xs
xsm
sm
md
lg

BBLรอธปท.ชี้ชัดทำไมโครไฟแนนซ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "โฆสิต"แบ่งรับแบ่งสู้ทำธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ รอแนวนโยบายที่ชัดจากแบงก์ชาติก่อน ระบุแม้จะเป็นอีกช่องทางและโอกาสในการทำกำไร แต่ระบบแบงก์โดยรวมอาจยังไม่พร้อม ส่วนกรณีดูไบ เวิลด์ขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายทางการคลังที่ผิดพลาด เชื่อไม่ส่งผลกระทบต่อไทยในระยะสั้น

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) เปิดเผยว่า ทางธนาคารมีความสนใจในการให้บริการทางการเงินในระดับรากหญ้า (ไมโครไฟแนนซ์) เพราะถือเป็นช่องทางและโอกาสทำกำไรเชิงพาณิชย์ แต่ขณะนี้คงเร็วเกินไปที่จะประกาศแผนดำเนินธุรกิจด้านไมโครไฟแนนซ์ โดยเห็นว่ามีหลายประเทศประสบความสำเร็จในการดำเนินงานมาแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ธนาคารในการให้บริการ จะใช้บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจไมโครไฟแนนซ์เข้ามาให้บริการปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากกว่าให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีความชำนาญน้อยกว่าเข้ามาดำเนินการ

"ในอนาคตไมโครไฟแนนซ์เป็นเรื่องที่ต้องมองและศึกษาวิธีทำหลายๆวิธี ซึ่งปัจจุบันในไทยก็มีธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสินดำเนินการอยู่ และถ้าธนาคารออมสินดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว ธนาคารกรุงเทพก็คงไม่ทำ ดังนั้นในเร็วๆ นี้ จึงยังไม่มีอะไรหวือหวาที่จะทำ แต่จะเห็นแผนไมโครไฟแนนซ์ของธนาคารในปีหน้าหรือไม่ ต้องรอการส่งสัญญาณจากรัฐบาล เพราะเข้าใจว่ารัฐบาลก็อยากให้ประชาชนระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือพ่อค้าแม่ค้า ได้ประโยชน์ในการเข้าถึงสินเชื่อมากที่สุด ซึ่งผมก็ชอบระบบนี้ โดยเฉพาะถ้าชุมชนดำเนินการกันเองจะยิ่งดี เพราะคนกู้และคนให้กู้รู้จักกันความเสี่ยงก็จะไม่มาก ดังนั้น ถ้าเราไม่ใช่องค์กรที่กระจายไปจำนวนมาก ก็รู้จักคนไม่มากเหมือนชุมชน ธนาคารพาณิชย์คงยังทำไม่ได้ เพราะเราไม่ลึกพอ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะส่งสัญญาณอย่างไร"นายโฆสิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ธปท. ได้เชิญตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ไปหารือเกี่ยวกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 (มาสเตอร์แพลน 2) ที่จะบังคับใช้ช่วงต้นปี 2553 ซึ่งแต่ละธนาคารก็มีความพร้อมและเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานที่ไม่ได้เป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด เพื่อรองรับการเปิดเสรีและการแข่งขันทางการเงินมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากมาสเตอร์แพลน 1

**ชี้กรณีดูไบไม่กระทบไทย**

สำหรับกรณีที่ดูไบ เวิลด์ ของรัฐบาลดูไบที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ขอเลื่อนการชำระหนี้กับเจ้าหนี้ออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือนนั้น ก็เป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบในปริมาณมหาศาล ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาอสังหาริมทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยนและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ทองคำ ที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบควบคู่กับการจัดทำงบประมาณขาดดุลการคลังอาจจะดำเนินการต่อไปได้อีกไม่นานแล้ว และมองว่าวิกฤตดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ในกรณีผู้ส่งออกของไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากกรณีที่ทางการเวียดนามประกาศลดค่าเงินดองและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นว่า ในระยะสั้นจะได้รบผลกระทบไม่มาก เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น คงไม่ลุกลามและขยายออกไปเป็นวงกว้างมากเพราะถือเป็นมาตรการที่เวียดนามต้องใช้ดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่ประเทศต่างๆไม่ได้มีการดำเนินนโยบายเช่นเดียวกับเวียดนาม แต่ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเอกชนจำเป็นต้องมีการปรับตัวและป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อดูแลธุรกิจของตัวเอง

"ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวียดนามเป็นปัญหาที่ไทยเคยผ่านมาแล้ว เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเวียดนามต้องดูแลปัญหาตัวเองแต่ประเทศอื่นๆรวมทั้งประเทศไทยไม่ได้อยู่ในฐานะเดียวกันกับเวียดนาม เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบกว้างขวางมากนักเพราะเกิดขึ้นที่เวียดนามเพียงประเทศเดียว"นายโฆสิต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น