xs
xsm
sm
md
lg

"ซาเล้ง"หน้าบาน ปฏิรูปรถไฟฉลุย งบเพิ่ม 1.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการ - “โสภณ” หน้าบาน ครม.เห็นชอบแผนปฎิรูป ร.ฟ.ท. แถมได้งบเพิ่มจาก 1 แสนล้านบาทเป็น 1.5 แสนล้านบาท ตีตกความเห็น สศช.เสนอตั้งกรมรถไฟหลวง แยกงานโครงสร้างพื้นฐาน หวั่นทำแบบก้าวกระโดดปลุกสหภาพฯ ตื่น ระบุ ครม.สั่ง ร.ฟ.ท.ทำรายละเอียดแผนลงทุนแต่ละโครงการใน 45 วัน สบช่องสั่งเดินหน้าตั้งบริษัท ลูกแอร์พอร์ตลิ้งค์หลังปีใหม่

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (29 ธ.ค.) ว่า ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบรายงานแผนแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการการถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมีมติเห็นชอบตามมติที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2552 แต่ให้ปรับเพิ่มวงเงินการลงทุนจาก100,000 ล้านบาท เป็น 153,052 ล้านบาท โดยครม. ให้กระทรวงคมนาคมกลับไปจัดทำแผนรายละเอียดการดำเนินโครงการต่างๆ โดยจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน และเสนอครม.พิจารณาอีกครั้งภายใน 45 วัน

ทั้งนี้ สศช.ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมครม.ว่า แผนการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงาน ร.ฟ.ท.ควรใช้แนวทางการจัดตั้งเป็นกรมรถไฟหลวงเพื่อดูแลงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน และให้ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจทำหน้าที่ในการเดินรถอย่างเดียว ซึ่งได้ชี้แจงต่อครม. ว่า แนวทางดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งครม.เห็นด้วยกับแนวทางเดิมที่ให้ร.ฟ.ท.ดำเนินการจัดตั้ง 3 หน่วยธุรกิจ (Business Unit :BU) ประกอบด้วย หน่วยธุรกิจการเดินรถ, หน่วยธุรกิจทรัพย์สิน , หน่วยธุรกิจอำนวยการ ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ร.ฟ.ท. แต่แยกบัญชีรายรับรายจ่ายของตนเอง เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบเกี่ยวกับผลประกอบการ

และจัดตั้ง 1 บริษัทลูกเพื่อเดินรถโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือแอร์พอร์ตเรลลิงค์ โดยร.ฟ.ท. ถือหุ้น 100% ซึ่งหลังจากครม.เห็นชอบแล้ว ร.ฟ.ท.ก็สามารถดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกแอร์พอร์ตลิ้งค์ได้ทันที โดยยืนยันกำหนดเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ในเดือนเม.ย.2552 เช่นเดิม

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.รายงานว่า จะสามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทลูกแอร์พอร์ตลิ้งค์ได้ในเดือนม.ค.2553 ขณะนี้ที่ความคืบหน้าโครงการขั้นตอนอยู่ระหว่างการตรวจรับงาน ส่วนพนักงานนั้น ทางศศินทร์ดำเนินการคัดเลือกแล้ว 140 คน เหลืออีก 300 คนอยู่ระหว่างการคัดเลือก

“ผมยืนยันกับที่ประชุมครม.ว่า การแยกงานโครงสร้างพื้นฐานออกมาเป็นกรมรถไฟหลวงตามที่สศช.เสนอนั้น อาจะทำให้เกิดปัญหากับพนักงานและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท. เหมือนที่ผ่านมา เพราะยังไม่เข้าใจกัน และเป็นการดำเนินการที่ก้าวกระโดดเกินไป จึงยืนตามแผนเดิมที่มี” นายโสภณกล่าว

สำหรับแผนแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการ ร.ฟ.ท.ที่มติครม.เดิม เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2552 ให้ความเห็นชอบเป็นความเห็นชอบตามมติครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2552 โดยให้มีการปฏิรูประบบรถไฟเพื่อความปลอดภัยวงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการในปี 2553-2557 (5 ปี) เช่น เสริมความแข็งแรงของรางรถไฟ ปรับปรุงระบบรางและอาณัติสัญญาณ การจัดหาหัวรถจักร รวมทั้งการก่อสร้างระบบรถไฟทางคู่ ระยะทาง 767 กิโลเมตร แต่ทั้งนี้จำนวนเงินงบประมาณดังกล่าวนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมแผนงานทั้งหมด กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดทำรายละเอียดวงเงินที่จะขอเพิ่มเติมใหม่ เสนอไปยังสศช.เห็นชอบ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณา

ทั้งนี้ วงเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวนั้น ประกอบด้วยแผนการลงทุน 2 ส่วน โดยส่วนแรก เป็นแผนงานการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วน ที่จะดำเนินการภายใน 5 ปี (2553-2557) มีวงเงิน 86,942 ล้านบาท ได้แก่ งานโยธาจำนวน 51,124 ล้านบาท ,งานอาญัติสัญญาณจำนวน 19,014 ล้านบาท และงานรถจักรและล้อเลื่อน 16,803 ล้านบาท

ส่วนที่ 2 เป็นงานพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 767 กิโลเมตร จำนวน 5 เส้นทาง วงเงินรวม 66,110 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 118 กิโลเมตร วงเงิน 7,860 ล้านบาท 2.สายมาบกระเบา-นครราชสีมา ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 11,640 ล้านบาท 3.สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงิน 13,010 ล้านบาท 4.สายนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 16,600 ล้านบาท และสายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 17,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับการออกระเบียบในการสร้างถนนข้ามทางรถไฟ เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาการสร้างถนนทับทางรถไฟ โดยไม่มีเครื่องกัน ทำให้มีอุบัติเหตุ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ดำเนินการตรวจสอบถนนที่เป็นจุดตัดกับทางรถไฟทั่วประเทศ พร้อมทั้งร่วมกันออกแบบเครื่องกันทางรถไฟเพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟด้วย

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (29 ธ.ค.) ร.ฟ.ท.และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการความร่วมมือเพื่อก่อตั้งและพัฒนาสถาบันพัฒนาระบบรางภาคพื้นอาเซียน (ARSDI) เพื่อจัดหลักสูตรในระดับปริญญาตรีสำหรับพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อป้อนอุตสาหกรรมการขนส่งระบบราง
กำลังโหลดความคิดเห็น