xs
xsm
sm
md
lg

"เทือก"ยันแก้ไฟใต้ถูกทาง ใช้4เสาหลักร่วมปฏิบัติการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.30 น.วานนี้ (28 ธ.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ร่วมจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 21 /2552 เรื่อง " 6 ปี วิกฤตชายแดนใต้ แก้ปัญหาถูกจริงหรือ?" โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นวิทยากร โดยนายสุเทพ กล่าวตอนหนึ่งว่า การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ จะต้องนำแนวทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาปฏิบัติอย่างจริงจัง ใช้การเมืองนำการทหาร ซึ่งในช่วงวิกฤตต่างๆ กองทัพและฝ่ายการเมืองร่วมกันทำงานอย่างมีเอกภาพ รวมถึงสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลต้องเน้นนโยบายการพัฒนา จึงจำเป็นต้องร่างแผนพัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ ครอบคลุม 5 จังหวัด คือ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และสตูล มีคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดพื้นที่ชายแดนใต้ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตนเป็นรองประธาน เป็นผู้รับผิดชอบ
นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการเร่งรัดฯที่มีนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย เป็นประธาน โดยมีเป้าหมายพัฒนา 2 ประการ คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อให้ได้รับบริการจากรัฐอย่างมีมาตรฐาน และให้คนในพื้นที่มีรายได้ดี คือ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีรายได้ 120,000 บาท ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะต้องให้ประชาชนได้มีส่วนคิดและร่วมปฏิบัติ โดยใช้กระบวนการประชาคม ซึ่งเริ่มแรกที่ 696 หมู่บ้าน และใช้ 4 เสาหลัก คือ ผู้นำตามศาสนา บุคคลที่ประชาชนเคารพนับถือ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนประชาชน มาร่วมพัฒนา ดังนั้นรัฐบาลจึงมั่นใจว่าเมื่อมี 4 แกนนำหลักมาช่วยคิด จะต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ จะเน้นการสร้างอาชีพให้ประชาชนด้วย แต่ขณะนี้มีปัญหากับคน 2 ชุด ที่รัฐบาลกำลังหาอาชีพให้ คือ 1. เยาวชน ที่ กอ.รมน. ได้รับมาในโครงการทำดีมีอาชีพ เนื่องจากไม่ต้องการให้เยาวชนกลุ่มนี้หลงผิดเข้าข้างผู้ก่อการ จึงนำมาปลูกฝังทัศนคติใหม่ และ 2.ประชาชนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองไม่มีศักยภาพประกอบอาชีพทางการเกษตร ซึ่งทางราชการกำลังเร่งดำเนินการโดยทำโครงการในลักษณะโครงการต้นกล้าอาชีพ ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการดำเนินการพอสมควร แต่เชื่อว่าจะสำเร็จก่อนปีงบประมาณ 2553
"หากเทียบส่วนกับรัฐบาลที่ผ่านมาในเรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้ เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลนี้ ผู้บริหารคนสำคัญของบ้านเมืองลงพื้นที่ใต้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ก็ลงพื้นที่หลายครั้ง ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงน่าจะเป็นหลักฐานที่สามารถบ่งบอกได้ว่า สถานการณ์ภาคใต้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามผมขอยืนยันว่า รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว ใช้นโยบายที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อประเทศไทย ต่อรัฐบาลไทย พร้อมกันนี้ยังช่วยไม่ให้พี่น้องประชาชนเห็นดีเห็นชอบกับผู้ก่อการ ส่วนกำลังทหารในพื้นที่นั้น ลงไปเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน ไม่ได้ไปอยู่เพื่อเข่นฆ่าประชาชน เพราะรัฐบาลจะกระทำการใดๆโดยยึดหลักกฎหมายเป็นที่ตั้ง"
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การแก้ไขยังใช้ปัญหาภาคยังใช้แนวทางการทูต เพื่อให้ประเทศที่เป็นมุสลิม หรือประเทศที่เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน เข้าใจปัญหา โดยให้ทูตประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมและลงพื้นที่ด้วย ดังนั้นจึงทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้น ต่างชาติมีความเข้าใจเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น และยอมรับการแก้ปัญหาของประเทศไทย และพร้อมให้การสนับสนุน พร้อมกันนี้รัฐบาลไม่กังวลกับการชี้แจงต่อโอไอซี และคงไม่กลายเป็นปัญหาสากล เพราะที่ผ่านกระทรวงต่างประเทศทำงานดีมาก และประเทศมุสลิมเพื่อนบ้าน คือ ทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย รู้และเข้าใจปัญหาของประเทศไทย และยืนยันที่จะเป็นตัวแทนในการร่วมเจรจากับโอไอซีด้วย

