xs
xsm
sm
md
lg

กษัตริย์ปราชญ์กับศาสตร์แห่งการปกครองประเทศ (Philosopher King and Statecraft)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

Plato (428 BC-348 BC) Socrates (469 BC -399 BC) และ Aristotle (384 BC – 322 BC) ชาวกรีกแห่งนครรัฐเอเธนส์ เป็นปฐมบรมศาสดาของปรัชญาเมธีการเมืองตะวันตกที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อความคิดและพัฒนาการเมือง (ประชาธิปไตย) ของตะวันตก

สำนักคิดเพลโตเป็นสำนักเดียวที่โดดเดี่ยวยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ สำนักรัฐศาสตร์ในศตวรรษที่แล้วจนถึงปัจจุบัน มีอยู่สำนักเดียว ที่ใช้ชื่ออาจารย์เป็นชื่อของสำนักได้ อาจารย์รัฐศาสตร์คนอื่นๆ ไม่ว่าจะโด่งดังเพียงใดก็ไม่สามารถเอาชื่อไปตั้งสำนักได้ ยกเว้น Leo Strauss (September 20, 1899 – October 18, 1973) ที่เป็นสานุศิษย์เชี่ยวชาญปรัชญาเพลโต

คณานุศิษย์ของ Strauss เป็นสำนักรัฐศาสตร์หนึ่งเดียวที่ใช้ชื่ออาจารย์ เรียกว่าสำนัก Straussian ประเทศไทยมีศิษย์เอกรุ่นสุดท้ายที่เรียนโดยตรงกับ Strauss คือศาสตราจารย์ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ ซึ่งเรียนเก่งชนะฝรั่ง ได้เกียรตินิยมสูงสุดชั้น summa cum laude

ในยุคที่บุชผู้ลูกเป็นประธานาธิบดีสองสมัย ว่ากันว่า สเตราส์เซียนครองเมือง เพราะสานุศิษย์ของ Strauss หลายคนมีตำแหน่งสำคัญใกล้ชิดตัวประธานาธิบดี สื่อและสังคมขนานนามคนกลุ่มนี้ว่า Neo-Conservative หรือนีโอคอน อนุรักษนิยมใหม่ที่โดดเด่นก็คือ Paul Wolfowitz ประมุขธนาคารโลกที่ต้องลาออกจากเพราะถูกสื่อเปิดโปงเรื่องฉาวขึ้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งให้กิ๊ก เขาเคยเป็นมือสองด้านความมั่นคงที่ว่ากันว่ามีบารมีกว่ามือหนึ่งของบุช

Wolfowitz เรียนรุ่นน้องผมที่คอร์เนล นักเรียนส่วนใหญ่เป็นสายพิราบที่รักสันติภาพและความเป็นธรรมสากล แต่ Paul เป็นประมุขของสายเหยี่ยวที่ถูกประณามว่ากระหายสงคราม ชอบใช้แสนยานุภาพของสหรัฐฯ ข่มขู่ประเทศอื่น และไม่มีความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ยังผลให้ Leo Strauss ปรมาจารย์ผู้ถูกอุปโลกน์ให้เป็นบิดรแห่งนีโอ คอน ถูกก่นด่าว่าร้ายตามไปด้วย

ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะความตื้นเขินของผู้ที่เข้าใจเพลโตและสเตราส์ไม่เพียงพอ หาว่านิยมเผด็จการ เพราะเพลโตได้วิเคราะห์ความบกพร่องของประชาธิปไตยไว้มาก และเห็นว่าประชาธิปไตยสู้การปกครองแบบอภิชนาธิปไตย aristocra cy ที่ผู้ปกครอง (rulers) หรือประมุขเป็นปราชญ์ (Philosopher Kings)ไม่ได้

ผมขอบอกกล่าวและตั้งคำถามกับท่านผู้อ่านพร้อมๆ กันว่า สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของตะวันตกหรือยุโรป ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดกษัตริย์ปราชญ์จริงๆ แม้แต่พระองค์เดียว แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่าไทยเราเคยมีกษัตริย์ปราชญ์มาแล้วหลายยุคหลายพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหลวงองค์ปัจจุบันที่โลกสรรเสริญว่าเป็นกษัตริย์ของกษัตริย์นั้น พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ของปราชญ์อีกด้วย

