xs
xsm
sm
md
lg

ราคาและค่าของความยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ

โดยทั่วไปเรามักจะไม่ค่อยตั้งคำถามกันว่า ความยุติธรรมคืออะไร? เพราะมักจะสันนิษฐานเอาว่า ความยุติธรรมลอยอยู่ในอากาศรอบๆ ตัวเรา เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ตามธรรมชาติ มนุษย์เมื่อเกิดมาในสังคมย่อมได้รับความยุติธรรมตามสมควร ดังนั้นจึงมีคนส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องรับความยุติธรรมที่ถูกยัดเยียดให้ อย่างที่ต้องทำใจให้ยอมรับว่าเป็นผลมาจากกรรมเก่า ตามประสาชาวไทยพุทธที่สงบเสงี่ยมเจียมตัว

ความยุติธรรมตามพจนานุกรมฯ แปลว่า ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ความเสมอภาค การรักษาไว้ซึ่งสิทธิของผู้อื่น หรือการยุติที่ความเป็นธรรม แต่คำถามต่อมาก็คือ แล้วใครจะเป็นผู้กำหนดว่าอะไรชอบธรรม อย่างไหนคือเป็นธรรม

บันทึกของปราชญ์ชาวกรีกนามเพลโต (Plato) ในThe Republic I มีบทสนทนาระหว่างปราชญ์โสเครตีส (Socrates) โพลีมาคุส (Polemarchus) และเทรซีมาคุส (Thrasymachus) เกี่ยวกับความยุติธรรมกับนิยามความหมายว่า “ความยุติธรรมคือผลประโยชน์ของผู้เข้มแข็งกว่า” “Justice is the advantage of the stronger” ซึ่งเป็นประโยคที่น่าสนใจและน่าจะสามารถนำมาถกเถียงกันต่อในบริบทสังคมไทยยุคปัจจุบันได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงนี้ ที่มักจะได้ยินคนวิพากษ์เรื่องปัญหาของสังคมไทยเกี่ยวกับความยุติธรรมกันมาก ทั้งในปัญหาการเมืองระดับชาติไปจนถึงปัญหาเฉพาะบุคคล หลายคนอาจจะเคยเห็นสติกเกอร์ติดตามท้ายรถว่า “ความยุติธรรมไม่มี ความสงบไม่เกิด” การป่าวร้องบนเวทีชุมนุมทางการเมืองเกี่ยวกับความยุติธรรมสองหรือหลายมาตรฐาน หรือการล้อเลียนกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นกระบวนการที่ยุติความเป็นธรรม ฯลฯ ปัญหาเรื่องความยุติธรรมนี้ จึงทำให้สังคมไทยกำลังสั่นคลอน และคนในสังคมกำลังอยู่ในสภาวะที่เครียดกันอย่างถ้วนหน้า

ความจริงแล้ว ปัญหาความยุติธรรมในสังคมไทย ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ หรือจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ปัญหาความยุติธรรมก็ไม่ได้เป็นปัญหาเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติต่อคนฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ หรือต่อนักการเมืองเท่านั้น แต่ความอยุติธรรมได้ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ในสังคมนี้มายาวนานแล้ว ซึ่งก็คือผลจากการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยอาศัยอำนาจรัฐและอำนาจทุน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะสุ่มเสี่ยงของสังคมไทย ในการบ่มเพาะฐานความคิด และทัศนะในการสร้างมาตรวัดคุณค่าความถูกต้อง ความดีงาม ที่สัมพันธ์กับอำนาจทุนทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เมื่อปัจจัยเรื่องทุนได้กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดสถานภาพ ทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคมแล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การแสวงหาและกอบโกยทุนทางเศรษฐกิจนี้กันอย่างไม่เกี่ยงวิธีการ ลัทธินิยมทุนนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อทุกๆ สังคม เพราะการพิจารณามิติเรื่องทุนด้านเดียว ย่อมกัดกร่อน ทำลายโครงสร้างทางคุณค่าของสังคมทั้งระบบ ทดแทนโดยระบบเอารัดเอาเปรียบ ระบบกดขี่ ไปจนถึงการทำลายล้างกัน เพื่อที่จะสามารถครองครองทรัพยากรทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุดเท่านั้น

