xs
xsm
sm
md
lg

จาก “มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ”ถึง“อุดม มั่งมีดี”ตุลาการในพระเจ้ามูลเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ
การออกมาเปิดเผยชื่อของ “นายอุดม มั่งมีดี” อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ที่ประกาศขึ้นเวทีของกลุ่มคนเสื้อแดงในการชุมนุมวันที่ 10 ธันวาคมนั้นถือเป็นจุดสำคัญที่ตอกย้ำให้เห็นเส้นสายโยงใยความสัมพันธ์ของ นช.ทักษิณ ชินวัตรที่ดำรงอยู่ในกระบวนการยุติธรรมได้เป็นอย่างดีว่ามีอยู่จริง

ทั้งนี้ เนื่องจากนายอุดมไม่ใช่อดีตผู้พิพากษารายแรกที่เข้าร่วมกับนช.ทักษิณ หากยังจำกันได้ ทุกคนคงไม่ลืมชื่อของ “นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ” อดีตผู้พิพากษา ที่ประกาศตัวยืนข้าง “พระเจ้ามูลเมือง” อย่างเต็มตัวเป็นรายแรก กระทั่งได้รับเลือกให้เป็นประธานของกลุ่มไข่แม้วในช่วงเริ่มแรกก่อนที่จะแปรสภาพมาเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง กระทั่งอหังการถึงกับนำทัพกลุ่มไข่แม้วไปบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 พร้อมกับแสดงพฤติกรรมถ่อยที่สังคมยอมรับไม่ได้ จนถูกตำรวจจับกุมพร้อมกับพรรคพวกอีก 8 คน

ที่หนักไปกว่านั้นเขาเป็นผู้นำคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักไทย รวมทั้งคำสั่งอายัดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาปราศรัยโจมตีอย่างดุเด็จเผ็ดมันบนเวทีที่ท้องสนามหลวง

อย่างไรก็ตาม ภาพของนายมานิตย์ก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของสังคม เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันว่า ก่อนที่นายมานิตย์จะแปรสภาพเป็นประธาน นปก. เขา คือ “ลูกจ้าง” ของ นช.ทักษิณ โดยถึงกับยอมสละตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสเพื่อมานั่งกินตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายของเครือข่ายทักษิณ

นายมานิตย์เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า เขาเป็นผู้พิพากษามาตั้งแต่อายุ 26 ปี อยู่มาเกือบ 40 ปีจึงลาออก เพราะได้รับคำชักชวนจากคนในพรรคไทยรักไทยว่าขาดนักกฎหมายที่มีความรู้ในเรื่องกระบวนพิจารณาคดีในศาล และยอมรับว่าเป็นลูกจ้างของพรรคไทยรักไทยให้ช่วยดูแลข้อกฎหมาย

นายมานิตย์กล่าวถึงความคิดของเขาด้วยว่า “ที่ต้องพูดให้ชัดเจนเพราะสื่อหลายกลุ่ม รวมทั้งอดีตประธานศาลฎีกา(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) หรือเลขาธิการประธานศาลฎีกาที่ไปเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม(นายจรัล ภักดีธนากุล) มาหาว่าไปรับจ้างหรือเป็นสมุนหรือลูกจ้างของพ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งที่คนพวกนี้ไปร่วมกับพวกกบฏที่มีโทษประหารรออยู่ข้างหน้า แล้วยังมีหน้ามากล่าวหาคนที่ไม่มีความผิดว่าเป็นลูกจ้างคนโน้น หรือเป็นสมุนคนนี้”

นายชาญชัย ลิขิตจิตถะได้ออกมาพูดถึงนายมานิตย์เมื่อ 11 มิ.ย.50ว่า นายมานิตย์เคยเป็นผู้พิพากษา แต่ลาออกไปหลายปีแล้ว โดยไปอยู่กับพรรคไทยรักไทย จึงเป็นธรรมดาที่นายมานิตย์จะพูดและมีความคิดอย่างนั้น แต่อยากให้ประชาชนเข้าใจว่า ผู้พิพากษาทุกคนมีแนวทางเดียวกับตุลาการรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยคดียุบพรรค เพราะเป็นหลักกฎหมายที่ใช้กันอยู่

