xs
xsm
sm
md
lg

โทลล์เวย์โบ้ยรัฐทำรายได้สูญ 2.4 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“โทลล์เวย์”แจงรัฐผิดสัญญาทำบริษัทเสียหายรวม 24,000 ล้านบาท ยันแก้สัมปทาน 2 ครั้ง เพื่อชดเชย คืนให้บริษัททั้งการปรับอัตราค่าผ่านทางและขยายสัญญาถึงปี 2577 โต้ไม่ใช่สัญญาทาส ระบุสัญญาใหม่ ตลอดอายุสัญญาใหม่ ผลตอบแทนลงทุนเหลือ 9% จากเดิมที่ 14.5% ยันโทลล์เวย์ไม่ผิดสัญญาข้อ 6ชี้กรณีวอเตอร์บาวน์ฟ้องรัฐบาลไทยในฐานะนักลงทุนไม่ใช่ผู้ถือหุ้น ฟุ้งคนหายตกใจปริมาณรถบนโทลล์เวย์เริ่มขยับเพิ่มวันละ 500 คัน ขณะที่ สรส.รวมตัวประท้วงบุกทำเนียบรวมตัวประท้วงค้านขึ้นค่าทางด่วนหน้าเลือด จี้รัฐให้เร่งสะสางเพราะประชาชนเดือดร้อนหนัก

นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ เปิดเผยว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทาน 12 ก.ย.2550 การปรับขึ้นค่าผ่านทางเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2552 ดำเนินการอย่างถูกต้อง โปร่งใสและเป็นธรรมกับทั้งเอกชนและรัฐ และอัตราค่าผ่านทางที่กำหนดในสัญญาฉบับแก้ไขปี 2550 คำนวณจากความเสียหายที่บริษัทได้รับตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปี 2549 จากการที่รัฐผิดสัญญา ทั้งการสร้างทางแข่งขัน ,ไม่ให้ค่าผ่านทางตามสัญญา เป็นต้น จนทำให้มีการแก้ไขสัญญา 2 ครั้ง คือในปี 2539 ประเมินความเสียหายประมาณ 9,000 ล้านบาท และในปี 2550 อีก 15,000 ล้านบาท รวม 24,000 ล้านบาท

โดยเมื่อบริษัทฟ้องร้องกรมทางหลวงที่ทำผิดสัญญา ฝ่ายรัฐจึงเลือกแนวทางการเจรจาแทนการต่อสู้คดี เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์การลงทุน และมีค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีซึ่งต้องใช้เงินภาษีมาดำเนินการ จึงเจรจาเพื่อให้สิทธิบริษัทเป็นการชดเชยแทน ซึ่งคำนวณกลับมาเป็นอัตราค่าผ่านทางใหม่และการขยายอายุสัมปทาน โดยยืนยันว่า แม้จะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางและปรับอายุสัญญาฉบับแก้ไขปี 50 ออกไป 27 ปี โดยสิ้นสุดปี 2577 นั้น ผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยตลอดอายุโครงการลดลงเหลือ9% จากสัญญาฉบับแรกที่มีผลตอบแทนการลงทุน 15.8% และแก้ไขฉบับ 2 ผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ 14%

นายธานินทร์กล่าวว่า ผู้ลงทุนของบริษัท ต้องประสบกับการขาดทุนมาตลอดตั้งแต่สัญญาเริ่มปี 2532 นับจากปี 2537 ที่เปิดใช้โครงการ ขาดทุน 1,000 ล้านบาท ต่อมาปี 2539 ฝ่ายรัฐทำผิดสัญญาทันที จนถึงปี 2540 ขาดทุนสะสมเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท ปี 2550 ขาดทุนสะสมเพิ่มเป็น 2,400 ล้านบาท ซึ่งบริษัทต้องลดทุนลง 4,300 ล้านบาท ซึ่งทำให้ปี 2551 และ2552 บริษัทเริ่มมีกำไรโดยขาดทุนสะสมลดลงเหลือ4,000 ล้านบาท

“ยืนยันว่าสัญญานี้จึงไม่ใช่สัญญาทาสเพราะผู้ลงทุนก็ต้องแบกรับการขาดทุนมาตลอด 19 ปี การแก้ไขสัญญาปี 2550 ผ่านคณะกรรมการที่มีผู้แทนจากหน่วยงานกลาง เช่น อัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง ร่วมอยู่ด้วย และจากสัญญาสัมปทานเริ่มต้นเมื่อปี 2532 ก่อนที่จะมีพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 การแก้ไขสัญญา จึงเข้าบทเฉพาะกาลมาตรา 25 โดยตั้งคณะกรรมการตามมาตร 22 ของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ“

