xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:ดอกเบี้ยต่ำของสหรัฐ ค่าเงินอ่อนของเอเชียตะวันออก:การแก้ไขปัญหาแบบตัวใครตัวมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการเงินประเทศในเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่(รวมถึงไทย)โดยเฉพาะจีนได้ใช้มาตรการค่าเงินต่ำเพื่อส่งเสริมการส่งออก ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้เกินดุลการค้ามูลค่ามหาศาล ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่วิกฤติการเงินโลกในปัจจุบัน อนึ่ง เพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤติการเงินครั้งนี้ ประเทศกลุ่ม G-3 โดยเฉพาะสหรัฐฯได้ใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินแบบสุดโต่งด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำมาก ส่งผลกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงมากกว่าเดิมโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าเงินของเอเชียตะวันออก ผลที่ตามมาคือประเทศในเอเชียตะวันออกต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินของตนเพื่อมิให้แข็งค่าจนกระทั่งกระทบกับการส่งออก การแก้ไขปัญหาโดยที่ต่างฝ่ายต่างใช้นโยบายเพื่อประโยชน์ของตนเองเป็นหลักโดยไม่สนใจผลกระทบข้างเคียงต่อประเทศอื่น หรือนโยบายแบบตัวใครตัวมัน ผลสรุปสุดท้ายอาจจะเป็นผลร้ายต่อทั้ง 2 ฝ่ายในที่สุด

ประเทศในเอเชียตะวันออกได้ใช้นโยบายค่าเงินต่ำเพื่อส่งเสริมการส่งออกและเศรษฐกิจมาหลายปี สถานการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การขาดความสมดุลทางการค้าโลก โดยสหรัฐฯขาดดุลมูลค่ามหาศาล ขณะที่เอเชียตะวันออกก็เกินดุลมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะใน 10 ปีที่ผ่านมาที่จีนได้เข้ามามีบทบาทเป็นแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดในโลก ในปี 2551 ที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียตะวันออกรวมกันเกินดุลการค้าถึงประมาณ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การเกินดุลที่สะสมมาหลายปีทำให้เงินสำรองทางการของเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้น และเกิดเม็ดเงินลงทุนมูลค่ามหาศาลจากประเทศเหล่านี้ อีกทั้งยังทำให้เกิดสภาพคล่องจำนวนมากในโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติการเงินในปัจจุบัน แม้ว่าสหรัฐฯ และประเทศในตะวันตกอื่นๆ ซึ่งได้รับผลกระทบครั้งนี้จะขอให้เอเชียตะวันออกโดยเฉพาะจีนปล่อยให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด

ขณะที่มีวิกฤติการเงิน สหรัฐฯได้ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ โดยธนาคารกลาง (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ลงเหลือร้อยละ 0 – 0.25 ส่งผลให้มีแรงกดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลดค่าลงไปอีก ในทางตรงกันข้ามก็เป็นการทำให้ค่าเงินของเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะจีนแข็งค่าขึ้น ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องแทรกแซงค่าเงินของตนมากขึ้นเพื่อไม่ให้ค่าเงินปรับตัวสูงเกินไป ประกอบกับวิกฤติการเงินทำให้เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกชะลอตัวลงหรือถดถอยในบางประเทศ ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ทั้งการเกินดุลการค้าสะสม การแทรกแซงค่าเงินและการลดดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้เกิดสภาพคล่องท่วมระบบเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ และเป็นภาระอย่างมากสำหรับธนาคารกลางที่จะต้องเข้าดูดซับสภาพคล่องจากระบบเศรษฐกิจไทยเองก็ตกอยู่ในภาวะการณ์แบบนี้เช่นกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดูดซับสภาพคล่องไปแล้วประมาณ 3 ล้านล้านบาท

ในสถานการณ์ที่สภาพคล่องท่วมระบบเช่นนี้ ทำให้เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้ออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ โดยเฉพาะ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และเวียดนาม ดัชนีบ่งชี้ก็คือ ราคาอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงเพิ่มไปแล้วกว่าร้อยละ 40 จากปีก่อน ขณะที่ราคาบ้านในเมืองใหญ่ของจีนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 - 30 จากปลายปี ทว่าสำหรับประเทศที่เคยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540/41 ยังไม่พบปัญหานี้ แต่ถ้าปล่อยให้สภาพคล่องท่วมระบบนานๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ในอนาคตนโยบายค่าเงินต่ำของเอเชียตะวันออก และนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของสหรัฐฯ เป็นแนวทางที่อิงกับประโยชน์ของประเทศตนเองเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงต่อประเทศอื่นๆ ซึ่งถ้าปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้ยืดเยื้อต่อไป ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องจะมีปัญหาเศรษฐกิจตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมหวังว่าเมื่อการส่งออกของจีนฟื้นตัว จีนจะปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นบ้าง ซึ่งจะทำให้ประเทศเอเชียตะวันออกอื่นๆ ปล่อยค่าเงินแข็งค่าขึ้นตามจีน และช่วยลดแรงกดดันในการที่จะต้องแทรกแซงค่าเงินของตน ขณะเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวในระดับหนึ่ง คาดว่าสหรัฐฯจะเริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะลดแรงกดดันการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินเอเชียตะวันออกและประเทศในเอเชียตะวันออกสามารถที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายและลดสภาพคล่องลงได้ แต่ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อ เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และเวียดนาม อาจจะเผชิญปัญหาฟองสบู่ที่รุนแรง และเกิดวิกฤติการเงินได้ ขณะที่ประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกรวมถึงไทย ก็อาจจะมีปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ตามมาในอนาคต แม้ว่าจะไม่รุนแรงเท่ากับประเทศกลุ่มแรกก็ตาม ซึ่งเราต้องจับตาดูกันต่อไป

bunluasak.p@cimbthai.com
กำลังโหลดความคิดเห็น