การเปิดตัวเพื่อรับใช้ นช.ทักษิณในครั้งนั้น ทำให้มีการตรวจสอบข้อมูลถึงปูมหลังของนายมานิตย์กันอย่างละเอียด และในที่สุดก็พบข้อมูลที่สำคัญซึ่งสามารถสะท้อนตัวตนของเขาได้เป็นอย่างดี

กล่าวคือ ในสมัยที่นายมานิตย์เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญาในปี 2547 เขาเคยพิพากษายกฟ้อง นายวีระ มานะคงตรีชีพ อดีตผู้บริหาร บงล.ซิทก้า กับพวกอีก 3 คน ในคดีปล่อยกู้ให้กับบริษัทในเครือโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่า 243 ล้านบาท โดยให้ความเห็นว่าไม่สามารถหาหลักฐานได้ว่าจำเลยใช้อำนาจบังคับให้ผู้อื่นร่วมดำเนินการตามคำฟ้อง จึงต้องมีคำสั่งยกฟ้อง และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยพยานจำเลยต่อไป

นอกจากนี้ เขายังพิพากษายกฟ้องนายปราโมทย์ รักษาราษฎร์ อดีตรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในคดีทุจริตการประมูลก่อสร้างโรงเรียนอนุบาลผลิตแม่พันธุ์และสาธิตการผลิตพืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ที่ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยงที่ 8 จ.ตรัง ท่ามกลางข้อกังขาของสังคม

จากนั้น นายมานิตย์ก็มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือภายหลังนช.ทักษิณยุบสภาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2549 เขาก็เข้าร่วมสัมมนากับนายดุสิต ศิริวรรณ นายวสันต์ โพธิพิมพานนท์ แห่งเบนซ์ทองหล่อ และวิพากษ์วิจารณ์ศาลปกครองกลางที่ระงับการเลือกตั้งซ่อมเมื่อ 29 เม.ย. 2549 ออกโทรทัศน์ช่อง 11 คัดค้านการทำงานของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองสูงสุด และเคลื่อนไหวสอดคล้องกับชมรมพิทักษ์รัฐธรรมนูญของนายชูชีพ ชีวสุทธิ์ สมาชิกพรรคไทยรักไทย

จากนายมานิตย์ก็มาถึงคิวของนายอุดม มั่งมีดี ซึ่งคงต้องบอกว่าก่อนที่จะกลุ่มคนเสื้อแดงจะเปิดข้อมูลออกมา นายอุดมได้ถูกสังคมจับตามองมาโดยตลอดว่า แท้ที่จริงแล้วเขามีจุดยืนอย่างไร ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เคยเป็นผู้พิพากษาตัดสินสั่งจำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาทนายภูมิธรรม เวชชยชัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

กระทั่งปรากฏข่าวเรื่องการขึ้นเวทีของคนเสื้อแดง ก็ทำให้ภาพของเขาชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของเขาในครั้งล่าสุดก็ไม่ได้น่าแปลกใจอะไรนัก เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางนั้นอยู่แล้ว โดยประจักษ์พยานที่ชัดเจนก็คือ คลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ในเว็บของคนเสื้อแดง และได้รับการชื่นชมจากกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นอย่างมาก

เนื้อหาในคลิปวิดีโอดังกล่าว นายอุดมได้กล่าวขอโทษประชาชนที่ไม่สามารถรักษาความเที่ยงธรรมให้แก่ชาติบ้านเมืองได้ รวมทั้งกล่าวโจมตีกระบวนการยุติธรรมว่าล่มสลายแล้ว เพราะเกิดระบบการทำงานที่ไม่เป็นระดับเดียวกัน หรือที่เรียกง่ายๆว่า สองมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการให้ใบเหลือง ใบแดงของ กกต. ว่าไม่แสดงให้ชัดเจนว่ามีหลักเกณฑ์ใดๆ ตัดสิน โดยเหตุที่เกิดความยุ่งยากในการใช้กฏหมายในปัจจุบัน เนื่องจากคนใช้เป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกัน ก็เหมือนวิกฤตตุลาการที่เคยเกิดปัญหาขึ้น

