ต้นเดือนธันวาคม ผมเพิ่งเดินทางกลับจากรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เช้าวันเดินทางกลับหนังสือพิมพ์ไทเป ไทมส์ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของไต้หวันได้แปลและตีพิมพ์บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เดอะลิเบอร์ตี ไทมส์ หนังสือพิมพ์หัวเอียงไปทางอนุรักษนิยม (ตรงข้ามพรรคคอมมิวนิสต์บนแผ่นดินใหญ่) เรื่อง “ภาพลวงตาของ ดูไบเวิลด์และจีน”
บทบรรณาธิการดังกล่าว ได้กล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจของนครรัฐดูไบ แห่งประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ว่า เกิดขึ้นเพราะภาพลวงตาทางเศรษฐกิจที่เจ้าครองนครรัฐดูไบและตะวันตกสร้างขึ้นโดยแท้ ทั้งๆ ที่นครรัฐแห่งนี้มีประชากรเพียงแค่ 1.8 ล้านคน และคนที่อยู่ในดูไบมากถึงร้อยละ 90 นั้นเป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น
ขณะที่ในส่วนของทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมัน ซึ่งมักจะเป็นแหล่งพลังงานที่สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มประเทศในโลกอาหรับอย่างสูง ดูไบซึ่งขุดค้นพบแหล่งน้ำมันใน พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) ก็มีรายได้จากน้ำมันเพียงแค่ร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเท่านั้น
อย่างที่หลายคนทราบ แม้จะขาดปัจจัยทางเศรษฐกิจในการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอาหรับในหลายๆ ด้าน แต่ผู้ครองนครรัฐ ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคโตอัม ก็มีแนวคิดที่จะดึงดูดเงินจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมหาศาล โดยใช้จุดขายเป็นอภิมหาโครงการทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น เบิร์จดูไบ (Burj Dubai) ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในโลก หมู่เกาะต้นปาล์ม (The Palm Islands) เกาะจำลองที่สร้างขึ้นจากการถมทะเลและแบ่งโครงการออกเป็น 3 ส่วน คือ ปาล์มจูไมราห์ ปาล์มไดรา และ ปาล์มจีเบล อาลี โดยโครงการแรกคือปาล์มจูไมราห์เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) โรงแรมเบิร์จ อัลอาหรับ (Burj al-Arab) โรงแรมทรงเรือใบที่มีความหรูระดับ 7 ดาวแห่งเดียวของโลก เป็นต้น
ภาพลวงตาทางเศรษฐกิจที่ ชีค โมฮัมเหม็ด เสกขึ้นนั้นทำให้จีดีพีของดูไบพุ่งกระฉูดถึงร้อยละ 230 ในระยะเวลาเพียง 10 ปี คือ พ.ศ. 2538-2548 (ค.ศ. 1995-2005) และทำให้ประชากรชาวดูไบนั้นปัจจุบันมีรายได้ต่อหัวพุ่งสูงถึง 30,000 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 1.05 ล้านบาทต่อปี) สูสีกับคนนิวซีแลนด์หรือฮ่องกง อย่างไรก็ตาม ในที่สุดภาพลวงตาก็ยังเป็นภาพลวงตา
หนังสือพิมพ์ไต้หวันฉบับดังกล่าวได้ตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นกับดูไบเวิลด์นั้นเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนสิ่งที่เรียกว่า “ดัชนีตึกระฟ้า” ว่าสามารถใช้เป็นสัญญาเตือนถึงวิกฤตเศรษฐกิจได้จริง ซึ่งชาวไต้หวันและชาวโลกนอกจากจะวิตกกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับดูไบแล้วก็น่าจะหันมามองถึงภาพลวงตาและตึกระฟ้าที่ผุดขึ้นบนผืนแผ่นดินใหญ่ด้วยเช่นกัน
ดัชนีตึกระฟ้า หรือ Skyscraper Index ถูกคิดค้นขึ้นโดย แอนดรูว์ ลอว์เรนซ์ ผู้อำนวยการด้านการวิจัยของเดรสด์เนอร์ ไคลน์เวิร์ท วาสเซอร์สไตน์ ธนาคารเพื่อการลงทุนที่มีอยู่ที่ประเทศอังกฤษ (ปัจจุบันลอว์เรนซ์เป็นนักวิเคราะห์ให้กับดอยช์ แบงก์ เซเคียวริตี ในฮ่องกง) โดยลอว์เรนซ์พยายามชี้ให้เห็นว่า วัฏจักรทางเศรษฐกิจนั้นมีความเกี่ยวพันกับโครงการตึกระฟ้าที่ผุดขึ้นในประเทศต่างๆ อย่างลึกซึ้ง
