ศูนย์กสิกรไทย เผย วิกฤตเศรษฐกิจฉุดโรงพยาบาลเอกชน กำไรหด แม้หวัดใหญ่ 2009 ระบาด ฟันรายได้สูง 1,000-1,500 ล้านบาท แต่ยังขาดทุนเพราะป่วยตายเยอะกระทบความเชื่อมั่น ด้านพฤติกรรมผู้ป่วยเปลี่ยน ต่างชาติย้ายไปรักษาประเทศคู่แข่ง ส่วนผู้ป่วยในประเทศเลิกหาหมอเอกชนเพราะประหยัดเงิน ขณะที่เมดิคอลฮับแนวโน้มอนาคตสดใส
วันที่ 17 กันยายน ที่โรงแรมริชมอนด์ นายนรชัย ลือกุลวัฒนะชัย เจ้าหน้าที่อาวุโส ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวในการสัมมนาเรื่อง ศักยภาพโรงพยาบาลเอกชน กับนโยบาย เมดิคอลฮับ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2552 ว่า ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ประชาชนชะลอการใช้จ่าย โดยโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งมีจำนวนผู้ป่วยลดลงทุกกลุ่ม ทำให้รายได้ของโรงพยาบาลเอกชน ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 12.3 หรือประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 13.3 ซึ่งลดลงมากกว่ารายได้ เป็นเพราะโรงพยาบาลเอกชนมีการเร่งทำประชาสัมพันธ์ กิจกรรมส่งเสริมการขาย การลดราคาค่าห้อง แต่ต้นทุนยังเท่าเดิมทำให้มีกำไรสุทธิต่ำลง
“ที่น่าสนใจ คือ ในช่วงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 โรงพยาบาลเอกชน มีรายได้ถึงประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาท จากการตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ การฉีดวัคซีน การตรวจเช็คสุขภาพ แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยด้วย เพราะพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงมาก โดยพบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2552 มีอัตราการขยายตัวติดลบ ร้อยละ -8.1”นายนรชัย กล่าว
นายนรชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับระบบโรงพยาบาลเอกชนไทย พบว่า พฤติกรรมของผู้ป่วยเปลี่ยนไป โดยผู้ป่วยจะชะลอการพบแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนหากไม่ได้ป่วยร้ายแรง หรือเร่งด่วน ก็จะหันไปพบแพทย์ในคลินิกเอกชนขนาดเล็ก หรือคลินิกพิเศษในโรงพยาบาลรัฐ หรือซื้อยารับประทานเองซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า รวมทั้งหันมาใช้สถานพยาบาลที่ได้รับสวัสดิการทั้งรัฐและเอกชน สำหรับผู้ป่วยต่างประเทศ จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยเก่าที่ต้องพบแพทย์คนเดิม กลุ่มผู้ป่วยที่มีประกันสุขภาพ เพราะบริษัทประกันสุขภาพหันมาส่งผู้ป่วยให้รักษาในประเทศแถบเอเชียซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่า
“สำหรับผู้ป่วยใหม่ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่จะมาจากต่างประเทศ ทั้งผู้ป่วยที่เคยเข้ามารักษา ผู้ป่วยใหม่ และผู้ป่วยที่มารักษาพร้อมการพักผ่อนท่องเที่ยว จะชะลอการเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย หากไม่จำเป็นเร่งด่วนและมีการหาสถานพยาบาลแห่งใหม่ในประเทศอื่น สาเหตุจากความไม่สงบของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทยเป็นหลัก โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเปลี่ยนไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชนประเทศคู่แข่งของไทย โดยเฉพาะประเทศอินเดีย มาเลเซีย” นายนรชัย กล่าว
นายนรชัย กล่าวต่อว่า ธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชนไทย โดยเฉพาะเมดิคอลฮับ ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ในอนาคต โดยคาดว่า ในช่วงปี 2552-2555 จะมีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยชาวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.35 แสนคนต่อปี โดยในปี 2555 จะมีผู้ป่วยชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นสูงสุดคือ 2.05 ล้านคน เนื่องจากจะมีประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงเข้ามาใช้บริการมากขึ้น และบริษัทประกันสุขภาพในต่างประเทศพยายามหาแหล่งการรักษาที่มีต้นทุนต่ำกว่าประเทศของตน ซึ่งประเทศที่เป็นคู่แข่งประเทศไทยที่ต้องจับตา คือ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินเดีย ซึ่งได้เปรียบในเรื่องของการรองรับผู้ป่วยจากประเทศมุสลิมได้ดีกว่า รวมทั้งหากประเทศไทยยังมีปัญหาทางการเมืองอยู่อย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ฐานลูกค้าใหม่ๆ เปลี่ยนไปอยู่หาสถานที่รักษาในประเทศอื่น
“ในอนาคตไทยควรให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามารักษาโรค คือ กลุ่มเด็ก และผู้สูงอายุ โดยกลุ่มเด็ก เนื่องจากประชากรเด็กมีแนวโน้มลดลง เด็กที่เกิดใหม่จึงได้รับการดูแลให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจากพ่อแม่อย่างมาก ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น และ เยอรมนี แต่เป็นกลุ่มที่เงินออมสูงมากสามารถใช้จ่ายในการรักษาโรคได้มากขึ้นตามไปด้วย” นายนรชัย กล่าว