xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อก.ค.ลบ4.4%สูงสุด10ปี “พาณิชย์”ฉีกตำราทิ้งยันเงินไม่ฝืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พาณิชย์”ฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ ยันเงินไม่ฝืด แม้เงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยก.ค.ติดลบสูงถึง 4.4% สูงสุดในรอบปีนี้ และสูงสุดในรอบ 10 ปี “ศิริพล” ให้เหตุผล เพราะราคาน้ำมันปีนี้เทียบปีก่อน ต่างกันเกือบครึ่งต่อครึ่ง ทำให้ไม่กระทบต้นทุนสินค้า ราคาเลยไม่ขึ้น แถมได้อานิสงค์มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ รถเมล์ รถไฟ ของรัฐบาลช่วยอีกแรงแต่ยอมถอยปรับเป้าทั้งปีใหม่เป็นติดลบ 1% ถึง 0% จากเดิม 0-0.5%

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนก.ค.2552 ที่สำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.2552 ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.2551 ลดลง 4.4% และเมื่อเทียบเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ลดลง 1.9%

ทั้งนี้ เงินเฟ้อก.ค.ที่ลดลง 4.4% นั้น เป็นการลดลงสูงสุดในในรอบปีนี้ แต่เห็นว่าไม่น่าจะเข้าข่ายเงินฝืด เพราะเงินฝืดต้องดูสมมตฐานหลายๆ ตัว ทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศ การจ้างงาน การส่งออก นำเข้า โดยเงินเฟ้อของไทยขณะนี้ แม้จะติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 แต่เมื่อดูปัจจัยหลายๆ ตัวประกอบ พบว่า มาจากสาเหตุราคาน้ำมันเป็นหลัก โดยเดือนก.ค.ปีนี้
เมื่อเทียบกับก.ค.ปีที่แล้ว ราคาน้ำมันปรับลดลงมาก จากเฉลี่ย 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหลือ 64.71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ต้นทุนสินค้าไม่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเฉลี่ยไม่ปรับขึ้น

“ในเดือนก.ค.นี้ ราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ยังคงสูงขึ้น โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตร แต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ส่วนใหญ่มีราคาลดลง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถเมล์ รถไฟ ก็ไม่ขึ้น เพราะรัฐบาลได้ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพไปจนถึงสิ้นปี ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และไม่มีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ”นายศิริพลกล่าว

เงินเฟ้อเดือนก.ค. ที่ติดลบ 4.4% เป็นการลดลงของดัชนีราคาหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 9.7% โดยน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าโดยสาร ติดลบ 18% ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา หนังสือและอุปกรณ์การศึกษา ติดลบ 10.1% ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ติดลบ 5.1% เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย หญิง ติดลบ 3.4% แต่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 3.2% โดยสินค้า สำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้

สำหรับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ในเรื่องของเงินเฟ้อ ระบุไว้ว่า หากเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกัน 6 เดือน จะเรียกว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า แม้เงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องกัน 7 เดือน ก็ไม่เรียกว่าภาวะเงินฝืด อีกทั้งเงินเฟ้อเดือนก.ค.ที่ติดลบ 4.4% นั้น ยังเป็นการติดลบสูงสุดในรอบ 10 ปี นับจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2542

นายศิริพลกล่าวว่า การดูภาวะเงินฝืด ต้องดูที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ได้หักสินค้ากลุ่มอาหารสด และพลังงานออก โดยในเดือนก.ค. เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ไม่เปลี่ยนแปลง เทียบกับเดือนก.ค.2551 ลดลง 1.2% เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้ สูงขึ้น 0.5% ซึ่งเมื่อดูตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นรายเดียว พบว่า เพิ่งจะติดลบต่อเนื่องกันเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น หากติดลบต่อไป
ก็อาจจะเป็นเงินฝืดได้

ส่วนเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี กระทรวงพาณิชย์ได้มีการปรับประมาณการณ์ใหม่ โดยคาดว่าจะขยายตัวติดลบ 1% ถึง 0% จากสมมตฐานอัตราแลกเปลี่ยน 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันเฉลี่ย 60-70 เหรียญสหรัฐ และมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล ที่ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า น้ำประปา รถเมล์ รถไฟ และราคาก๊าซหุงต้มไปจนถึงสิ้นปี
ถือเป็นการปรับลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะขยายตัว 0-0.5% ซึ่งได้กำหนดไว้มาตั้งแต่ต้นปี โดยเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะติดลบ
กำลังโหลดความคิดเห็น