xs
xsm
sm
md
lg

“ปธ.คตส.” มัดตราสังยึดทรัพย์ “แม้ว” แฉไทยคมให้ทุนเฉพาะ ม.ชินวัตร!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว
“นาม ยิ้มแย้ม” อดีต ปธ.คตส. และคุณหญิงจารุวรรณ ขึ้นศาลไต่สวนยึดทรัพย์แม้ว 7.6 หมื่นล้าน ยันมีหลักฐานทรัพย์สินขายหุ้นชินฯ ได้มาไม่ชอบ ศาลนัดไต่สวนพยานอัยการอีก 2 ปาก 15 ธ.ค.นี้ ส่วน“ กล้านรงค์-สุรเกียรติ์” รอเบิกความ 22 ธ.ค.นี้

วันนี้ (3 ธ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน ไต่สวนพยานอัยการ คดีที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ใช้อำนาจหน้าที่ขณะดำรงตำแหน่งออกนโยบาย 5 มาตราเอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัว อันเป็นการทับซ้อนประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม รวมทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อบุคคลในครอบครัว และบุคคลใก้ลชิดรวม 22 ราย ซึ่งเป็นผู้คัดค้าน มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาทที่ได้จากการขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน

โดยวันนี้ อัยการนำพยานซึ่งเป็นอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไต่สวนรวม 2 ปาก ประกอบด้วย นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธาน คตส. และคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีต คตส. ซึ่งเป็นประธานอนุ คตส.ติดตามทรัพย์สินที่ คตส.มีคำสั่งให้อายัดคดีนี้

ทั้งนี้ นายนาม อดีตประธาน คตส.เบิกความตอบอัยการยืนยันว่าไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ขณะที่การไต่สวนคดีนี้ได้ตั้งอนุ คตส.ขึ้นมารับผิดชอบสำนวน ซึ่งพยานหลักฐานที่รวบรวมได้เพียงพอที่แสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นได้มาโดยไม่ชอบ

ขณะที่ทนายความฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามซักถามพยานเกี่ยวกับอดีต คตส.3 คน คือ นายแก้วสรร อติโพธิ นายบรรเจิด สิงคะเนติ และนายกล้านรงค์ จันทิก ที่ร่วมลงมติคดีนี้ว่าเคยถูกร้องเรียนว่าเป็นปฏิปักษ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เหตุใดยังคงทำหน้าที่ร่วมลงมติซึ่งไม่ชอบตามกฎหมาย ป.ป.ช. โดยนายนาม อดีตประธาน คตส.ตอบว่า ไม่เคยอ่านหนังสือเรื่องหยุดระบอบทักษิณที่นายแก้วสรรเขียน แต่ทราบว่ามีการเขียนหนังสือซึ่งถือเป็นเรื่องทางวิชาการ เหมือนกรณีที่นายบรรเจิดเคยเป็นผู้บรรยายตามมหาวิทยาลัยราชภัฏ เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนการหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีหรือไม่ตามระเบียบ ป.ป.ช.ข้อ 11 และ 12 พยานเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในการร่วมประชุม ซึ่งพยานได้นำเรื่องการร้องเรียนเข้าที่ประชุมแต่ไม่มีการสั่งให้ทั้งสามหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเรียนคิดเองฝ่ายเดียว ส่วนการเขียนหนังสือและการเป็นผู้บรรยายเป็นเรื่องวิชาการ ขณะที่การไต่สวนสำนวนมีการแต่งตั้งอนุ คตส.รับผิดชอบ

ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงถามอีกว่าเหตุใดจึงมีการประชุม คตส.เพื่อลงมติ และมีคำสั่งอายัดทรัพย์ภายในวันเดียวกันที่ 11 มิ.ย.50 และการสั่งอายัดทรัพย์ มี คตส.4 คน คือ นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์, นายสัก กอแสงเรือง, นายอำนวย ธันธรา และนายจิรนิติ หะวานนท์ ที่เห็นแย้งเพราะเห็นว่ามีหลักฐาน ไม่เพียงพอใช่หรือไม่ อดีตประธาน คตส.ตอบว่า การประชุมนั้นไม่ใช่การมีคำสั่งอายัดโดยทันที แต่ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานที่พบความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงมาก่อนแล้ว ส่วนที่ คตส.มีมติ 7 ต่อ 4 ให้อายัดทรัพย์นั้น ไม่ใช่มีหลักฐานไม่เพียงพอ แต่ คตส.4 คนเห็นว่าควรสอบเพิ่มเติมให้หลักฐานมัดแน่นขึ้นอีก แต่ 7 เสียงเห็นว่าหลักฐานที่มีอยู่เพียงพอแล้ว

