โดย....ประสาท มีแต้ม
ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีวิชาบังคับให้นักศึกษาต้องเรียนอยู่วิชาหนึ่งจำนวน 3 หน่วยกิต ชื่อว่า “วิชาวิทยาเขตสีเขียว (greening the campus)” วัตถุประสงค์หลักของวิชานี้ก็คือ ให้นักศึกษาลุกขึ้นมาศึกษาปัญหาส่วนรวมหรือปัญหาสาธารณะที่อยู่ในวิทยาเขตของตนเอง แต่โดยมากมักจะเน้นไปที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาขวดน้ำพลาสติกที่มีมากอย่างไม่น่าเชื่อ ปัญหาการประหยัดพลังงาน และกระดาษ เป็นต้น
กระบวนการศึกษาเริ่มต้นจากการคิดโจทย์วิจัยร่วมกันของนักศึกษากลุ่มละ 7- 8 คน จากนั้นก็ใช้กระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (และหรือสังคมศาสตร์) เมื่อได้ความรู้ที่อยู่ในรูปของรายงานแล้ว หากโครงงานใดน่าสนใจก็จะนำเสนอต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยตลอดจนสังคมภายนอกต่อไปด้วย
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา มีโครงการประหยัดไฟฟ้าที่ผมขอเรียกสั้นๆ ว่า “ระบบการควบคุมแสงสว่างตามทางเดิน” ผู้ศึกษาส่วนมากเป็นนักศึกษาจากภาควิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์
พวกเขาสังเกตว่า ตรงบริเวณทางเดินใต้อาคารของภาควิชาฯ มีการเปิดไฟฟ้าให้แสงสว่างตลอด 24 ชั่วโมงและตลอดทั้ง 365 วันด้วยซ้ำ (นักศึกษาเขาอ้างว่าอย่างนั้น) ไม่ว่าผู้คนจะเดินผ่านหรือไม่
ผมเองไม่ยืนยันว่าในบริเวณนั้นมีการเปิดไฟฟ้าตลอด 365 วันทั้งปีจริงหรือไม่ แต่มีการเปิดตอนกลางวันจริงและเปิดเต็มอัตราที่หลอดไฟมีอยู่ ทั้งนี้เพราะเป็นสวิตช์รวม เปิดทีเดียวสว่างไปหลายดวง อย่างไรก็ตาม มีบางบริเวณของมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดไฟฟ้าตลอดทั้งปีและตลอด 24 ชั่วโมงจริง ไม่ว่าจะมีคนเดินผ่านหรือไม่
ในแต่ละปี วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าปีละประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินก้อนโตทีเดียว แต่ไม่ทราบว่าเฉพาะที่เป็นแสงสว่างจะมีสัดส่วนสักเท่าใด ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็พยายามรณรงค์ให้ประหยัดไฟฟ้า แต่ไม่ค่อยมีมาตรการที่เป็นไปได้จริงเท่าที่ควร
กลับมาที่โครงงานของนักศึกษากันใหม่ครับ
หลังจากได้แนวคิดแล้ว พวกเขาก็นำมิเตอร์วัดไฟฟ้าไปติดในบริเวณนั้น เพื่อต้องการจะทราบว่า ในภาวะที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย จะมีการใช้ไฟฟ้าจริงสักเท่าใด
ผมถามนักศึกษาว่า “ทำไมต้องวัดด้วยละ คำนวณเอาก็ได้นิ” นักศึกษาบอกว่า “ไม่ได้หรอกอาจารย์ มันมีการใช้พลังงานที่บาลาดด้วย ต้องวัดให้แน่นอน” นี่ถือว่าเป็นความรู้ใหม่ของผม เพราะผมคิดว่าบริษัทผลิตหลอดไฟฟ้าได้บอกกำลังของทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่ความจริงกลับเป็นคนละอย่าง
ในที่สุดก็เป็นไปตามที่นักศึกษาว่า หลังจากการวัดติดต่อกันนาน 68 ชั่วโมง พบว่าบาลาดกินไฟฟ้าไปถึง 35% ของพลังงานทั้งหมด
เมื่อได้ข้อมูลในสภาพที่ยังไม่มีการจัดการอะไรเลยแล้ว หลังจากนั้นก็นำอุปกรณ์ควบคุมเข้าไปติดตั้ง
