xs
xsm
sm
md
lg

กนง.คงดอกเบี้ย1.25% คาดต่ำถึงกลางปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% เหตุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่มั่นคงพอ หวังนโยบายการคลังอัดฉีดเงินกระตุ้นต่อเนื่อง นายแบงก์ชี้ทิศทางดอกเบี้ยทรงตัวจนถึงครึ่งหลังปีหน้า ก่อนจะปรับขึ้นอีก 0.5-0.75% เป็นโจทย์ท้าทายแบงก์ชาติ หากปรับขึ้นเร็วไม่เอื้อต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากกดในระดับต่ำนานอาจเผญิชภาวะเงินเฟ้อ

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน แถลงมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งสุดท้ายของปี 2553 ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำพิเศษที่ 1.25% ต่อปี ในขณะนี้ ยังเหมาะสมที่จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ยังเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นไปค่อยไป และยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายการเงินและการคลังต่อไป
อย่างไรก็ตาม ธปท.กำลังติดตามการเบิกจ่ายโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมามีความล่าช้า เพราะในขณะนี้ประเทศต้องการการอัดฉีดเงินจากนโยบายการคลังที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ในขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น จนกว่าจะแน่ใจว่าอัตราการขยายตัวของประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมั่นคง ในส่วนของเศรษฐกิจต่างประเทศกรฟื้นตัวยังคงเกิดขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงยังคงมีอยู่ ทำให้ต้องจับตาดูต่อไป
ขณะที่ผลกระทบจากการลดค่าเงินด่อง และการเลื่อนการชำระหนี้ของกลุ่มดูไบ เวิลด์ ยังไม่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม สำหรับแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปนั้น กนง.มองว่ายังอยู่ในระดับต่ำ แม้ใน 2 เดือนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเป็นบวก โดยบวกค่อนข้างสูงในเดือน พ.ย.ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.9%เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% แต่เกิดขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันในปีก่อนอยู่ในระดับต่ำมาก แต่ในปีนี้ราคาน้ำมันเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้น แต่หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ย.ที่อยู่ระดับ 0.1% จะเห็นชัดเจนว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในด้านอุปสงค์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ
นายไพบูลย์กล่าวว่า ธปท.ประเมินว่าจะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ลดลง 0.2% จากการลงทุนใหม่ที่ลดลง 1% ขณะที่ผลกระทบในส่วนโครงการที่ลงทุนแล้ว โดยประเมินจากรายได้สุทธิ การจ้างงาน และการบริโภคที่จะเกิดขึ้นจาก 75 โครงการที่ถูกระงับ หากการลงทุนจริงเลื่อนออกไป 1 ปี จะกระทบให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยปีหน้าลดลงอีก 0.3%
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นการประเมินทั้ง 75 โครงการ แต่หากจำนวนโครงการลดลงผลกระทบก็อาจจะเปลี่ยนไปเล็กน้อย ตามมูลค่าของโครงการที่ได้รับการพิจารณาให้เดินหน้าทำต่อไปได้

สำหรับแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปนั้น กนง.มองว่ายังอยู่ในระดับต่ำ แม้ใน 2 เดือนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเป็นบวก โดยบวกค่อนข้างสูงในเดือน พ.ย.ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.9%เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% แต่เกิดขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันในปีก่อนอยู่ในระดับต่ำมาก แต่ในปีนี้ราคาน้ำมันเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้น แต่หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ย.ที่อยู่ระดับ 0.1% จะเห็นชัดเจนว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในด้านอุปสงค์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ดอกเบี้ยทรงตัวถึงครึ่งปีหน้า

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)(KBANK) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วานนี้ที่พิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(อาร์/พี) ไว้ในระดับ 1.25%ว่า เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยเชื่อว่า กนง.จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ปี 53 ค่อนไปถึงครึ่งหลังของปี และทั้งปี 2553 จะปรับขึ้นในช่วง 0.5-0.75%

นอกจากนี้ หากประเมินว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้นโยบายในระยะเวลาดังกล่าว ก็เป็นไปได้ที่ธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนหน้า เพราะธนาคารพาณิชย์จะมองแนวโน้มการแข่งขันไปก่อนล่วงหน้า โดยหากดอกเบี้ยอาร์พีปรับขึ้นในช่วง 0.5-0.75% อัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็น่าจะขึ้นไม่น้อยกว่า 0.75% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังต้องขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและภาวะการแข่งขัน

