ผมได้รับหนังสือ “ชีวประวัติของข้าพเจ้า” เขียนโดย มหาตมา คานธี มาจากสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สำนักพิมพ์มีคำอธิบายบอกว่า หนังสือเล่มนี้ “My life is my message” เป็นมหาตมา คานธี ลงมือเขียนเล่าประวัติตนเองตั้งแต่อายุ 50 ปี ตลอดช่วงการต่อสู้ ทั้งในคุก และนอกคุก ชีวประวัติของท่าน ได้รับการตีพิมพ์แล้วทั่วโลกหลายแสนเล่ม ท่านอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ได้กรุณาแปลหนังสือเล่มนี้จากภาษาฮินดี ขณะที่ถูกจองจำในคุกลาดยาว บางเขน ระหว่างปี 2501-2509
เนื้อหาสะท้อนให้เห็นว่า ชายร่างเล็กที่ดูไม่มีฤทธิ์เดชประการใดผู้นี้ แต่กลับสามารถครองใจประชาชนชาวอินเดียไว้เป็นจำนวนหลายร้อยล้านคน สามารถนำพวกเขาต่อสู้กับมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกจนประสบชัยชนะโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ด้วยแนวทางการต่อสู้ที่เรียกว่า “สัตยานุเคราะห์” หรือการนำหลักความจริง (สัตยะแปลว่าความจริง) มากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาประเทศชาติและสังคม หรือที่คนไทยรู้จักกันดีว่า เป็นการต่อสู้ตามหลักอหิงสา
นอกจากนั้น อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ อัจฉริยะของโลก ยังกล่าวถึงคานธีไว้ว่า “อาจเป็นไปได้ในยุคต่อไป จะไม่มีใครอยากเชื่อว่า บุคคลเช่นนี้ก็เคยมีชีวิตชีวาเดินเหินอยู่บนพื้นโลกนี้”
ผลงานการจัดพิมพ์ครั้งนี้ เป็นความภาคภูมิใจของสำนักพิมพ์ โดยจะจัดพิมพ์ฉบับพิเศษปกแข็งเป็นฉบับ Limited Edition เพื่อสั่งจองเป็นของขวัญปีใหม่ ซึ่งรายได้จากค่าลิขสิทธิ์มอบให้ASTV
ผมเปิดพลิกหนังสืออ่านพลันนึกถึงคนคนหนึ่ง ...นักโทษชาย ทักษิณ ชินวัตร!
เนื่องเพราะหลายต่อหลายครั้งที่ทักษิณ ชินวัตร ชอบอ้างถึงปรัชญาและคำสอนของวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดียและของโลกผู้นี้
อย่างเช่นตอนที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือสิ้นสูญอำนาจภายหลังจากถูกปฏิวัติเมื่อ19 กันยายน 2549 แล้วก็ตามมักอวดอ้างตนและเรียกการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ว่า เป็นเฉกเช่นเดียวกับมหาตมา คานธี
ครั้งหนึ่งทักษิณพูดถึงปรัชญาของมหาตมา คานธี เรื่อง “บาป 7 ประการ”
(บาป 7 ประการนี้ เป็น มหาตมา คานธี เขียนไว้ในหนังสือเชิงอัตชีวประวัติของท่านเรื่อง “The Story of My Experiments with Truth” เมื่อ ค.ศ. 1925 ดังนี้
Politics without principles.
Pleasure without conscience.
Wealth without work.
Knowledge without character.
Commerce without morality.
Science without humanity.
Worship without sacrifice.
