xs
xsm
sm
md
lg

ฉีดวัคซีน 09 ให้หญิงท้อง เริ่ม 11 ม.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สธ.ดีเดย์11 ม.ค.ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แบบสมัครใจให้กับกลุ่มเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์กลุ่มแรก ให้บริการได้ทั้งรพ.รัฐ-เอกชน ไม่เสียค่าวัคซีน แต่ต้องเซ็นยินยอมไม่เรียกร้อง ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งแพ่ง อาญาหากได้รับอันตรายจากวัคซีน ขณะที่ในรอบสัปดาห์มีผู้เสียชีวิตหวัดใหญ่ 2009 เพิ่ม 2 ราย

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จะเริ่มให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ใหญ่ 2009 ในวันที่ 11 ม.ค.-มี.ค.2553 สำหรับ 5 กลุ่มเสี่ยงเป้าหมายตามลำดับความสำคัญ คือ 1.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์มากกว่า 3 เดือน 2.ผู้เป็นโรคอ้วนน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ ดัชนีมวลกาย (บีเอ็มไอ) ตั้งแต่ 35 ขึ้นไป 3.ผู้พิการรุนแรงที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ 4.บุคคลอายุ 6 เดือน -64 ปี ที่มีโรคประจำตัว 10 โรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง,หอบหืด,โรคหัวใจทุกประเภท,หลอดเลือดสมอง,ไตวาย,ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการให้เคมีบำบัด,ธาลัสซีเมียรุนปรง,ภูมิคุ้มกันบกพร่อง,ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อน และผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และกลุ่มที่ 5.บุคลกรสาธารณสุขด่านหน้า รวมทั้งหมดประมาณ 2.8 ล้านคน โดยสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทซาโนฟี่ ปาสเตอร์ จำกัด 2 ล้านโดส ทยอยเดินทางมาถึงในปลาย ธ.ค.นี้ และจะเสนอขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งซื้อเพิ่มอีก 8 แสนโดส เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด

นพ.มานิต กล่าวต่อว่า แนวทางให้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้กระจายในวัคซีนให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 4 – 8 ม.ค.2553 โดยทุกโรงพยาบาลจะต้องมีการรายงานกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนให้ทางกรมควบคุมโรครับทราบก่อนวันที่ 11 ม.ค.2553 พร้อมให้มีการรายงานติดตามผลการใช้วัคซีนต่อกรมควบคุมโรครับทราบผลเพื่อประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ

นพ.มานิต กล่าวต่อว่า ในรอบสัปดาห์มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มขึ้น จำนวน 2 ราย เป็นหญิงอายุ 47 ปี จ.เชียงใหม่ และหญิงอายุ 56 ปี จ.บุรีรัมย์ รวมมียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ พ.ค. 2552 - 6 ธ.ค.2552รวม 189 ราย มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสม 29,370 ราย และตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป จะยกเลิกการรายงานจำนวนผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ เพราะไม่ได้ตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการทุกรายเหมือนก่อน จะตรวจเฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อประเมินสถานการณ์การระบาดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีน คือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เนื่องจากมีหญิงตั้งครรภ์ไปฝากครรภ์ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่เหลือสามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลของรัฐ โดยค่าใช้จ่ายให้คิดค่าบริการตามสิทธิการรักษาพยาบาลของแต่ละบุคคล ยกเว้นค่าวัคซีนซึ่งจะไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนโรงพยาบาลเอกชน อาจจะต้องเสียค่าบริการทางการแพทย์

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชน จะคำนึงถึงความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้น เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องมีการแจ้งให้ผู้ที่จะฉีดวัคซีนเข้าใจด้านความปลอดภัยและผลที่จะได้รับ เช่น ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน เช่น ผู้ที่แพ้ไข่ หรือมีประวัติแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่รุนแรง จะไม่สามารถรับผลข้างเคียงของวัคซีนที่จะเกิดขึ้นได้ และผู้ป่วยต้องมีการเซ็นยินยอมรับทราบในการฉีดวัคซีน โดยมีการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน โดยจะไม่สามารถเรียกร้องหรือฟ้องร้องดำเนินคดีในทางอาญาและแพร่กับเจ้าหน้าที่และส่วนราชการได้

“ในการฉีดวัคซีนทุกครั้ง บุคคลากรจะต้องดูแลผู้ป่วยหลังได้รับวัคซีนอีก 30 นาที เพื่อสังเกตอาการว่ามีการแพ้หรือไม่ เพื่อความปลอดภัย และผู้รับวัคซีนจะต้องสังเกตอาการของตนเองด้วย หากมีอาการไม่พึงประสงค์ให้เร่งแจ้งแพทย์ทันที อย่างไรก็ตามผลของการรับวัคซีนในสหรัฐอเมริกาซึ่งรัฐให้บริการฉัดวัคซีนแล้วกว่า 60 ล้านคน ได้ผลดีน่าพอใจ พบว่ามีเป็นส่วนน้อยที่มีการแพ้วัคซีน ซึ่งรายที่เสียชีวิตเมื่อสอบสวนโรคก็พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตไม่ได้มาจากวัคซีน” นพ.โอภาส กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น