"บอกไม่ได้ว่าจะปรับขึ้นเท่าไหร่ ดอกเบี้ยฝากตอนนี้ยังไม่มีการแข่งขันแบบมีนัยสำคัญ ซึ่งในแต่ละธนาคารก็แตกต่างกันไปคนละแบบ โดยเป็นไปตามสภาพคล่อง ซึ่งยังพูดชัดเจนในตอนนี้ไม่ได้"นายประสาร กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อขณะนี้ แม้ว่าในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จะเร่งตัวขึ้นมาเป็นบวกมากขึ้นที่ 1.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากไม่ได้เกิดจากอุปสงค์ที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งสะท้อนการบริโภคทั่วไปยังฟื้นตัวไม่แข็งแรง และ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ต่อเนื่องมากนัก

"ต้องดูว่าการยกเลิก หรือ ลดระดับของมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน จะเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวเร็วกว่าที่คาดหรือไม่ด้วย”นายประสาร กล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงไม่อยากทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบมาก รวมถึงต้องติดตามดอกเบี้ยต่างประเทศด้วย ซึ่งแม้ว่าในตอนนี้จะอยู่ระดับต่ำ แต่ก็เริ่มขยับขึ้นแล้ว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยถือว่ายังต่ำอยู่มาก โดยเป็นภาวะความจำเป็นตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ถ้าเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวปกติ ก็น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25%

"การใช้ดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะนานอาจเกิดภาวะฟองสบู่ได้ แต่สำหรับประเทศไทยตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่เลย ดังนั้น จะต้องหาความสมดุลกับเศรษฐกิจที่ถดถอยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะถ้าขึ้นดอกเบี้ยเร็วไปอาจจะเกิดผลเสีย แต่ถ้าผ่อนคลายนานไปเรื่อยๆ ก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้น คือ ทางด้านเงินเฟ้อ และการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายของ ธปท."นายประสาร กล่าว

ปีหน้า ROEหุ้นแบงก์สูงกว่า10%

สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2553 เชื่อว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าระหว่างการเคลื่อนไหวในรอบปี จะแกว่งตัวจากปัจจัยข่าวต่างๆ ที่อาจจะมากระทบ โดยทั้งปีดัชนีน่าจะขยับขึ้นเป็น 800-900 จุดได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของตลาดหุ้นยังคงเป็นประเด็นการเมือง ซึ่งอาจทำให้ Global Fund ต่างๆมองถึงความเสี่ยง และเลือกที่จะลงทุนไปยังตลาดหุ้นประเทศอื่นๆได้ แม้จะมองว่าการพิจารณาการลงทุนนั้น จะอยู่บนปัจจัยพื้นฐาน และผลตอบแทนเป็นหลักก็ตาม

"ตลาดหุ้นปีหน้าจะดีขึ้นในระยะยาว แต่ระยะสั้นจะแกว่งตัวตามสถานการณ์ที่มากระทบ เพราะตลาดหุ้นจะอ่อนไหวเรื่องพวกนี้ได้ง่าย ระยะสั้นเราจะเห็นถึงความผันผวน ซึ่งตุ้มถ่วงตลาดหุ้น คือ การเมือง ถ้าตัดตัวนี้ออกไปได้ ก็จะทำให้ global fund หันมามองตลาดเรามากขึ้น"นายประสาร กล่าว

สำหรับหุ้นของธนาคารกสิกรไทยในปีหน้า คาดว่าจะมีผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) มากกว่า 10% เนื่องจากธนาคารมีความเข้มแกร่งในการสร้างผลกำไร แม้จะนำเงินไปลงทุนพัฒนาในหลายด้าน เช่น ทางด้านไอทีก็ตาม ซึ่งคิดว่าผลตอบแทนดังกล่าวผู้ลงทุนจะพอใจ

"ในปัจจุบันราคาหุ้นของธนาคารยังไม่ถือว่าปรับเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงจนเกินไป เมื่อเทียบกับอดีตปี 2540 โดยค่า P/E อยู่ที่ประมาณ 3 เท่า แต่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.8-1.9 เท่า เท่านั้นเอง" นายประสารกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น