่มีทั้งในส่วนของเรื่องการเมือง ยาเสพติด อาชญากรรมรูปแบบต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

จนถึงวันนี้รัฐบาลเองยังไม่รู้เลยว่าศูนย์บัญชาการในการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ตั้งอยู่ที่ใด และใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น