อุปกรณ์นี้จะทำหน้าที่ตัดไฟฟ้าให้ดับเมื่อไม่มีคนเดินผ่าน หรือมีคนอยู่แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ นักศึกษากลุ่มนี้เล่าให้ผมฟังว่า พวกเขาถูกเพื่อนๆ ที่นั่งอ่านหนังสืออยู่ใกล้ๆ ด่า นึกว่าผีหลอก เพราะอยู่ๆ ก็เกิดไฟดับเอง ความจริงแล้วถ้ามีการเคลื่อนไหว หรือยกมือยกไม้บ้างไฟฟ้าก็จะไม่ดับ
เมื่อคนเดินผ่านมาไฟฟ้าจะติดขึ้นทันที เมื่อคนผ่านไปแล้ว อีก 28 วินาทีหลอดไฟก็จะดับอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ตลอดไป
ผลการทดลองติดต่อกันนานเกือบ 15 วัน (358.5 ชั่วโมง) พบว่าหลอดไฟขนาด 36 วัตต์จำนวน 4 หลอดใช้พลังงานไฟฟ้าไปทั้งสิ้น 37 หน่วย
โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานที่เก็บไว้ก่อนหน้านี้ (นาน 68 ชั่วโมง) สามารถคำนวณได้ว่า ถ้าไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมใดๆ ในช่วงเวลา 358.5 ชั่วโมงดังกล่าว จะใช้พลังงานไฟฟ้าไปถึง 80 หน่วย
นั่นคือ ภายในเวลาประมาณ 15 วัน ถ้ามีการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมแสงสว่าง หลอดไฟฟ้าขนาด 36 วัตต์จำนวน 4 หลอด สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 43 หน่วย
หรือลดลงได้จากสภาพที่ไม่มีการควบคุมถึงกว่าเท่าตัว (ไม่ควบคุมใช้ 80 หน่วย ถ้าควบคุมใช้เพียง 37 หน่วย)
กล่าวให้ง่ายขึ้นจะได้ว่า เราได้ใช้ไฟฟ้าเกินความจำเป็นไปถึง 2.2 เท่าตัว
ทีนี้ลองมาคิดเป็นค่าใช้จ่าย เป็นตัวเงินกันบ้างซึ่งพอจะทำให้เรารู้สึกรู้สาขึ้นมาบ้าง
ถ้าค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.50 บาท จากหลอดไฟ 36 วัตต์จำนวน 4 หลอด ภายใน 15 วัน เราสามารถประหยัดได้ประมาณ 150 บาท ดังนั้นในเวลา 1 ปีเราสามารถประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 3,600 บาท
เล่ามาตั้งนาน ผมยังไม่ได้บอกเลยว่า อุปกรณ์ควบคุมนี้คืออะไร ราคาเท่าไหร่ และหาซื้อได้ที่ไหน
อุปกรณ์ชนิดนี้เรียกว่า พีไออาร์เซนเซอร์ (PIR sensor ย่อมาจาก Passive InfraRed sensor ค้นรายละเอียดรวมทั้งวงจรได้จากอินเทอร์เน็ต หาซื้อได้จากร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นร้านใหญ่ๆหน่อย) ราคาตามที่นักศึกษาบอกคือ 1,705 บาท
นั่นก็คือ ถ้าควบคุมดังที่กล่าวแล้ว เราสามารถได้ทุนคืนจากค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ภายในเวลาประมาณครึ่งปีเท่านั้น
สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ ในโครงงานชิ้นนี้นักศึกษาภาควิชาฟิสิกส์เขาติดตั้งกันเองครับ นอกจากจะติดตั้งกันเองแล้ว พวกเขาจะต้องจ่ายค่าอุปกรณ์เองด้วยเพราะคณะไม่มีนโยบายจะออกค่าใช้จ่ายให้นักศึกษา
หลังจากการนำเสนอผลการศึกษาต่อเพื่อนๆ ในชั้นเรียนเสร็จแล้ว ผมสังเกตได้ว่า นักศึกษาบางคนมีความภูมิใจในผลงานและในตัวเองมาก มีอยู่คนหนึ่งมาชวนผมคุยเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า “ตอนนี้ทะเลสาบสงขลาเป็นอย่างไรบ้างครับ เสื่อมโทรมไปเยอะไหม ตอนอยู่ที่โรงเรียนเก่าผมเคยไปร่วมกิจกรรมฟื้นฟูทะเลสาบ”
