xs
xsm
sm
md
lg

"อภิสิทธิ์"ฟุ้งผลงาน1ปี ฟื้นความเชื่อมั่น-แก้ศก.-ลดว่างงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ ( 20 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปี ผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ก่อนที่จะมีการแถลงจริงในช่วงบ่าย ของวันพุธที่ 23 ธ.ค.นี้ ว่า ก็จะมี 3 ส่วน
ส่วนแรกจะเป็นภาพใหญ่ว่า 1 ปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปบ้าง เนื่องจากรัฐบาลนี้เข้ามาทำงานภายใต้วิกฤตซ้ำซ้อน คือเจอทั้งปัญหาเศรษฐกิจ กับวิกฤตทางการเมือง และเมื่อปลายปีที่แล้ว ความกังวล หรือความทุกข์ของคนไทยทุกคนคือว่า ไม่แน่ใจว่าระบบการเมือง ระบบการบริหารประเทศของเรายังเดินหน้าได้หรือเปล่า เหมือนกับใครทำอะไรไม่ได้เลย จนกระทั่งในต่างประเทศ มีความรู้สึกว่าเรากำลังจะเข้าสู่สิ่งที่เขาเรียกว่า เป็นรัฐที่ล้มเหลว
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เรารู้ว่าปัญหาหลายปัญหายังดำรงอยู่ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง แต่ว่าสิ่งที่ตนและรัฐบาลได้ทำใน 1 ปี คือ ในท่ามกลางความขัดแย้งนี้ รัฐบาลไทยบริหารงานได้ เดินหน้าผลักดันนโยบาย เดินหน้าแก้ไขปัญหาของประชาชนได้
"ใครจะให้คะแนนเท่าไร ก็เป็นมุมมองไป แต่ว่าไม่มีคำถามอีกต่อไปว่า ประเทศไทยจะเป็นรัฐที่ล้มเหลว ใครทำอะไรไม่ได้เลย ผมยกตัวอย่างนะครับเอาให้เป็นรูปธรรมว่า อย่างเช่นคนบอกว่าการเมือง รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่ว่าปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เอาล่ะสภาฯ อาจจะล่ม ซึ่งผมก็ไม่แก้ตัวให้คนที่ขาดประชุม แต่ว่าเป็นรัฐสภาที่สามารถผลักดันกฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศออกมาได้เยอะมาก เอาตัวเลขไปเทียบดูกับปีอื่นๆได้ อาจจะไม่สวยงาม ราบรื่น แต่ว่าเราเดินหน้าทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ อันนั้นคือภาพใหญ่ นั่นประเด็นที่ 1" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ประเด็นที่ 2 ในแง่ของวิกฤตที่กระทบกับคนมากที่สุดคือ เรื่องของเศรษฐกิจ เมื่อต้นปีเราก็อยู่ภายใต้ภาวะที่การท่องเที่ยว การส่งออก ติดลบประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์บ้าง เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ก็มี แล้วคนก็กังวลกันมากว่า คนจะตกงาน ตอนนั้นจำนวนคนว่างงานอยู่ที่ประมาณ 7-8 แสน ก็กลัวกันว่าจะทะลุ 1 ล้าน บางคนไปไกลถึง 2 ล้าน แต่วันนี้ตนก็ยืนยันว่า เศรษฐกิจที่ติดลบทั้งหลาย ตัวเลขจะกลับมาเป็นบวกภายในปลายปีนี้ ซึ่งทุกฝ่ายก็ดู จะมองตรงกันว่า 3 เดือนสุดท้ายนี้ เป็นบวก และปีหน้าเป็นบวกได้ประมาณอาจจะ 3.5 และที่สำคัญคือตัวเลขการว่างงานก็ลงมาอยู่ที่ประมาณ 460,000 คน คิดเป็นอัตรา 1.2 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าต่ำมาก สำหรับประเทศที่เผชิญกับวิกฤต และในหลายประเทศเขาก็ยังมีปัญหาอยู่ว่าการว่างงาน แม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้น แต่การว่างงานยังขาขึ้น ของเราเป็นขาลง เพราะฉะนั้นในแง่ของเศรษฐกิจตรงนี้ก็ชัดเจน
ประเด็นที่ 3 เป็นเรื่องนโยบาย ที่อาจจะเป็นนโยบายเฉพาะหน้าบ้าง นโยบายระยะยาวบ้าง เช่น เรื่องของการศึกษา ก็มีเรื่องการเรียนฟรี ตามมาด้วยการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 เรื่องของผู้สูงอายุ คนพิการ ซึ่งขณะนี้จะวางระบบที่ทุกคนมีการช่วยเหลือพื้นฐานจากรัฐ และเรากำลังขยับไปสู่ระบบสวัสดิการที่ชัดเจน จะมีกองทุนเงินออมอะไรต่างๆ ซึ่งกฎหมายจะเข้าสู่สภาฯ นโยบายเหล่านี้เดินหมด