ผมจะขอเปรียบในหลวงของเรากับเพลโตให้ดู

เพลโตเห็นว่าประเทศหรือประชาชนแห่งนครรัฐนั้นจะฉลาดหากถูกปกครองด้วยปัญญา ปัญญา (wisdom) เป็นคุณสมบัติจำเพาะของผู้ปกครอง (rulers) ในขณะที่ความกล้าหาญ (courage) เป็นคุณสมบัติของผู้คุ้มครอง (auxiliary guardians หรือทหาร)ร่วมกับผู้ปกครองด้วย ส่วนชนชั้นที่สามได้แก่ประชาชนคนงานและผู้ถูกปกครองจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษคือ moderation หรือมัชฌิมาปฏิปทาคือความพอดีสายกลาง

ความยุติธรรม (justice) หรือความเป็นธรรมเป็นคุณสมบัติของทุกคนที่ต่างก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตน (doing one’s own work) ทางสายกลางหรือ moderation ได้แก่การเอาชนะตนเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ ตัณหาหรือความทยานอยาก ไม่อยากหรือไม่ทำเกินหน้าที่หรือความสามารถของตน จนกระทั่งไปล่วงล้ำหรือทำลายหน้าที่ของคนอื่น

ถ้าทุกฝ่ายทำดังนั้น ก็จะเกิดความกลมเกลียว (harmony) และความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว (common purpose)

เพลโตเน้นว่า ความยุติธรรมและความเป็นธรรมหรือ justice คือ ความที่ทุกคนมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด และความร่วมมือกันในหมู่พลเมืองอย่างแข็งขัน สันติสุขและความไพบูลย์ก็จะเกิดขึ้นในวิถีชีวิตของบ้านเมือง

ที่กล่าวมา คือ ความมุ่งหมายหรืออุดมคติของศาสตร์แห่งการปกครองประเทศ (statecraft) เมื่อถูกถามว่าสิ่งนี้จะเป็นไปได้จริงหรือ เพลโตตอบว่า

“บ้านเมืองและมนุษยชาติจะไม่มีทางหนีพ้นความชั่วช้า เว้นเสียแต่ว่าปราชญ์จะได้เป็นกษัตริย์ หรือผู้ที่เป็นกษัตริย์จะต้องศึกษาปรัชญาหรือ philosophy อย่างแท้จริงและเพียงพอจนกลายเป็นปราชญ์ อำนาจทางการเมืองและปัญญาบารมีจึงจะผนวกเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว แต่เดี๋ยวนี้ทั้งสองอย่างไปคนละทาง ผู้ที่เลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีทางประสบความสำเร็จเลย”

ผู้ที่ไม่สงสัยในความเป็นปราชญ์ของพระเจ้าอยู่หัว จะต้องตระหนักว่า ตั้งแต่ทรงมีปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” ในหลวงไม่เคยมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศอย่างแท้จริงเลย เพราะพระราชอำนาจตามหลักและจารีตประชาธิปไตยแบบเดียวกับกษัตริย์อังกฤษ คือ พระราชอำนาจทั่วไป พระราชอำนาจพิเศษ พระราชอำนาจสำรอง ถูกชนชั้นปกครอง เผด็จการและรัฐบาลที่ยึดอำนาจมาด้วยกำลังและเงินเบียดบังเอาไปหมด ในหลวงทรงยอมอยู่ใต้กฎหมายทุกฉบับอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ออก และทรงคอยจนวินาทีสุดท้ายที่จะกอบกู้บ้านเมืองและประชาชนในยามวิกฤต เนื่องจากการละเว้นหรือละเมิดหน้าที่ของผู้อื่น

การปกครองโดยมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของปวงชนชาวไทยภายใต้พระปัญญาบารมีของในหลวงตามจารีตประชาธิปไตยจึงยังไม่เกิดขึ้น และถ้าไม่รีบสร้าง ก็คงจะหมดโอกาสในไม่ช้า

ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสขอครั้งแล้วครั้งเล่าให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สุจริตเที่ยงธรรมสุดความสามารถและเคารพหน้าที่ของผู้อื่น เพื่อยังประโยชน์ให้เกิดความสามัคคีและสงบสุขในบ้านเมือง

ขออัญเชิญพระราชดำรัสล่าสุด 5 ธันวาคม 2552 ดังนี้

“ความสุขความสวัสดีของข้าพเจ้าจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญมั่นคง เป็นปกติสุข.. ความเจริญมั่นคงทั้งนั้น จะสัมฤทธิผลเป็นจริงได้ ก็ด้วยทุกคนทุกฝ่ายในชาติ มุ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มกำลัง ด้วยสติรู้ตัว ด้วยปัญญารู้คิด และด้วยความสุจริตจริงใจ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น

จึงขอให้ท่านทั้งหลาย ในที่นี้ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญอยู่ในสถาบันหลักของประเทศ และชาวไทยทุกคน ทุกหมู่เหล่า ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วตั้งจิต ตั้งใจให้เที่ยงตรง หนักแน่น ที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวมอันไพบูลย์ เพื่อชาติบ้านเมืองอันเป็นที่อยู่ ที่ทำกินของเรา มีความเจริญมั่นคง ยั่งยืนไป”

ผมขอร้องให้พวกเรากลับไปอ่านพระราชดำรัสวันที่ 22 ธันวาคม 2551 แก่นายกอภิสิทธิ์และคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีทั้งหมด 423 คำ ในนั้นมีคำว่า “เรียบร้อย” อยู่ 8 แห่ง ทรงขอร้องอย่าทำให้ชาติล่มจม เพราะปฏิบัติหน้าที่ไม่เรียบร้อย ดังนี้

“ขอให้ท่านพยายามที่จะปฏิบัติงานให้ดีที่สุด เพื่อที่จะให้เมืองไทยมีความเรียบร้อย มีความสุข คือว่า ถ้าทำไม่ดี จะเป็นคนที่อยู่ในตำแหน่งสูง หรือคนทั่วๆ ไปทำไม่ดีคนหนึ่งคนใด ก็ทำให้ประเทศชาติล่มจมได้ ฉะนั้นท่านก็มีหน้าที่สำคัญเพราะท่านอยู่สูง มีหน้าที่สูงก็จะต้องทำให้ประเทศชาติดำเนินไปโดยดี ก็ขอให้ท่านสามารถปฏิบัติงานเพื่อความดีของประเทศ ความสงบสุขของประเทศซึ่งเป็นความจำเป็นที่สุด”

หลังรัฐบาลทำงานครบ 8 เดือนเต็ม ใครเคยอ่านพระราชดำรัสในวันที่ 21 สิงหาคม 2552 บ้าง

“ในระยะนี้บ้านเมืองของเรา เรียกว่าบ้านเมืองกำลังล่มจม ไม่รู้ว่าจะไปไหน ไปอย่างไร” ฯลฯ-ฯลฯ “ ระยะเวลาที่ผ่านมา เรารู้สึกว่า บ้านเมืองเรากำลังล่มจม เพราะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างแย่งกัน ต่างคนต่างไม่เข้าใจว่าทำอะไร

ผมแน่ใจว่าตั้งแต่รัฐประหารปี 2490 เป็นต้นมา เราไม่มี “ศาสตร์แห่งการปกครองบ้านเมือง” ที่เหมาะสม และไม่เคยมีรัฐบาลใดที่เคารพในพระราชอำนาจ หรือคิดจะพึ่งพระปัญญาบารมีอันยิ่งยงของพระเจ้าอยู่หัว

ผมขอถามตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงไปถึงชาวไทยทุกคนว่า ท่านเคยฟังและปฏิบัติตามพระราชดำรัสดีแล้วหรือ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลได้รักษาขื่อแปของบ้านเมืองโดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่ย่อหย่อนตามหน้าที่ดีหรือยัง

หากเมืองไทยยังขาดความยุติธรรมตามคำนิยามของเพลโตและพระเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองจะมีความสงบสุขไม่ได้

นายกฯ อภิสิทธิ์กล่าวเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมนี้เองว่า

“ความยุติธรรมเป็นหัวใจไปสู่ความสงบสุข”

สวัสดีปีใหม่ครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น