จากคำถามนี้ ผมคิดว่าประกายไฟแห่งการสร้างสรรค์ท้องถิ่นตามคำขวัญของวิชาที่ว่า “ห่วงใยโลกกว้าง สรรค์สร้างท้องถิ่น” ของนักศึกษาท่านนี้ยังคงมีพลังอยู่และพร้อมจะลุกโชนขึ้นทันทีเมื่อมีปัจจัยเกื้อหนุนพร้อม
ยังมีโครงงานดีๆ ของนักศึกษาอีกหลายชิ้น ผมจะพยายามนำมาเล่าเมื่อมีโอกาส อนึ่ง ผมได้ขอให้นักศึกษาทุกกลุ่มได้สรุปผลการศึกษาของตนเองเพื่อเสนอต่อผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ผมอยากจะให้เขาเขียนลงสื่อสาธารณะด้วย แต่ต้องเรียนตามตรงว่า นักศึกษาของเรา (อาจจะรวมถึงสถาบันอื่นด้วย) ยังขาดทักษะในการเขียนและการสื่อสารเป็นอย่างมาก
กระบวนการของวิชาวิทยาเขตสีเขียว ไม่ได้พอใจอยู่แค่ผลการศึกษาในกระดาษเท่านั้น แต่ต้องการขยายผลการศึกษาออกไปสู่การปฏิบัติจริงในสังคมวงกว้างด้วย
กล่าวเฉพาะการใช้พลังงานของคนไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ถือว่าประเทศเรายังมีการใช้ที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือใช้อย่างฟุ่มเฟือยมาก เราต้องช่วยกันปรับปรุงตนเองทุกภาคส่วนครับ
ขอขอบคุณนักศึกษากลุ่มนี้ที่นำความรู้ใหม่มาให้ผม แล้วผมก็ทำหน้าที่ขยายผลสู่สังคมวงกว้างต่อไปครับ
ผมขออนุญาตทิ้งท้ายบทความนี้ด้วยคำพูดของใครก็ไม่ทราบได้ แต่ผมเห็นด้วย อยู่ในหนังสือ “หันหน้าเข้าหากัน” โดย มาร์กาเร็ต เจ. วีตเลย์ ว่า
“ไม่มีอำนาจใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าที่ผู้คนในชุมชนได้ค้นพบสิ่งที่พวกเขาห่วงใย”
ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีวิชาบังคับให้นักศึกษาต้องเรียนอยู่วิชาหนึ่งจำนวน 3 หน่วยกิต ชื่อว่า “วิชาวิทยาเขตสีเขียว (greening the campus)” วัตถุประสงค์หลักของวิชานี้ก็คือ ให้นักศึกษาลุกขึ้นมาศึกษาปัญหาส่วนรวมหรือปัญหาสาธารณะที่อยู่ในวิทยาเขตของตนเอง แต่โดยมากมักจะเน้นไปที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาขวดน้ำพลาสติกที่มีมากอย่างไม่น่าเชื่อ ปัญหาการประหยัดพลังงาน และกระดาษ เป็นต้น
กระบวนการศึกษาเริ่มต้นจากการคิดโจทย์วิจัยร่วมกันของนักศึกษากลุ่มละ 7- 8 คน จากนั้นก็ใช้กระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (และหรือสังคมศาสตร์) เมื่อได้ความรู้ที่อยู่ในรูปของรายงานแล้ว หากโครงงานใดน่าสนใจก็จะนำเสนอต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยตลอดจนสังคมภายนอกต่อไปด้วย
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา มีโครงการประหยัดไฟฟ้าที่ผมขอเรียกสั้นๆ ว่า “ระบบการควบคุมแสงสว่างตามทางเดิน” ผู้ศึกษาส่วนมากเป็นนักศึกษาจากภาควิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์
พวกเขาสังเกตว่า ตรงบริเวณทางเดินใต้อาคารของภาควิชาฯ มีการเปิดไฟฟ้าให้แสงสว่างตลอด 24 ชั่วโมงและตลอดทั้ง 365 วันด้วยซ้ำ (นักศึกษาเขาอ้างว่าอย่างนั้น) ไม่ว่าผู้คนจะเดินผ่านหรือไม่