การช่วยเหลือเกษตรกร มีการพลิกจากการเป็นระบบจำนำ มาเป็นระบบการประกันรายได้ ซึ่งทำให้คนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ถ้าเทียบจำนวนครัวเรือนหดหลายเท่าตัว เงินใช้เท่าๆ กัน แล้วขณะเดียวกันเป็นระบบซึ่งเป็นมิตรกับกลไกตลาด หมายความว่าทำให้ข้าวไทย สินค้าเกษตรไทย ภายใต้ระบบจำนำกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะว่าของแพงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นทุนมันแพงขึ้น เริ่มไปแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ ตอนนี้ก็พลิกกลับมา
"สิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ ในภาพใหญ่ของประเทศเป็นอย่างไร รวมไปถึงภาพลักษณ์ของบทบาทของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ มาจนถึงเรื่องของตัววิกฤตเฉพาะหน้า คือวิกฤตเศรษฐกิจ และมาจนถึงเรื่องนโยบายเป็นเรื่องๆ ไป รัฐบาลก็เดินหน้า ถามว่ามีปัญหาไหมก็มี อย่างที่ผมบอกปัญหาการเมืองยังไม่จบ เราก็พยายามนะครับ แต่ว่ามันต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เราก็จะพยายามต่อไป ปัญหาบางเรื่องก็มาเป็นตัวที่ทำให้ขณะนี้เกิดความกังวล สะดุดหยุดลง เช่น มาบตาพุด ก็กำลังเร่งแก้ไขปัญหา ระหว่างที่ผมอยู่ก็มีการเดินหน้าแก้ไขเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ก็มีความคืบหน้าไปพอสมควร วันพฤหัสบดี ผมเข้าใจว่าผมจะนัดประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และกติกาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึง 6 มาตรการว่า มีการต่ออายุมาตรการเหล่านี้ไปอีก 3 เดือน เพียงแต่ว่ามีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดในกรณีของการใช้น้ำฟรี เดิมนั้นให้ 30 คิว ก็ลดลงมา เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะเป็นสิ่งที่เป็นความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และมาตรการครั้งนี้ที่ต่ออายุเพียง 3 เดือน ก็เพื่อที่จะต้องเตือนพี่น้องประชาชนว่า มาตรการที่ทำกันมานี้ถึงขณะนี้ก็ต่อมาเป็นครั้งที่ 3 ที่ 4 นี้เป็นมาตรการชั่วคราว และยังเป็นมาตรการซึ่งสร้างภาระในเชิงงบประมาณ เพียงแต่ว่าในช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้ ก็ได้ใช้มาตรการเหล่านี้เพื่อบรรเทาปัญหาในเรื่องของของแพง แล้วก็ในปีที่ผ่านมาพอเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจตกต่ำถดถอย เราก็ได้ใช้มาตรการนี้เพื่อช่วยให้เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ถ้าหากว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แล้วปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อหรือเรื่องของข้าวของ หรือราคาของสินค้าไม่เป็นปัญหา ก็คงจะต้องมีการพยายามที่จะปรับลดเพื่อลดภาระตรงนี้ เพราะว่างบประมาณในแต่ละรอบ แต่ละรอบนั้นก็ถือได้ว่าอยู่ในหลักเป็นหมื่นล้านบาท

**ปชป.ลั่นนโยบายพรรคทะลุเป้า
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า พรรคประเมินผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปี โดยจะเน้นไปที่การทำตามนโยบายของพรรคเป็นหลัก ซึ่งเน้นการแก้ไข 3 ปัญหาใหญ่ๆ คือ
1. ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนหลายกลุ่มต่างๆได้
กลุ่มแรก ครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลได้มีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน 5 มาตรการ 6 เดือน รวมถึงแผนปฏิบัติการ 99 วันทำได้จริง ทำให้คนจนไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถเมล์ นอกจากนี้โครงการเช็คช่วยชาติ ก็ยังสามารถรักษากำลังซื้อ มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 7 ล้านครัวเรือน