ต่อมา ท่านอาจารย์กรุณา - เรืองอุไร กุศลาสัย ปราชญ์ไทยผู้เชี่ยวชาญภารตวิทยาและภาษาฮินดี แปลหนังสือเล่มนี้ไว้เป็นภาษาไทยว่า “ข้าพเจ้าทดลองความจริง : อัตชีวประวัติของมหาตมา คานธี” พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อปี 2525 ตอนท้ายเล่มได้ถอดความ “บาป 7 ประการในทัศนะคานธี” ไว้เป็นภาษาไทยดังนี้
เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ
หาความสุขสำราญโดยไม่ยั้งคิด
ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงาน
มีความรู้มหาศาลแต่ความประพฤติไม่ดี
ค้าขายโดยไม่มีหลักศีลธรรม
วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์
บูชาสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ)
จำได้ว่า “พี่คำนูณ” หรือ ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน
เคยเขียนเปรียบเทียบเรื่องนี้เอาไว้ในคอลัมน์หน้ากระดานเรียงห้าแห่งนี้เอาไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 ในหัวข้อเรื่อง “บาป 7 ประการ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร”
ส.ว.คำนูณ ให้ความเห็นในคราวนั้นไว้ว่า แทนที่ทักษิณจจะอ้างท่านมหาตมา คานธี มาสอนผู้อื่นควรที่จะย้อนมองตนก่อนจะดีกว่า
เพราะคนที่ทำบาปทั้ง 7 ประการมากที่สุดไม่ใช่ใครอื่นหรอก นอกจากคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร
บาปข้อที่ 1 : ทักษิณมีแต่ “สร้างภาพ” และ “อ้างความชอบธรรมเสี้ยวเดียว” คือ 19 ล้านเสียงจากการเลือกตั้ง โดยไม่ได้พิจารณาความชอบธรรมในการบริหารชาติแผ่นดินที่จะต้องทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในระยะยาวเลยแม้แต่น้อย
บาปข้อที่ 2 : สังคมยิ่งมัวเมาลุ่มหลงในความไร้สาระต่างๆ เท่าไร ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการปกครองของท่านเท่านั้น พูดง่ายๆ ว่าคนในสังคมยิ่งไร้ปัญญา ยิ่งต้องพึ่งพารัฐ ท่านยิ่งได้ประโยชน์ไปโดยมหาศาลโดยที่สังคมไม่ถามไถ่เพราะรู้ไม่เท่าทัน
บาปข้อที่ 3 : เศรษฐกิจฟองสบู่ที่มุ่งหน้าแต่เพิ่มจีดีพี เพิ่มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งทำให้ช่องว่างในสังคมแตกต่างห่างกันมากขึ้น และคนที่ได้เปรียบในสังคมแค่อยู่เฉยๆ ก็มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามกับคนที่เสียเปรียบในสังคม ทำงานหนักแทบตายแต่กลับจนลง
บาปข้อที่ 4 : ภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนอย่างจริงใจ เช่น กรณีแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ พิสูจน์ได้ชัด
บาปข้อที่ 5 : การหลีกเลี่ยงภาษี การเดินทางไปต่างประเทศในราชการงานเมือง แต่ละครั้งแทบไม่มีครั้งใดเลยที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเอง
บาปข้อที่ 6 : ในเชิงระบบและโครงสร้าง ทักษิณยืนอยู่ข้างกลุ่มทุนมากกว่าชาวบ้าน
บาปข้อที่ 7 : ทักษิณอ้างแต่หลักธรรมขั้นสูง แต่กรณีสมเด็จพระสังฆราชกลับเห็นได้ชัดว่าไม่ได้พยายามแก้ปัญหา
“ เป็นมงคลอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรีเคยนำ “บาป 7 ประการในทัศนะคานธี” มาถ่ายทอด จะเป็นมงคลอย่างที่สุดถ้าวัตถุประสงค์ไม่ใช่เพียงเพื่อ “ทิ่มตำคนอื่น” หากใช้เป็น “กระจก” สำรวจพฤติกรรมของตนด้วยสัตย์ซื่อเพราะพิจารณาจริงๆ แล้วเฉพาะที่ท่านยกตัวอย่างออกมา ก็ล้วนเป็นผลมาจากกระทำของท่านและพรรคพวกทั้งนั้น” ส.ว.คำนูณ สรุป
บทความเรื่องนี้เผยแพร่ได้ไม่นานครั้นถึงเดือนกันยายน ทักษิณ ก็กลายสภาพเป็นอดีตนายกฯเพราะถูกรัฐประหาร
เวลาผ่านมาถึงวันนี้ ทักษิณ ถูกพิพากษาจำคุกต้องหลบหนีคดีไปสุดหล้าก่อนจะวกมาอยู่ใกล้ชายแดนไทยพึ่งพิงกัมพูชาเป็นฐานที่มั่น ซ่องซุมกำลังเหล่าบริวารที่มี “ทัศนคติอันตราย” คอยจ้องหาโอกาสทำลายทำร้ายประเทศตนเองอยู่ร่ำไป
เนื่องในวาระปีเก่าที่กำลังจะผ่านไป ปีใหม่ใกล้เข้ามา หลายคนเลือกที่จะใช้เวลานี้ทบทวนสิ่งที่เป็นมาตลอดปีที่จะหมดลงแล้วใคร่ครวญสิ่งที่จะกำลังจะมาถึงในปีหน้า
ไม่ทราบ ทักษิณ และบริวาร คิดอย่างไรอยากทำอะไรในช่วงปีใหม่? แต่หากวางมือจากแป้นคีย์บอร์ด งดทวิตต์ อวดอ้างตัว คร่ำครวญ ใส่ความทำลายล้างศัตรูยุแหยงเผาบ้าน-เผาเรือนลงได้สักวันสองวันผมใคร่อยากแนะนำให้บริวารหรือใครก็ตามลองซื้อหาอ่านหนังสือเล่มนี้ไปฝากนักโทษชายทักษิณที่เขมรเสียหน่อย
อย่างน้อย...นอกจากหูตาจะได้สว่าง ชีวประวัติของมหาตมา คานธี อาจจะสะกิดสำนึกให้ได้คิดบ้างว่า
“There is enough in the world for everybody’s need but not enough for anybody's need”
โลกนี้มีพอสำหรับความต้องการของทุกคน แต่ไม่พอสำหรับความโลภของคนแม้เพียงหนึ่ง.