ผมเองไม่ยืนยันว่าในบริเวณนั้นมีการเปิดไฟฟ้าตลอด 365 วันทั้งปีจริงหรือไม่ แต่มีการเปิดตอนกลางวันจริงและเปิดเต็มอัตราที่หลอดไฟมีอยู่ ทั้งนี้เพราะเป็นสวิตช์รวม เปิดทีเดียวสว่างไปหลายดวง อย่างไรก็ตาม มีบางบริเวณของมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดไฟฟ้าตลอดทั้งปีและตลอด 24 ชั่วโมงจริง ไม่ว่าจะมีคนเดินผ่านหรือไม่
ในแต่ละปี วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าปีละประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินก้อนโตทีเดียว แต่ไม่ทราบว่าเฉพาะที่เป็นแสงสว่างจะมีสัดส่วนสักเท่าใด ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็พยายามรณรงค์ให้ประหยัดไฟฟ้า แต่ไม่ค่อยมีมาตรการที่เป็นไปได้จริงเท่าที่ควร
กลับมาที่โครงงานของนักศึกษากันใหม่ครับ
หลังจากได้แนวคิดแล้ว พวกเขาก็นำมิเตอร์วัดไฟฟ้าไปติดในบริเวณนั้น เพื่อต้องการจะทราบว่า ในภาวะที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย จะมีการใช้ไฟฟ้าจริงสักเท่าใด
ผมถามนักศึกษาว่า “ทำไมต้องวัดด้วยละ คำนวณเอาก็ได้นิ” นักศึกษาบอกว่า “ไม่ได้หรอกอาจารย์ มันมีการใช้พลังงานที่บาลาดด้วย ต้องวัดให้แน่นอน” นี่ถือว่าเป็นความรู้ใหม่ของผม เพราะผมคิดว่าบริษัทผลิตหลอดไฟฟ้าได้บอกกำลังของทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่ความจริงกลับเป็นคนละอย่าง
ในที่สุดก็เป็นไปตามที่นักศึกษาว่า หลังจากการวัดติดต่อกันนาน 68 ชั่วโมง พบว่าบาลาดกินไฟฟ้าไปถึง 35% ของพลังงานทั้งหมด
เมื่อได้ข้อมูลในสภาพที่ยังไม่มีการจัดการอะไรเลยแล้ว หลังจากนั้นก็นำอุปกรณ์ควบคุมเข้าไปติดตั้ง
อุปกรณ์นี้จะทำหน้าที่ตัดไฟฟ้าให้ดับเมื่อไม่มีคนเดินผ่าน หรือมีคนอยู่แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ นักศึกษากลุ่มนี้เล่าให้ผมฟังว่า พวกเขาถูกเพื่อนๆ ที่นั่งอ่านหนังสืออยู่ใกล้ๆ ด่า นึกว่าผีหลอก เพราะอยู่ๆ ก็เกิดไฟดับเอง ความจริงแล้วถ้ามีการเคลื่อนไหว หรือยกมือยกไม้บ้างไฟฟ้าก็จะไม่ดับ
เมื่อคนเดินผ่านมาไฟฟ้าจะติดขึ้นทันที เมื่อคนผ่านไปแล้ว อีก 28 วินาทีหลอดไฟก็จะดับอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ตลอดไป
ผลการทดลองติดต่อกันนานเกือบ 15 วัน (358.5 ชั่วโมง) พบว่าหลอดไฟขนาด 36 วัตต์จำนวน 4 หลอดใช้พลังงานไฟฟ้าไปทั้งสิ้น 37 หน่วย
โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานที่เก็บไว้ก่อนหน้านี้ (นาน 68 ชั่วโมง) สามารถคำนวณได้ว่า ถ้าไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมใดๆ ในช่วงเวลา 358.5 ชั่วโมงดังกล่าว จะใช้พลังงานไฟฟ้าไปถึง 80 หน่วย
นั่นคือ ภายในเวลาประมาณ 15 วัน ถ้ามีการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมแสงสว่าง หลอดไฟฟ้าขนาด 36 วัตต์จำนวน 4 หลอด สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 43 หน่วย
หรือลดลงได้จากสภาพที่ไม่มีการควบคุมถึงกว่าเท่าตัว (ไม่ควบคุมใช้ 80 หน่วย ถ้าควบคุมใช้เพียง 37 หน่วย)
กล่าวให้ง่ายขึ้นจะได้ว่า เราได้ใช้ไฟฟ้าเกินความจำเป็นไปถึง 2.2 เท่าตัว
ทีนี้ลองมาคิดเป็นค่าใช้จ่าย เป็นตัวเงินกันบ้างซึ่งพอจะทำให้เรารู้สึกรู้สาขึ้นมาบ้าง