เมื่อทนายความ พยายามถามถึงการไม่เปิดโอกาสเต็มที่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าว และผู้มีชื่อเจ้าของทรัพย์สิน ผู้คัดค้าน ได้พิสูจน์ทรัพย์ อดีตประธาน คตส.กล่าวย้ำว่า คตส.เคยมีคำสั่งให้ผู้มีชื่อเจ้าของทรัพย์สิน ยื่นหนังสือพิสูจน์ภายใน 60 วัน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ชี้แจงแล้ว ขณะที่มีทรัพย์สินบางรายที่ คตส.ได้สั่งเพิกถอนอายัดหลังเจ้าของทรัพย์นั้นพิสูจน์ที่มาที่ไปได้ ส่วนที่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา เคยขอดูพยานหลักฐานการไต่สวน อ้างสิทธิ รธน.มาตรา 40 นั้น หากเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้อง คตส.ก็ไม่มีคำสั่งอนุญาต ซึ่งการทำงาน คตส.มีกรอบเวลาตามประกาศ คปค.1 ปี และมีการต่ออายุอีกประมาณ 9 เดือน โดยหมดวาระ 30 มิ.ย.51 ดังนั้น หาก คตส.เห็นว่าเรื่องใดมีลักษณะเป็นการประวิงเวลา คตส.ก็จะไม่ยอม ทั้งนี้ อดีต ประธาน คตส.ยังตอบคำถามทนายความด้วยว่า การสั่งยึดอายัดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีการตั้งสินบนไว้สำหรับผู้แจ้งเบาะแสนั้น คตส.ไม่มีสิทธิได้รับแต่อย่างใด

ด้านคุณหญิงจารุวรรณเบิกความตอบอัยการว่า การติดตามทรัพย์สินสืบเนื่องมาจาก การตรวจสอบว่าการขายหุ้นชินฯ ให้เทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.49 โดยการตรวจสอบพบรายได้จากการขายหุ้นจำนวนหลายล้านหุ้น มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่พบหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีของบุคคลในครอบครัวชินวัตรและบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สิน 22 ราย รวม 21 บัญชี พยานในฐานะประธานอนุฯ คตส.ติดตามตามทรัพย์สิน ได้ตั้งคณะทำงานติดตามเส้นทางการโอนเงินไปยังบัญชีต่างๆ ที่เริ่มตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.50 - 11 ธ.ค.50 และต่อมาคตส.มีคำสั่งอายัดทรัพย์รวม 15 คำสั่ง ซึ่งทรัพย์ที่อายัดไว้มีทั้งบัญชีเงินฝาก กองทุนและกองทุนเปิดสถาบันการเงินต่างๆ หุ้นในธนาคาร ตั๋วสัญญาการใช้เงินและโฉนดที่ดิน มูลค่า 6.9 หมื่นล้านบาท ส่วนยอดเงินที่เหลืออีกหลายพันล้านบาทติดตามไม่ได้ จนถึงที่สุดเพราะมีการแตกยอดบัญชีออกเป็นหลายบัญชี

