กรมควบคุมโรคเตรียมชงมาตรการรับมือโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดระลอกสองในสถาบันการศึกษา หลังพบมากในโรงเรียนหลายแห่ง เสนอ รมว.สธ.คนใหม่ พร้อมมั่นใจวัคซีนที่ฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยงมีความปลอดภัยสูงและยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง
วันที่ 18 มกราคม นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ระลองสอง มีแนวโน้มระบาดมากขึ้นในหลายพื้นที่และเกือบทุกภาค ซึ่งพื้นที่ในระดับอำเภอและตำบลมีการระบาดที่รุนแรง โดยเฉพาะพบการระบาดเป็นกลุ่มมากขึ้นในโรงเรียน ล่าสุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานการระบาดเป็นกลุ่มเกิดขึ้นในโรงเรียนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้จัดการประชุมบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางมาตรการและหาแนวทางการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 แบบเข้มข้นอีกครั้ง
“จะต้องเฝ้าระวังการระบาดในสถาบันการศึกษาในช่วงนี้จนกว่าจะถึงหน้าร้อน หากสถาบันการศึกษาไม่คัดกรองนักเรียนในช่วงนี้ อาจเกิดการระบาดใหญ่ในสถาบันการศึกษาเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีสัญญาณการเกิดการระบาดอีกระลอก จากการเฝ้าระวังที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดบวม โดยเตรียมจะเสนอการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในสถาบันการศึกษาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ด้วย” นพ.มานิตกล่าว
นพ.มานิต กล่าวอีกว่า สำหรับการให้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ในรอบ 5 วันแรก 11-15 มกราคม 2553 มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว15,011 ราย ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ 11,189 ราย หญิงตั้งครรภ์ 1,971 ราย คนอ้วน 107 ราย ผู้พิการ 84 ราย ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 1,705 ราย โดยได้รับรายงานมาจาก 56 จังหวัด และบางจังหวัดไม่ได้จำแนกรายละเอียดกลุ่มเป้าหมาย โดยจังหวัดที่มีรายงานการให้บริการสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 1,638 ราย บุรีรัมย์ 1,010 ราย อุดรธานี 805 ราย สกลนคร 634 ราย และลำปาง 602 ราย การเฝ้าระวังหลังฉีดวัคซีน 30 นาที ยังไม่พบอาการแพ้รุนแรงแม้แต่รายเดียว
นพ.มานิต กล่าวต่อว่า มั่นใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับวัคซีนมากที่สุด สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยในสัปดาห์แรกเน้นเรื่องความปลอดภัยและมาตรการตามที่กำหนด 7 ประการ ได้แก่ 1.การฉีดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย 2.การตรวจสอบ ข้อห้ามการให้วัคซีน 3.การให้ความรู้แก่ผู้รับวัคซีนถึงประโยชน์และภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ 4.การรับวัคซีนเป็นไปโดยความสมัครใจ 5.การฉีดวัคซีนที่ถูกต้อง 6.การเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนหลังฉีด 30 นาที และ 7.ก่อนผู้รับบริการกลับบ้านต้องได้รับคำแนะนำการสังเกตอาการและทราบวิธีการติดต่อโรงพยาบาล
นพ.มานิต กล่าวอีกว่า ในสัปดาห์ต่อไปจะเร่งรัดให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมารับบริการให้มากขึ้น โดยเน้นย้ำมาตรการตามที่กรมควบคุมโรคได้แนะนำไว้อย่างเคร่งครัด หากต้องการคำแนะนำหรือความช่วยเหลือ รวมถึงการเปิด Call Center ตลอด 24 ชั่วโมง ให้ผู้รับบริการแจ้งอาการหรือข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง 16 หมายเลข 08-2788-1619 ถึง 08-2788-1634
“ในช่วง 5 วัน ที่ผ่านมามีโทรศัพท์แจ้งเหตุการณ์ 8 ราย ทุกรายอาการไม่น่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่มีอาการไข้ต่ำๆ วิงเวียน ปวดประจำเดือน ปากเบี้ยว เป็นต้น ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่าเกิดจากวัคซีนทุกราย แต่คงจะเกิดพ้องร่วมกันก็ได้ จะต้องนำข้อมูลให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาต่อไป โดยระบบเฝ้าระวังต้องมีเพื่อให้เกิดการรายงานและดูแลผู้ป่วยในกรณีที่ผิดปกติจะได้จัดการได้ทันท่วงที ที่ผ่านมาผู้ที่มีอาการผิดปกติทุกรายได้รับการดูแลรักษาแล้ว ทุกรายปลอดภัยและกลับบ้านได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ระบบการเฝ้าระวังจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น เพื่อความปลอดภัยของผู้รับวัคซีน และถ้าประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีน 2 ล้านคน ก็จะช่วยลดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตได้จำนวนมาก”นพ.มานิตกล่าว