กลุ่มที่ 2 นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชน ซึ่งนโยบายเรียนฟรี ทำให้ครอบครัวสามารถลดค่าใช้จ่าย ค่าตำรา ค่าเรียนหนังสือ และค่าเรียนพิเศษ ที่สำคัญยังเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคตของชาติให้ลูกหลานมีงานทำที่มั่นคงกว่าเดิม ทำให้ประชาชนในกลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์ถึง 15 ล้านครัวเรือน
กลุ่มที่ 3 ผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลได้ออกเบี้ยยังชีพ ที่จะขยายไปเป็นโครงการบำนาญประชาชน มีผู้สูงอายุได้รับประโยชน์ 7 ล้านคน
กลุ่มที่ 4 เกษตรกรในชนบท ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการประกันรายได้ ทำให้ครอบครัวเกษตรกร 40 ล้านคนได้รับผลดีจากโครงการนี้ เนื่องจากมีหลักประกันรายได้ทางการเกษตร ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรมากกว่าโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรถึง 5 เท่า
กลุ่มที่ 5 ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ขณะนี้รัฐบาลได้เข้าปัญหา เชื่อว่าประชาชนมากกว่า 1 ล้านครอบครัวจะได้ประโยชน์
2. การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม รัฐบาลได้ดำเนินโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่น ทำให้เกิดการจ้างงาน 1.5 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ยังทำให้ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสสุดท้าย จะกลับเป็นบวกอย่างแน่นอน เชื่อว่าอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์จะมีหน่วยงานต่างๆออกมาประเมินว่า ตัวเลขจีดีพีไตรมาสสุดท้าย จะเป็นบวกอยู่เท่าไร
3. การแก้ไขปัญหาทางการเมือง ตามนโยบายที่แถลงไว้ในการสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งรัฐบาลก็ได้บรรลุข้อตกลงตามกรอบการทำงานคณะกรรมการสมานฉันท์ อย่างไรก็ตาม การจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทางฝ่ายค้าน และพรรคเพื่อไทย (พท.) ว่าจะยอมให้ประชาชนร่วมกันลงประชามติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจแ ละการเมืองผ่านไปหรือไม่

**"ลิ่วล้อแม้ว"ขัดขาสมานฉันท์
อย่างไรก็ตามพรรคยังมีความกังวลอยู่ เพราะถึงรัฐบาลจะสามารถทำให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในแดนบวกได้ แต่ปัญหาทางการเมือง ก็ยังมี 3 สัญญาณสำคัญ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดองของประเทศอยู่
1. การที่พรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง และพ.ต.ท.ทักษิณ จะใช้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อนำการเมืองในสภากลับไปอยู่นอกสภาอีกครั้ง
2. การใช้ประเทศเพื่อนบ้านแทรกแซงการเมืองในประเทศ โดยบิดเบือนความจริงเพื่อเป็นขบวนความขัดแย้ง เห็นได้จากเอกสารลับของกระทรวงการต่างประเทศ
3. การดึงองค์กรอิสระ ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง โดยพูดล่วงหน้าเพื่อให้เป็นเงื่อนไขนำมาเคลื่อนไหว เช่นการตัดสินคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกกต. ที่พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภา อ้างว่าเรื่องนี้ จะเป็นจุดตัดสินว่ายังมีความยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งโดยนัยยะ คงหมายถึงว่า หากตัดสินว่า ปชป.ไม่ผิด แสดงว่าไม่มีความยุติธรรมและจะเกิดความรุนแรงตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น