**ทหารไม่ใช้ความรุนแรง
ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กล่าวว่า การแก้ปัญหาภาคใต้ นโยบายความมั่นคง และนโยบายรัฐบาลจะต้องสอดคล้องกัน ใช้การเมืองนำการทหาร โดยวิธีที่ดีที่สุดคือต้องชนะจิตใจประชาชนทั้ง 2 ล้านคน ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ ทำให้ประชาชนไว้ใจ ขณะเดียวกันต้องแก้ไขในทุกมิติ ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม สิทธิมนุษยชน หากจะวัดความสำเร็จในแก้ไขปัญหา ต้องถามว่า อยากรู้ความสำเร็จของมิติด้านใด ถ้าอยากรู้มิติทางการเมือง ต้องถามฝ่ายการเมือง ไม่ใช่โยนมาถามทหารว่าแก้เรื่องการเมืองสำเร็จแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการชนะจิตใจไม่สามารถทำได้โดยเร็ว ต้องอาศัยเวลา คงไม่จบง่ายๆ เหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อแม่อบรมลูก ก็ต้องใช้เวลาทั้งชีวิต
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาที่ทหารเข้าไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าไปเพื่อดูแลพี่น้องประชาชน เพื่อทำให้สถานการณ์คลี่คลาย และให้นโยบายทางการเมืองสามารถเข้าไปพัฒนาได้ โดยจะต้องอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน สร้างความเข้าใจ และดูแลความปลอดภัยเป็นหลัก รวมทั้งพยายามหาแนวร่วมเพื่อมาฝึกอาชีพ สร้างความเข้าใจ
"ผมขอยืนยันว่าไม่เคยใช้ความรุนแรงกวาดล้างผู้ก่อการ ภารกิจทหารจะตามการเมืองตลอด และอยู่บนแนวทางสมานฉันท์ พยายามสร้างความเข้าใจ แต่คำถามคือ เมื่อทหารลงไปแล้วทำไมจึงยังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ คงตอบได้ว่า เป็นเพราะแม้จะดูแลละเอียดอย่างไร ก็อาจมีช่องโหว่บ้าง แต่ทั้งนี้ถ้าเราป้องกันได้มากที่สุด และอีกฝ่ายมีโอกาสน้อย เหตุการณ์ความรุนแรงก็จะลดน้อยลงไปด้วย"

**ค้านแนวคิดแยกปกครองตนเอง
ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวอีกว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาที่ตนสัมผัส ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่มีใครนอกกรอบนโยบาย และใช้การเมืองนำการทหารมาตลอด แต่ขณะนี้มีคนเสนอแนวทางใหม่ คือเสนอให้มีการปกครองตัวเอง แต่ตนยังไม่เห็นแนวทาง ดังนั้นตอนนี้คือต้องพยายามให้คนในพื้นที่ มีชีวิตที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ในมุมมองของความมั่นคง มั่นใจในการแก้ไขโดยใช้แนวทางการเมือง 100 เปอร์เซ็นต์ และเชื่อว่า เป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้
ส่วนกรณีที่หลายระบุว่างบ ประมาณในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่มีมูลค่ามหาศาลถึง 6.3 หมื่นล้านบาท แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นเหมือนการเก็บงบประมาณเพื่อเลี้ยงไข้ทหารนั้น ตนขอชี้แจงว่างบประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท เป็นงบที่ใช้ถึงปี 2555 โดยการใช้จ่ายงบประมาณต้องใช้เป็นงวดเป็นขั้นตอน
ส่วนข้อกังวลเรื่องการรั่วไหล เรื่องการทุจริต และการเลี้ยงไข้ทหาร ขอเรียนว่างบทั้งหมดไม่ได้ลงมาที่ทหาร ทหารไม่ได้ถืองบประมาณ แต่ถ้ามีคนทำจริงก็ถือว่าต่ำทรามมาก ซึ่งแนวทางที่จะเดินต่อไปข้างหน้าคือ กองทัพต้องปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเดินตามแนวทางเดิม
-----------
กำลังโหลดความคิดเห็น