ถ้าค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.50 บาท จากหลอดไฟ 36 วัตต์จำนวน 4 หลอด ภายใน 15 วัน เราสามารถประหยัดได้ประมาณ 150 บาท ดังนั้นในเวลา 1 ปีเราสามารถประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 3,600 บาท
เล่ามาตั้งนาน ผมยังไม่ได้บอกเลยว่า อุปกรณ์ควบคุมนี้คืออะไร ราคาเท่าไหร่ และหาซื้อได้ที่ไหน
อุปกรณ์ชนิดนี้เรียกว่า พีไออาร์เซนเซอร์ (PIR sensor ย่อมาจาก Passive InfraRed sensor ค้นรายละเอียดรวมทั้งวงจรได้จากอินเทอร์เน็ต หาซื้อได้จากร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นร้านใหญ่ๆหน่อย) ราคาตามที่นักศึกษาบอกคือ 1,705 บาท
นั่นก็คือ ถ้าควบคุมดังที่กล่าวแล้ว เราสามารถได้ทุนคืนจากค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ภายในเวลาประมาณครึ่งปีเท่านั้น
สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ ในโครงงานชิ้นนี้นักศึกษาภาควิชาฟิสิกส์เขาติดตั้งกันเองครับ นอกจากจะติดตั้งกันเองแล้ว พวกเขาจะต้องจ่ายค่าอุปกรณ์เองด้วยเพราะคณะไม่มีนโยบายจะออกค่าใช้จ่ายให้นักศึกษา
หลังจากการนำเสนอผลการศึกษาต่อเพื่อนๆ ในชั้นเรียนเสร็จแล้ว ผมสังเกตได้ว่า นักศึกษาบางคนมีความภูมิใจในผลงานและในตัวเองมาก มีอยู่คนหนึ่งมาชวนผมคุยเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า “ตอนนี้ทะเลสาบสงขลาเป็นอย่างไรบ้างครับ เสื่อมโทรมไปเยอะไหม ตอนอยู่ที่โรงเรียนเก่าผมเคยไปร่วมกิจกรรมฟื้นฟูทะเลสาบ”
จากคำถามนี้ ผมคิดว่าประกายไฟแห่งการสร้างสรรค์ท้องถิ่นตามคำขวัญของวิชาที่ว่า “ห่วงใยโลกกว้าง สรรค์สร้างท้องถิ่น” ของนักศึกษาท่านนี้ยังคงมีพลังอยู่และพร้อมจะลุกโชนขึ้นทันทีเมื่อมีปัจจัยเกื้อหนุนพร้อม
ยังมีโครงงานดีๆ ของนักศึกษาอีกหลายชิ้น ผมจะพยายามนำมาเล่าเมื่อมีโอกาส อนึ่ง ผมได้ขอให้นักศึกษาทุกกลุ่มได้สรุปผลการศึกษาของตนเองเพื่อเสนอต่อผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ผมอยากจะให้เขาเขียนลงสื่อสาธารณะด้วย แต่ต้องเรียนตามตรงว่า นักศึกษาของเรา (อาจจะรวมถึงสถาบันอื่นด้วย) ยังขาดทักษะในการเขียนและการสื่อสารเป็นอย่างมาก
กระบวนการของวิชาวิทยาเขตสีเขียว ไม่ได้พอใจอยู่แค่ผลการศึกษาในกระดาษเท่านั้น แต่ต้องการขยายผลการศึกษาออกไปสู่การปฏิบัติจริงในสังคมวงกว้างด้วย
กล่าวเฉพาะการใช้พลังงานของคนไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ถือว่าประเทศเรายังมีการใช้ที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือใช้อย่างฟุ่มเฟือยมาก เราต้องช่วยกันปรับปรุงตนเองทุกภาคส่วนครับ
ขอขอบคุณนักศึกษากลุ่มนี้ที่นำความรู้ใหม่มาให้ผม แล้วผมก็ทำหน้าที่ขยายผลสู่สังคมวงกว้างต่อไปครับ
ผมขออนุญาตทิ้งท้ายบทความนี้ด้วยคำพูดของใครก็ไม่ทราบได้ แต่ผมเห็นด้วย อยู่ในหนังสือ “หันหน้าเข้าหากัน” โดย มาร์กาเร็ต เจ. วีตเลย์ ว่า
“ไม่มีอำนาจใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าที่ผู้คนในชุมชนได้ค้นพบสิ่งที่พวกเขาห่วงใย”