ลอว์เรนซ์พยายามพิสูจน์ให้เห็นว่า โครงการตึกระฟ้านั้นจะมีปริมาณมากที่สุดเมื่อวัฏจักรทางเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ กำลังอยู่ในช่วงขาลง และมักจะทำให้การก่อสร้างอภิมหาโครงการต่างๆ เสร็จสิ้นเอาในช่วงหลังวิกฤต หรือจนกว่าวัฏจักรทางเศรษฐกิจวนกลับมาเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอีกครั้ง หรืออย่างย่ำแย่ที่สุดก็คือ โครงการถูกยกเลิกไปเลย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถือว่าขัดแย้งกับทฤษฎีที่ว่า ตึกระฟ้าเป็นปรอทวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Height is a barometer of boom) โดยสิ้นเชิง
เมื่อพลิกไปหน้าประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า หลายตึกสูงเลื่องชื่อในมหานครนิวยอร์กต่างก็เข้าข่ายทฤษฎีดังกล่าวของลอว์เรนซ์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ตึกเอ็มไพร์ เสตท ที่ถูกสร้างขึ้นก่อนวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Great Depression) ในสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายทศวรรษที่ 20 ต้นทศวรรษที่ 30 ตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นอดีตไปแล้วจากเหตุ 9/11 ก็สร้างเสร็จในช่วงวิกฤตน้ำมันในช่วง พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973)
รวมไปถึงตึกใหญ่ๆ ในทวีปเอเชียอย่างหอคอยคู่ ปิโตรนาส ทาวเวอร์ส ของมาเลเซียที่เคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกก็ถูกสร้างขึ้นในปี 2541 (ค.ศ. 1998) ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของเอเชีย (ส่วนตึกใบหยก 2 ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดของประเทศไทยก็เกือบถูกนับรวมเข้าไปแล้ว เพราะตึกใบหยก 2 ก่อสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2540 ขณะที่ในส่วนโรงแรมเริ่มเปิดให้บริการในเดือนมกราคม พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังวิกฤตต้มยำกุ้งพอดี)
ต่อมาดัชนีตึกระฟ้า ได้รับการขยายความโดยมีนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า ดัชนีตึกระฟ้านั้นสอดคล้องกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ในยุคก่อนที่ว่า ในช่วงต้นของการบูมทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจากอัตราดอกเบี้ยซึ่งอยู่ในระดับต่ำนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการถ่ายเทสินทรัพย์ไปลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นและทำให้ราคาที่ดินนั้นพุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกันเมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำก็ทำให้เกิดการขยายกิจการและการลงทุนเพิ่มเติมจนทำให้หน่วยงานต่างๆ ต้องเพิ่มพื้นที่ในการทำงาน เกิดการลงทุนในอาคารและพื้นที่เพื่อรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในช่วงต้นของขาขึ้นของวัฏจักรทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำยังเอื้อให้เกิดการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ๆ ที่จะช่วยให้การก่อสร้างตึกสูงทำลายสถิตินั้นสามารถเป็นไปได้ โดยปัจจัยทั้งหมดนี้นั้นจะสมบูรณ์ที่สุดเมื่อภาวะเศรษฐกิจขึ้นถึงจุดสูงสุด หรือจุดพีคของการเจริญเติบโตแล้ว
อย่างไรก็ตาม ดัชนีตึกระฟ้า ก็ยังมีจุดอ่อน และมีข้อโต้แย้งมากมาย อย่างเช่น การผุดขึ้นของตึกระฟ้าระดับโลกมากมายในเขตผู่ตงของมหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจจีนก็ไม่ได้ตกอยู่ในภาวะวิกฤตหนักแต่อย่างใด หรือแม้แต่ ตึกไทเป 101 ของไต้หวัน ที่ลงมือก่อสร้างในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจของเอเชียปี 2540 และเคยครองตำแหน่งตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในโลกอยู่ 3 ปี ก่อนที่ เบิร์จ ดูไบ จะมาลบสถิติไป
ทั้งนี้ทั้งนั้น ดัชนีตึกระฟ้า แม้จะเป็นทฤษฎีที่สามารถใช้อ้างอิงได้ไม่ครบทุกกรณีของวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็สามารถใช้เป็นเครื่องเตือนใจและเตือนสตินักธุรกิจ รวมถึงผู้คนทั้งหลายได้ว่า ภายใต้ท้องฟ้าอันไพศาล และภายในโลกเศรษฐกิจที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยความโลภ กิเลส และภาพลวงตาเช่นนี้ ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน