xs
xsm
sm
md
lg

จับตาไตรมาส 2 ดบ.เริ่มขยับตัวเลี่ยงภัยฟองสบู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – “สถาบันวิจัยนครหลวงไทย” มองการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ จะส่งผลบวกต่อภาคอุปสงค์ไทย ให้มีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี และยังไม่ใช่ปัจจัยกระตุ้นตัวเลขเงินเฟ้อขยายตัวเพิ่ม พร้อมคาดกนง.เริ่มปรับขึ้นอีกครั้งไตรมาส2 ปีหน้า ประมาณ0.25 -0.50% เหตุหากกดต่ำไว้นานอาจเกิดภาวะฟองสบู่

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ให้ความเห็นถึงกรณีที่ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันบัตรระยะ 1 วัน) อยู่ที่ระดับ 1.25% ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุม 5 ครั้งหลังสุด โดยที่มีความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ โดย กนง. ได้มีมุมมองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินของโลก ได้มีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวยังคงจำเป็นต้องพึ่งมาตรการสนับสนุนจากทางภาครัฐฯ เป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงถัดไป ขณะที่ในด้านของเศรษฐกิจไทย ประเมินว่ายังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด จะบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่ในภาพรวมยังคงประเมินว่าทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่กลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน มองว่าแรงกดดันของเงินเฟ้อต่อภาวะเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำ

โดย การใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลบวกให้การฟื้นตัวของภาคอุปสงค์ในของไทยให้มีการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ SCRI มีมุมมองเป็นบวกต่อการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เนื่องจากมองว่าภาพรวมของการฟื้นตัวของภาคอุปสงค์ของไทย ยังคงต้องได้รับแรงสนับสนุนทั้งจากในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐฯ รวมถึงมาตรการทางการเงิน ด้วยการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ทำให้ SCRI ประเมินว่าในด้านของปัจจัยพื้นฐานของทั้งในภาคการบริโภค รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน ยังคงมีความอ่อนแออย่างมาก เนื่องจากโดนกดดันทั้งจากปัญหาในด้านของระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากปัญหาการชะลอโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และระดับเสถียรภาพทางการเมืองที่ยังคงมีความเปราะบาง ฯลฯ

“การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ น่าจะส่งผลบวกโดยรวม ต่อภาคอุปสงค์ของไทย ให้ยังคงมี ทิศทางการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ขณะเดียวกันแรงกดดันจากการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อยังคงถือได้ว่าอยู่ในระดับที่จำกัด ทำให้การคงอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของระดับอัตราเงินเฟ้อในประเทศ แม้ว่ามีโอกาสที่จะเห็นทิศทางการขายตัวของอัตราเงินเฟ้อขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปีก็ตาม แต่ก็จะเป็นเพียงจากปัจจัยฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเท่านั้น (Base-effect)”

ขณะเดียวกันประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีโอกาสที่จะปรับขยายตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงประมาณ ไตรมาส 2/2553 เพราะมีแนวโน้มสูงที่จะเพิ่มขึ้นจากระดับในปัจจุบันที่ 1.25% โดยเฉพาะในด้านของความเสี่ยงจากการปรับตัวเร่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ตามแรงกดดันจากการขยายตัวของระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ที่ ยังคงมีโอกาสที่จะปรับขยายตัวขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับในช่วงปีที่ผ่านมา ประกอบกับแม้ว่าการขยายตัวของระดับราคาสินค้าในประเทศโดยรวมจะยังคงไม่ชัดเจนมากนัก

แต่อย่างไรก็ตามการที่ระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest rate) เริ่มกลับมาปรับตัวติดลบอีกครั้งในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า หากมีการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำนานเกินไป อาจจะส่งผลลบ ต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ โดยอาจจะเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะฟองสบู่ (Bubble Economy) ขึ้นในประเทศก็เป็นได้

ดังนั้นในเบื้องต้นแล้ว SCRI คาดว่า กนง. จะมีการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในช่วงประมาณไตรมาส 2โดยประเมินจากระดับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่คาดว่าจะเริ่มมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
อย่างไรก็ดีในภาพรวมตลอดทั้งปี 2553 ประเมินว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับประมาณ 25-50 bps เท่านั้น เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ในหลายๆส่วนยังคงไม่ได้มีการกลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ซึ่งหากเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากเกินไป อาจจะส่งผลลบต่อแนวโน้มการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงถัดไป

“โดยสรุปแล้ว กนง. คงจะต้องพยายามหาจุดสมดุล ระหว่างการพยายามรักษาเสถียรภาพ กับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งถือได้ว่าเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก และท้าทายกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปี 2553 เป็นอย่างยิ่ง”

สำหรับ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน ปีระเมินว่ายังคงมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีเพราะภาพในระยะสั้นของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ ยังคงถือได้ว่ามีแนวโน้มที่จะทรงตัวจนสิ้นปีนี้ จากแรงกดดันของปัญหาทางด้านสภาพคล่องในระบบยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาทางธนาคารพาณิชย์ในหลายๆธนาคาร ได้มีการเร่งระดมเงินฝากผ่านทางโครงการเงินออมพิเศษต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นยังรวมไปถึงความกังวลต่อภาวะหนี้เสีย (NPLs) ที่อาจจะเกิดขึ้นในระบบ และการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่คาดว่าจะมีความรุนแรง ซึ่งส่งผลทำให้โดยรวมแล้ว ภาพในระยะสั้นของแนวโน้มระดับอัตราดอกเบี้ยทั้งในด้านของอัตราเงินฝากและเงินกู้ จึงยังคงจะไม่น่าจะมีการเปลี่ยนไปจากเดิมมากนักจาก

ขณะที่ปี 2553 ระดับอัตราดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย มีโอกาสที่จะเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งโดยส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มการปรับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นของ กนง. และประกอบกับแรงกดดันจากภาวะการตึงตัวของสภาพคล่องในระบบ หลังจากที่รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะมีการเข้ามากู้เงินในตลาด เพื่อไปใช้ในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งในเบื้องต้นช่วงปี 2553 ประเมินว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 3-4 แสนล้านบาท และนอกจากนั้นยังรวมถึงการคาดการณ์ว่าอุปสงค์ต่อสินเชื่อของภาคเอกชน มีโอกาสที่จะกลับมาขยายตัวได้อย่างโดดเด่น จึงมองว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินจึงมีโอกาสกลับมาเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้นอีกครั้งในช่วงปี 2553 โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในช่วง 25-75 bps ทั้งในด้านของระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ ตามสมมุติฐานการประเมินการปรับขึ้นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 25-50 bps
กำลังโหลดความคิดเห็น