xs
xsm
sm
md
lg

วาทะทักษิณ 10 ธันวา วาทกรรมระบอบใหม่ ?!!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ทักษิณ ชินวัตร ปราศรัยผ่านระบบวิดีโอลิงก์ต่อคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เ้มื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2552
อุตส่าห์ออกตัวว่าที่จัดชุมนุมในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2552 ก็เพื่อถวายพระพร แต่แม้จะมีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและสดุดีมหาราชา ทว่าวาทะของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในเวลาทุ่มเศษ ๆ คืนนั้น และบททวีตเตอร์โหมโรงล่วงหน้าตลอดวัน ฟังดูแล้วไปคนละเรื่องเลย เพราะ Theme หรือวาทกรรมหลักในวันนั้นคือ

“อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

คนที่ติดตามการเมืองไทยมาแบบมีหลัก และมีประวัติศาสตร์ แทบจะเชื่อทันทีเลยว่าอดีตนายกฯคนนี้ หรือทีมงานที่เสนอ Theme นี้ให้อดีตนายกฯคนนี้ คิดอะไรอยู่ เพราะเขาพูดไว้ชัดเจนไม่ต้องตีความเลยว่าไม่ได้ต้องการแค่นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้เท่านั้น แต่จะแก้ไขให้มีหลักการเหมือนมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้ 3 วันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร และมีอายุใช้งานเพียงไม่ถึง 10 เดือน เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรในวันที่ 10 ธันวาคม 2475

มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ใช้ชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” บัญญัติไว้ว่า...

อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย

ขณะนั้นยังไม่ใช้ศัพท์ “อำนาจอธิปไตย” เช่นเดียวกับคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ที่ยังไม่ได้บัญญัติขึ้น ใช้แค่ “ธรรมนูญ” มาประกอบกับ “พระราชบัญญัติ” เท่านั้น

ในส่วนเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มีบัญญัติไว้ในมาตรา 3 โดยใช้คำแต่เพียง “กษัตริย์” เท่านั้น...

กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่น ๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยฉะเพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์”

รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 บัญญัติไว้ในมาตรา 2 ว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” รัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน บัญญัติประเด็นนี้ไว้ในมาตรา 3 ชนิดที่เราท่องจำกันได้ ว่า “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล” จะแตกต่างกันตรงประโยคที่ขีดเส้นใต้ไว้ เพราะบางฉบับใช้เป็น “...เป็นของปวงชนชาวไทย” แทน แต่ที่เหมือนกันคือเป็นการถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย ทั้งการเรียกขานว่า “พระมหากษัตริย์” ไม่ใช่ “กษัตริย์” ห้วน ๆ เฉย ๆ และถวายพระเกียรติให้พระองค์เป็นผู้ “ทรงใช้อำนาจทาง...” ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะยังทรงมีพระราชอำนาจเหมือนพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในฐานะประมุขแห่งรัฐพระองค์จะต้องทรงใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย ผมว่าโดยเนื้อหาก็ไม่ได้ต่างจากมาตรา 1 ประกอบกับมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เท่าไรนัก เพียงแต่ถวายพระเกียรติในเชิงการเขียนการใช้ถ้อยคำมากกว่า

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มีเพียง 39 มาตรา ใช้คำห้วน ๆ คณะราษฎรจะร่างไว้ก่อนทำการปฏิวัติ หรือปฏิวัติสำเร็จแล้วร่าง ผมไม่แน่ใจ แต่ที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ก็คือขณะเกิดการปฏิวัตินั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ พระตำหนักวังไกลกังวล หัวหิน พระองค์เสด็จฯ กลับพระนครในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 และโปรดเกล้าฯให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ แล้วเมื่อทรงทราบวัตถุประสงค์ของคณะราษฎร ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาสมาชิกคณะราษฎร และเมื่อคณะราษฎรยังถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับนี้ พระองค์ทรงขอตรวจก่อน แต่ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 27 มิถุนายน 2475 โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัติฉบับนั้นไว้ว่า...

"ชั่วคราว"

เนื่องมาจากพระองค์ทรงเห็นว่าหลักการประชาธิปไตยของคณะราษฎร ยังไม่พ้องกันกับพระประสงค์ของพระองค์ แต่ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยเพราะต้องการให้บ้านเมืองสงบ ไม่เกิดการต่อสู้กัน ประกอบกับพระองค์เองก็มีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตย หรือนัยหนึ่งระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อยู่แล้ว

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรพูดถึงแต่มาตรา 1 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 แต่ไม่ได้พูดเนื้อหาโดยภาพรวมว่าที่จริงแล้วบ้านเมืองยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยโดยเนื้อหา เพียงแต่เป็นการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์เพื่อหวังสร้างระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรในเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 1 นั้นบัญญัติให้มาจากการแต่งตั้งของคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารจำนวน 70 คน

ความเป็นประชาธิปไตยที่ว่านี้ยังไม่เกิดแม้จนในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ที่บัญญัติให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 ประเภท เกิดวิกฤต เกิดการยึดอำนาจซ้ำ ตามด้วยเกิดกบฏ

ในที่สุดก็นำมาซึ่งการสละราชสมบัติของในหลวงรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477

พระราชหัตถเลขาองค์วันที่ 2 มีนาคม 2477 ของพระองค์ทรงบ่งบอกไว้ชัดเจนว่าบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยตามพระราชประสงค์อย่างไร


หลายท่านคงจะจำวรรคทองที่ว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” ได้

ไม่ทราบว่าการยกประเด็น “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ที่นำมาจากมาตรา 1 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 แล้วบอกว่าเป็นสิ่งที่สวยงามมากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรคิดอย่างไร ไกลแค่ไหน โดยเฉพาะกับการที่ประกาศว่าจะนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้แล้วแก้ไขให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” แค่เพียงพูดแล้วเท่ และพูดตามที่ทีมงานเสนอขึ้นมาให้ หรืออาจมีนัยไปในเชิงเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

เพราะวาทกรรมลักษณะใกล้เคียงกันนี้ นักวิชาการสีแดงบางคนเคยพูดเคยเขียนไว้ในเรื่อง “ระบอบประชาธิปไตยของปวงมหาประชาชน” ระบอบที่ปวงชนเป็นทั้งเจ้าของอำนาจอธิปไตยและใช้อำนาจนั้นด้วยตนเอง – ฟังดูแล้วคล้าย ๆ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” อันแสนสวยงามมั้ย

ภายใต้บริบททางการต่อสู้ที่ฝ่ายซ้ายในอดีตที่ผมเคยเรียกว่า “คอมมิวนิสต์อารมณ์ค้าง” พยามปั้นอดีตนายกฯคนนี้ให้เป็นผู้นำในการปฏิวัติประชาธิปไตย หรือถึงขั้นให้เป็น “ปรีดี พนมยงค์ 2” ไปโน่น

ระบอบใหม่ที่ไม่ต้องมีคณะองคมนตรี หรืออย่างน้อยก็ต้องไม่มีคณะองคมนตรีชุดปัจจุบัน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะตอบอย่างไร หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับว่า...

สาธุชนพึงใช้วิจารณญาณไตร่ตรอง !
กำลังโหลดความคิดเห็น