**ยันโทลล์เวย์ไม่ผิดสัญญาข้อ 6

นายธานินทร์ ยืนยันว่า บริษัทได้ดำเนินการถอนการฟ้องร้องทุกคดีที่มีข้อพิพาทภายใน 30 วันตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาข้อ 6 ฉบับแก้ไขปี 2550 ดังนั้นบริษัทไม่ได้ผิดสัญญา ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมตั้งข้อสังเกตบริษัทวอเตอร์บาวน์ จำกัด ซึ่งเคยเป็นผู้ถือหุ้นของโทลล์เวย์ 9% ฟ้องรัฐบาลไทย นั้นวอเตอร์บาวน์ไม่ใช่ โทลล์เวย์ จึงไม่เกี่ยวกับบริษัท โดยวอเตอร์บาวน์ฟ้องรัฐบาลไทยในฐานะนักลงทุนเยอรมัน ตามสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลเยอรมันกับรัฐบาลไทย ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นบริษัทจึงทำอะไรไม่ได้

**แจง”สมบัติ”ฟ้องกลับวอเตอร์บาวน์ไม่ยุติข้อพิพาท

โดยวอเตอร์บาวน์ไม่เห็นด้วยกับการที่บริษัทจะเจรจากับกรมทางหลวงและแก้ไขสัญญากัน โดยยืนยันที่จะฟ้อง ขณะที่บริษัทยืนยันว่าจะไม่ฟ้อง ดังนั้น ปลายปี 2549 นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัททางยกระดับดอนเมือง ได้ซื้อหุ้นคืนจากวอเตอร์บาวน์ในราคาที่แพงเพื่อให้วอเตอร์บาวน์ยุติคดี และเพื่อช่วยรัฐบาลไทย แต่วอเตอร์บาวน์ไม่ยุติ

นายสมบัติจึงฟ้องกลับวอเตอร์บาวน์ที่ไม่ทำตามสัญญาและแจ้งไปยังกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมให้รับทราบเรื่องนี้เมื่อปี 2551 โดยข้อพิพาทระหว่างนายสมบัติและวอเตอร์บาวน์จะมีการพิจารณาในปี 2553 ที่ศาลประเทศสวิสเซอร์แลนด์หรือสิงคโปร์

**หายตกใจปริมาณรถขยับเพิ่ม

ส่วนการปรับขึ้นค่าผ่านทางเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2552 ช่วงดินแดง-ดอนเมือง จาก 35 เป็น 60 บาทสำหรับรถ 4 ล้อนั้น บริษัทได้ มีการวิจัยและสอบถามผู้ใช้ทางประเมินว่า จะมีปริมาณจราจรลดลง 30% จากเฉลี่ยที่ 80,000 คันต่อวันหรือมีรถลงไปใช้ถนนวิภาวดีรังสิตประมาณ 25,000 คันต่อวัน ซึ่งจำนวนนี้เทียบสัดส่วนกับปริมาณรถบนถนนวิภาวดีฯ เท่ากับเพิ่มขึ้น 10% จากจำนวนรถเฉลี่ยของวิภาวดีประมาณ 250,000 คันต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางบนถนนวิภาวดีฯ เพิ่มจากเดิม 5 นาที

นายธานินทร์กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณจราจรบนโทลล์เวย์เริ่มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 500 คันต่อวัน จากวันแรกที่มีการปรับขึ้นค่าผ่านทางมา อยู่ที่ 57,000 คันต่อวัน เพิ่มเป็น 58,000 คันต่อวัน เนื่องจากโทลล์เวย์มีความสะดวกกว่านอกจากนี้บริษัทยังออก 7 มาตรการเพื่ออำนวยความสะดวก เช่นการติดป้ายประชาสัมพันธ์ เช็คข้อมูลสภาพ จราจร เป็นต้น

**สรส.บุกทำเนียบจี้ รบ.ยกเลิกขึ้นค่าโทลล์เวย์

วันนี้ (25 ธ.ค.) กลุ่มสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย หรือ สรส.จำนวน กว่า 50 คนเดินทางมารวมตัวประท้วง ตั้งแต่ บริเวณทางด่วนโทลล์เวย์ ดินแดง และร่วมกันเดินเท้ามาถึงจนบริเวณทางโทลล์เวย์ สุทธิสาร เนื่องจากเกิดความไม่พอใจที่ทางเอกชนปรับขึ้นราคาค่าทางด่วนแบบไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ บรรยากาศในการประท้วงนั้น ทางแกนนำได้ขึ้นเวทีปราศรัยโจมตี ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและการประท้วงดังกล่าว ก็ส่งผลกระทบ ทำให้การจราจรเคลื่อนตัวช้าตลอดจนติดขัด ในบางช่วง

นายศิริชัย ไม้งาม ประธาน สรส.เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทั้งหมดได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้เข้ามาดูแลตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่ม สรส.ยังไปรวมตัวประท้วงกันบริเวณทำเนียบนรัฐบาลอีกด้วย โดยปราศรัยเรียกร้องนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ให้เร่งแก้ปัญหากรณีบริษัท ดอนเมืองโทลล์เวย์ ขึ้นค่าผ่านทาง โดยระบุว่า ในนามของตัวแทนประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาโดยด่วน เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น