ส่วนเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง นายอุดมมีความเห็นว่า คนร่างกฏหมายไม่เข้าใจยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปว่าสมัยนี้ ใช่ว่าใช้เงินซื้อเสียงแล้วคนนั้นจะชนะการเลือกตั้ง ของแบบนี้ไม่เสมอไปทุกครั้ง ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องถูกปฏิรูปแน่นอนในอนาคต ด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถดำรงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้

ในวันนั้น นายอุดมพูดในเวทีอภิปรายเรื่อง “มาตรการยุบพรรคในรัฐธรรมนูญ : มีผลต่อการพัฒนาทางการเมืองอย่างไร” ที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 7 อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก วิทยาการยุติธรรม สถาบันข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม

แต่การพูดของนายอุดมเป็นการพูดในขณะที่เวทีเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น เพราะจริงๆ ในวันนั้น วิทยากรที่ได้รับเชิญประกอบด้วยนายถาวร เสนเนียม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ โดยมี ดร.เสนีย์ สุวรรณดี รองอธิบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ม.เกษมบัณฑิต เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา

นายอุดมไม่ได้ปรากฏชื่อเป็นวิทยากรแต่อย่างใด

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ เมื่อได้มีการสืบสาวราวเรื่องลึกลงไป ทำให้ได้ข้อมูลเด็ดว่า นายอุดมนั้นเป็นผู้พิพากษารุ่นเดียวกับ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นน้องเขยของนช.ทักษิณ

นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวแสดงความคิดเห็นกรณีนายอุดม ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีว่า นายอุดมเคยเป็นถึงผู้พิพากษาที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ที่เป็นทนายให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล คดีที่มีนายอุดมทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษานับเป็นคดีแรกที่มีคำสั่งลงโทษนายสนธิเป็นเวลา 2 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทธรรมดา ตามมาตรา 326 และมาตรา 328 กรณีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา แต่ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย โดยศาลอุทธณ์บอกว่า หากเข้ามาตรา 328 จะไม่เข้ามาตรา 326 ดังนั้น คำวินิจฉัยของ นายอุดมจึงเป็นการปรับบทกฎหมายผิด

ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ได้ให้แก้เหลือลงโทษเฉพาะมาตรา 238 จากเดิมจำคุก 2 ปี ให้ลดเหลือ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฝ่ายโจทก์ยังฎีกาต่อ ซึ่งตามกฎหมายต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ก็ได้รับการรับรองให้ฎีกาได้ด้วย

“พฤติกรรมเวลาสืบพยานในบัลลังก์ ตนเป็นทนายจำเลย นายอุดมที่นั่งเป็นผู้พิพากษาอยู่ จะดุทนายโจทก์ตลอด คุณสืบอย่างไร ดูซิทนายจำเลยเขาถามเป็นหลัก เป็นเกณฑ์ดีกว่า เหมือนชมว่าตนทำงานดี แต่ถึงเวลาแล้วสั่งจำคุกนายสนธิ เรื่องนี้กระบวนการยุติธรรมก็จับตาดูด้วยความสงสัยว่า ทำไมไปลงเอยอย่างนั้น”

อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า บทบาทของนายอุดมนับจากนี้จะเป็นเช่นไร และจะมีคำพูดหรือพฤติกรรมเด็ดๆ อะไรออกมาหรือไม่
อุดม มั่งมีดี(ซ้ายสุด) ขึ้นเวทีคนเสื้อแดง เมื่อ 10 ธ.ค.52
กำลังโหลดความคิดเห็น