xs
xsm
sm
md
lg

แฉ"คอปกขาว"ทุจริตหนัก ซิกแซกงาบหัวคิว30-40%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (23 ธ.ค.) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “หยุดวิกฤตปัญหาคอร์รัปชั่น” มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนาว่า ไทยติดอันดับ 84 จาก 180 ประเทศ เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย หลายคนคิดว่า ไม่สำคัญ แต่ปัญหาคอร์รัปชั่นเกี่ยวพันกับชีวิตของทุกคน ปัจจุบันการแก้คอร์รัปชันของไทย มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ป.ป.ช. - ปปง. กลุ่มองค์กรเอกชน เป็นกลไกระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพที่สุด
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวปาฐกถาเรื่อง “วิกฤตปัญหาคอร์รัปชัน” ว่า สถานการณ์ทุจริตที่ ป.ป.ช.รับผิดชอบ มีงานตกค้างจากชุดเดิม ปัญหารุนแรงที่สุดมี 2,933 คดี คือการทุจริตใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ การละเว้นการปฏิบัติ การใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ รองลงไปคือ การทุจริตทำลายสภาพแวดล้อม 371 คดี การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐหรือ พ.ร.บ.ฮั้ว 293 คดี การทุจริตที่กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คือ การจัดทำบริการสาธารณะ 34 คดี การก่อสร้างอาคารสถานที่ราชการ 26 คดี การทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองท้องถิ่นต่างๆ ก็เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แบ่งเป็นการทุจริต 2,054 คดี การทุจริต และร่ำรวยผิดปกติ 36 คดี ฮั้วและทุจริต 542 คดี สำหรับการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใน กทม. มีร้องเรียนเข้ามา 132 คดี แบ่งเป็นการทุจริต 106 คดี ทุจริตและร่ำรวยผิดปกติ 2 คดี ฮั้วและทุจริต 24 คดี
นายวิชา กล่าวต่อว่า การตรวจสอบและป้องกันการทุจริตของไทย ปัจจุบันยังเอาไปปะปนกับอาชญากรรมประเภทอื่น ไม่แยกเป็นอาชญากรรมพิเศษ ซึ่งนักวิชาการเรียกว่าการทุจริตคอปกขาว เพราะเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับอาชญากรรมประเภท ลักวิ่งชิงปล้น การทุจริตคอปกขาวเป็นอาชญากรรมชั้นสูง ทำให้การปราบปรามเกิดความล้มเหลว การไปใช้วิธีการสอบสวน ไต่สวน เหมือนอาชญากรรมทั่วไป ที่ต้องหาพยานวัตถุ เป็นการไม่รู้ข้อเท็จจริงของปัญหา เพราะถึงจับได้ไล่ทันจะตัดหัวคั่วแห้งก็ยังไม่ยอมรับผิด โดนถามกลับมาว่า มีใบเสร็จหรือไม่ ทั้งที่เอาเงินออกไปแล้ว เป็นพวกค่าคอมมิชชันตั้งแต่ 10 เปอร์เซ็นต์ และซ่อนเร้นตั้งแต่ขั้นกำหนดราคากลาง ที่มีการบวกเปอร์เซ็นต์ไว้แล้ว ส่งผลให้อาชญากรพวกนี้แสวงหาประโยชน์ได้ เพราะคนพวกนี้เป็นผู้มีตำแหน่งระดับสูง สภาพของสังคมทำให้เกิดความยุ่งยากในการปราบปราม ตราบที่เราไม่จัดวางระบบให้ชัดเจน ป.ป.ช. มีความตั้งใจทำจริงจัง แต่ทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย เพราะเราไม่ใช่นารายณ์ 4 กร สิ่งที่สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการปราบปรามคอร์รัปชัน ด้วยการต่อต้านระบบอุปถัมภ์ นำไปสู่การปกครองด้วยระบบคุณธรรม และบังคับใช้กฎหมายจริงจัง โดยเฉพาะกระบวนการถอดถอน และการลงโทษ ที่สำคัญคือให้โอกาสผู้ร่วมกระทำความผิด กลับตัวกลับใจมาเป็นพยาน โดยมีกฎหมายคุ้มครองพยาน
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อภิปรายเรื่อง “ตีแผ่ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย” ว่า รูปแบบคอร์รัปชันในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ขั้นริเริ่ม และเปลี่ยนแปลงโครงการ ได้แก่ การจัดทำสัญญาไม่รัดกุม หรือไม่เป็นไปตามระเบียบ การต่อสัญญาขยายระยะเวลาโดยงดหรือลดค่าปรับ การกีดกันไม่ให้คู่แข่งเข้าร่วมประมูลโดยล็อกตั้งแต่ขั้น ทีโออาร์ การกำหนดเงินค้ำประกันสูงเกินควร การใช้บริการที่ปรึกษา ขั้นดำเนินการ ได้แก่ การกำหนดการจ่ายเงินเป็นงวดๆ แต่ไม่ระบุผลงานแต่ละงวด ผู้ควบคุมงานบันทึกรายงานควบคุมไม่ตรงจริง จึงเบิกจ่ายเงินแต่งานไม่คืบหน้า ขั้นตรวจรับงาน ได้แก่ คณะกรรมการตรวจรับรายงานว่าครบถ้วน และถูกต้อง แต่ยังไม่มีการแก้ไขหรือจ่ายแพงไป การจัดซื้อไม่เป็นไปตามเงื่อนไข การไม่ตรวจรับงาน อื่นๆ ได้แก่ ไม่ตรวจสอบ หรือวางแผนการตรวจสอบข้อบกพร่อง ชำรุดก่อนคืนหลักประกันสัญญา การคืนก่อนหมดภาระข้อผูกพันตามสัญญา การเบิกค่าเช่าห้องพักค่าใช้จ่ายเดินทางโดยไม่มีการพักจริง ซื้อหรือจ้างแต่ตรวจรับงานแล้วไม่ได้ใช้จริง หรือการจัดอีเว้นต่างๆโดยจ้างออร์กาไนเซอร์ ตรงนี้กินกันถึงสองเท่า