ในสังคมไทยนั้น ลัทธินิยมทุนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมมายาวนานแล้ว เพียงแต่ว่ายังมีเสาต้นหนึ่งที่ยังเป็นหลักยึดมั่นโครงสร้างทางคุณค่าให้แก่สังคมไทย นั่นก็คือกระบวนการยุติธรรม เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น สังคมไทยยังคงเชื่อมั่นว่า กระบวนการยุติธรรม เป็นกระบวนการที่ยุติข้อพิพาทโดยธรรม เชื่อว่าการยอมรับหรือน้อมรับคำตัดสินเพื่อยุติข้อพิพาทต่างๆ โดยดุษฎี

ตามขั้นตอนการต่อสู้ที่กฎหมายเปิดโอกาสให้นั้น มาจากความศรัทธาต่อบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก อย่างน้อยที่สุดความศรัทธาก็น่าจะเกิดจากวิถีการใช้ชีวิต การปฏิบัติของบรรพตุลาการที่ยึดถือหลักความสมถะ ความพอเพียง ดังจะเห็นได้ว่าสังคมของบรรพตุลาการนั้น จะเป็นสังคมปิด มีวิถีการปฏิบัติตนอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นอย่างมาก มีชีวิตที่ปราศจากความฟุ้งเฟ้อ ไม่แสดงออกถึงการนิยมในวัตถุ ซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันต่อการเข้ามาของลัทธินิยมทุนได้เป็นอย่างดี

แต่กระบวนการยุติธรรมนั้น มีขั้นตอนมากกว่าในชั้นศาลเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งมีตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) และพนักงานอัยการ เข้ามามีส่วนสำคัญยิ่งต่อกระบวนการแสวงหาความยุติธรรม เมื่อมีขั้นตอนมากขึ้น โอกาสในการบิดเบือนความยุติธรรมกลับมีมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากมีบุคคลที่เกี่ยวข้องมาก ทำให้มีช่องว่างสำหรับการวิ่งเต้น ตัดตอนคดีความต่างๆ ได้ง่าย เกิดขึ้นได้ทั้งในชั้นของพนักงานสอบสวน (ว่าจะทำสำนวนอย่างไร มีความเห็นให้สั่งฟ้องหรือไม่) ในชั้นอัยการ (ว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่) ไปจนถึงชั้นศาล (มี 3 ศาลว่าจะตัดสินลงโทษหรือไม่ อย่างไร)

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ความสามารถในการเข้าถึงความยุติธรรมของคนทั่วไปในปัจจุบันนั้น ก็ยากลำบากขึ้นไปทุกที นอกเหนือจากต้นทุนซึ่งมาจากค่าใช้จ่ายตามระบบอย่างเช่น ค่าดำเนินการของทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล เงินวางประกันศาล ค่าประกันตัว ตลอดจนค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ ในระหว่างกระบวนการอำนวยความยุติธรรมอันแสนยาวนาน แล้วถ้าความยุติธรรมยังต้องอาศัยการต่อสู้ที่มุ่งชนะโดยไม่สนใจถึงวิธีการแล้ว ก็ยังจะมีราคาที่ต้องชำระนอกระบบอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งค่าดำเนินการวิ่งเต้นคดี และการจ่ายเงินสินบน

ต้องยอมรับว่าปัจจัยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อความยุติธรรมก็คือเรื่องเงินและผลประโยชน์ ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยเรื่องอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มากก็ตาม อย่างที่เรามักจะเคยได้ยินกันว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้มีผู้ใหญ่ขอมาหรือสั่งมา แต่ถ้าพิจารณาในเชิงความสัมพันธ์แล้ว ก็จะเห็นว่าปัจจัยเรื่องเงินและผลประโยชน์ยังเป็นปัญหารากแก้วที่หยั่งลึก สามารถเข้าถึงขั้วอำนาจได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด

ประเด็นนี้เองที่ทำให้ต้นทุนดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงเรื่องของสินบน (เหมือนกรณีถุงขนม) ซึ่งเป็นเพียงค่าใช้จ่ายที่ปลายทางเท่านั้น แต่ต้นทุนดังกล่าวหมายถึงราคาที่ต้องชำระในการสร้างความสัมพันธ์ (connection) ตั้งแต่ในระดับบุคคลไปจนถึงระดับองค์กรของกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นของขวัญ ของกำนัลสำหรับผู้ใหญ่ในเทศกาลสำคัญๆ การจัดเลี้ยงฉลองในโอกาสต่างๆ การเป็นสปอนเซอร์หรือการสนับสนุนแก่องค์กรในรูปแบบของสาธารณกุศล

รูปแบบความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน ได้พัฒนากลายเป็นเครือข่าย (network) แห่งผลประโยชน์ ซึ่งก็เหมือนกับที่เราเห็นได้ในสังคมธุรกิจและสังคมการเมือง แต่ก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้เครือข่ายผลประโยชน์ได้ก้าวเข้าไปครอบงำสังคมของกระบวนการยุติธรรมแล้วด้วย เครือข่ายผลประโยชน์นั้นก็คล้ายกับตลาดธุรกิจและตลาดการเมือง กล่าวคือเปรียบความยุติธรรมเป็นตัวสินค้า มีกลุ่มผู้ซื้อที่แสวงหาทุนทางเศรษฐกิจโดยไม่เกี่ยงวิธีการ และกลุ่มผู้ขายก็คือผู้ที่อยู่ในอำนาจ (authorized person) ซึ่งประสงค์ต่อเงินทุน ที่จะใช้ในการซื้อหาตำแหน่ง เพื่อการส่งเสริมอำนาจบารมีของตัวเองต่อไป นอกจากนี้ยังมีกลุ่มตัวกลาง (agent) ทำหน้าที่เป็นตัวเจรจาประสานประโยชน์กันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

ความจริงแล้วรูปแบบเครือข่ายผลประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรมนี้ ก็ไม่สามารถจะสถาปนาขึ้นได้ง่ายนัก เพราะในระบบราชการทั่วไปจะมีระบบอาวุโสควบคุมอยู่ระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันระบบอาวุโสนี้ก็ยังคงอยู่ (ในนาม?) ก็ตาม แต่กระแสการแทรกแซงทางการเมืองก็มีมากจนกระทั่งระบบดังกล่าวได้ถูกสั่นคลอน โดยกลยุทธ์การวิ่งเต้นตำแหน่งและการซื้อขายตำแหน่งอย่างที่มักจะได้ยินกันอยู่เสมอ

ผู้เขียนทราบดีว่า สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหานี้มายาวนานกว่าสองทศวรรษแล้ว ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาหลายองค์กร ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการสิทธิฯ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฯลฯ แต่ก็ดูเหมือนว่าปัญหาดังกล่าวก็ยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคง ทั้งยังกลับดูเหมือนว่าจะแพร่ขยายไปสู่องค์กรอิสระต่างๆ อีกด้วย นั่นเป็นเพราะว่าการสร้างองค์กรใหม่ตามรัฐธรรมนูญ เข้ามาเพื่อที่จะควบคุมถ่วงดุลการใช้อำนาจของระบบราชการ แต่กลับอาศัยการโอนย้ายบุคลากรมาจากระบบราชการเดิมเข้ามาสู่องค์กรใหม่ จึงคาดหวังได้ยากว่าองค์กรอิสระฯ เหล่านี้ จะสามารถปลอดจากระบบเครือข่ายผลประโยชน์ได้อย่างสิ้นเชิง

แต่สิ่งที่น่าจะอันตรายกว่าการสถาปนาเครือข่ายผลประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรม ก็คือ การเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะถ้าสังคมจะกลายไปเชื่อตามนิยามที่ว่า “ความยุติธรรมคือผลประโยชน์ของผู้เข้มแข็ง (หรือมั่งคั่ง) กว่า” แล้ว ราคาของการเข้าถึงความยุติธรรมในสังคมไทยก็คงจะแพงกว่าที่เป็นอยู่นี้หลายเท่า ไปจนกระทั่งอาจจะไม่มีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่อีกต่อไปก็ได้

                                                       ptorsuwan@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น