ทั้งนี้ยืนยันว่า การอายัดทรัพย์สิน คตส.พิจารณาเฉพาะเงินที่ได้จากการขายหุ้น ส่วนทรัพย์สินอื่นที่สามารถพิสูจน์ที่มาที่ไปว่าได้มาโดยสุจริตถูกต้อง คตส.ก็ไม่ได้อายัดไว้ พร้อมกับสั่งเพิกถอน ตัวอย่างเช่น บัญชีของมูลนิธิไทยคม มูลค่า 300 ล้านบาท ซึ่งชี้แจงว่ามีวัตถุประสงค์เป็นองค์กรสาธารณกุศล ซึ่งแม้ในการประชุมพยานตั้งข้อสังเกตว่า การเป็นองค์กรสาธารณกุศลจะต้องดำเนินการมาไม่น้อยว่า 3 ปี และรายได้ 75 เปอร์เซ็นต์จะต้องใช้จ่ายเพื่อสาธารณกุศลจริงๆ ขณะที่มีหลักฐานว่ามูลนิธิไทยคมนำรายได้เป็นทุนการศึกษาให้เฉพาะมหาวิทยาลัยชินวัตรเท่านั้น ซึ่งมี น.ส.พิณทองทา บุตรสาวเป็นกรรมการและผู้ได้รับประโยชน์อยู่ด้วย แต่ที่ประชุม คตส.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่ามีการนำเงินใช้จ่ายเพื่อสาธารณกุศล เช่นเดียวกับบัญชีบริษัท สมพรแอสโซสิเอท บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ที่พบยอดเงินเข้า 100 ล้านบาท คตส.ได้เพิกถอนอายัดเพราะได้มีการชี้แจงว่าเป็นเงินรายได้จากค่าตอบแทนวิชาชีพและมีการแสดงว่าให้บริการในด้านใดบ้าง ซึ่งมีตนจะเห็นว่ายอดเงินค่าตอบแทนจะมีมูลค่าสูงก็ตาม

ขณะที่ คุณหญิงจารุวรรณ ตอบทนายความฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณว่า การอายัดทรัพย์สินของคตส.หลังการขายหุ้นเมื่อต้นปี 2549 ซึ่งผ่านไปแล้ว 1 ปี 5 เดือน เนื่องจากหลังการขายได้ปรากฏหลักฐานว่าเงินซื้อขายได้โอนเข้าบัญชีของบุคคลต่างๆ ขณะเงินส่วนใดที่ไม่เกี่ยวข้อง คตส.ไม่ได้อายัดไว้ ซึ่งการทำงาน คตส.ไม่ได้คิดที่จะนำเงินนั้นมาเป็นส่วนตัว และการทำหน้าที่ไม่เคยนำความรู้สึกส่วนตัวมามีคำสั่งใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการไต่สวนวันนี้ ซึ่งทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณพยายามซักถามพยานทั้งสองปากเกี่ยวกับความไม่เป็นกลางของบุคคลที่เป็น คตส. ศาลได้ชี้แจงกับทนายความว่าบางประเด็นที่ทนายความถามเป็นเรื่องข้อกฎหมายซึ่งศาลวินิจฉัยเองได้ ซึ่งการที่ทนายความซักถามประเด็นดังกล่าวซ้ำหลายครั้ง ไม่ทำให้เกิดความคืบหน้าการพิจารณา เพราะประเด็นที่สำคัญ คือ การไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่ามีการซุกหุ้นจริงหรือไม่ และทรัพย์สินที่ยื่นคำร้องสมควรถูกยึดอายัดหรือไม่

ภายหลังศาลไต่สวนพยาน 2 ปากเสร็จสิ้นแล้ว นัดไต่สวนพยานอัยการ ปากต่อ คือ นายวิวัฒน์ สุทธิภาค เกี่ยวกับประเด็นดาวเทียมไอพีสตาร์ ต่อจากที่ พล.อ.อ.บุญจง อุดมสรยุทธ เบิกความไว้แล้ว และนายมิตร เจริญวรรณ ตัวแทนสหภาพแรงงานบริษัท ทศท ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ 09.30 น. ส่วนนายกล้านรงค์ อดีต คตส. ศาลนัดไต่สวนพร้อมกับและนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี วันที่ 22 ธ.ค.นี้ หลังนายสุรเกียรติ์ได้ส่งหนังสือแจ้งศาลว่าระหว่างวันที่ 27 พ.ย. - 18 ธ.ค.นี้ ยังติดภารกิจต่างประเทศ

ขณะที่ นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธาน คตส.ได้กล่าวว่า ตนไม่ได้รู้สึกอึดอัดอะไรที่ต้องถูกทนายความซักถามประเด็นความเป็นปฏิปักษ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ยังสบายดี
กำลังโหลดความคิดเห็น