คุณหญิงจารุวรรณ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สตง. พยายามตรวจสอบและไม่ได้จงใจไปกลั่นแกล้งใคร ซึ่งผลงานก็ออกมาดี แต่ไม่สามารถดำเนินคดีได้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็บอกว่า สตง.ถูกกฎหมายมัดมือมัดเท้า ทำให้ร่างกฎหมายตรวจเงินแผ่นดินฉบับใหม่ได้แก้ไขในเรื่องนี้ ยืนยันว่า สตง.ไม่ได้งกอำนาจ เพราะ สตง.จะฟ้องได้ต่อเมื่อส่งสำนวนให้อัยการแล้วอัยการไม่ฟ้อง ก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกัน หากไม่ฟ้องอีก ก็ค่อยเป็นหน้าที่สตง. ที่จะฟ้องเองได้ นอกจากนี้ร่างกฎหมายใหม่ ไม่เปิดโอกาสให้ตนได้เป็นผู้ว่าฯสตง.ได้อีกสมัยตามที่มีคนโจมตี
ด้านนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผอ.โครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวว่า หลักคิดที่ใช้มองเรื่องการทุจริต มี 3 ประการ คือ
1. การไม่รู้อะไรดี อะไรชั่ว เช่น มีส.ส.บอกอยากจะเตะส.ส.อีกคน ก็ถือเป็นทุจริตแล้ว 2. พิจารณาที่กฎหมาย และ 3. พิจารณาที่ผลประโยชน์ของประชาชน
ส่วนรูปแบบการคอร์รัปชั่น อาทิ การล็อกสเปก การนำเงินหลวงมาเป็นของตนเอง ข้าราชการเพิกเฉยธุรกิจสีเทา การทุจริตภาษี การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การซื้อขายเสียง การมีผลประโยชน์ทับซ้อน การให้สัมปทานฮั้วประมูล การติดสินบน การขู่นักธุรกิจ ผลประโยชน์ทับซ้อนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การปกปิดการบริหารงานที่ไม่ถูกต้องเช่น โครงการชุมชนพอเพียง การใช้กฎหมายอย่างมีอคติ การใช้ทรัพยากรของรัฐโดยมิชอบ ที่น่าสนใจคือ นักการเมืองผูกขาดทรัพยากรสร้างอาณาจักรของตนเองต่อสายสร้างอิทธิพลถึงระบบการประมูลใหญ่ๆ การดันคนของตนเองขึ้นไปหัวองค์กร ทำให้คุมกันได้ทั้งระบบ ซึ่งเห็นชัดในสมัยรัฐบาลทักษิณ เป็นการทุจริตเชิงโครงสร้าง ทุกคนเป็นพวกเดียวกันหมดช่วยกันทำหลักฐานให้ถูกกฎหมาย แต่ผลคือกีดกันนักธุรกิจหน้าใหม่ ทำให้เหลือ 3-4 รายฮั้วกัน หรือบางครั้งคนโกงก็อยู่หลังฉาก ตั้งคนมาทำหน้าที่แทน เหล่านี้ไม่มีหลักฐานสาวไปถึงนักการเมืองได้ ตอนนี้ได้ยินว่าชักกันถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ แถมต้องจ่ายให้ล่วงหน้า 10-20 เปอร์เซ็นต์
นายสังศิต กล่าวว่า การลดคอร์รัปชั่น ต้องทำ 8 เรื่องพร้อมกัน คือ การลดความยากจน การสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ระบบการบริหารราชการแผ่นดินต้องอยู่ในระบบคุณธรรม ความสามารถและประสิทธิภาพ การแก้เรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารธุรกิจ ระดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ระดับความมีธรรมาภิบาล ความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และการสร้างภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งเพียงพอ ทั้งนี้การคอรัปชันไม่ใช่มีเพียงติดสินบน รับเงินใต้โต๊ะ ฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ยังมีเรื่องความเสื่อมโทรมของคุณธรรมจริยธรรมของบุคคลสาธารณะ ซึ่งหากไม่รับรู้ถึงความถูกผิด ก็ถือเป็นการทุจริต อย่างกรณี บอร์ดรัฐวิสาหกิจรายหนึ่ง เอากระเป๋าเข้ามาทางสนามบินมากมายโดยไม่จ่ายภาษี กลับมาบอกว่า ถ้าผิดจริงยินดีจะจ่ายค่าปรับ หรือกรณีอดีตนายกฯ รายหนึ่งกับผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการออกนโยบายสาธารณะ ที่ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น