xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการฟันแผนพัฒนาใต้หลงปั้น “จีดีพี” ชี้บทเรียนมาบตาพุดทำลายสุขภาวะประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – เวทีสัมมนากำหนดอนาคตคนสงขลาบนฐานทรัพยากรยั่งยืนชี้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เดินหน้าเต็มสูบปลุกผีเซาเทิร์นขนอุตสาหกรรมลงใต้ ร่วมศึกษาบทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดชี้ให้เห็นรัฐบริหารที่ล้มเหลว ปล้นทรัพยากรธรรมชาติจากมือชาวบ้านให้นายทุนมุ่งปั้นตัวเลข GDP แต่รายได้ของประชาชนกลับลดลง ซ้ำร้ายต้องจ่ายค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น และรับมลพิษทำให้สุขภาพย่ำแย่ แนะประชาชนช่วยกันกำหนดนโยบายพลังงานชาติร่วมกัน

วันนี้ (4 พ.ย.) ศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน อ.จะนะ ร่วมกับองค์กรเอกชนต่างๆ จัดเวทีสัมมนาร่วมกันกำหนดอนาคตคนสงขลาบนฐานทรัพยากรที่ยั่งยืน ที่ห้องประชุมเกษม ลิ่มวงศ์ อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ดร.อาภา หวังเกียรติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า รัฐบาลวางแผนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอาเซียน ยิ่งต้องนำทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวบ้านได้พึ่งพิงอย่างพอเพียงมาให้กลุ่มทุน แม้จะมีการต่อต้านแต่ก็พยายามโดยใช้แนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือเขตปกครองพิเศษเข้ามาผลักดันให้มีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการพื้นที่

ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่ประกาศชัดเจนในการพบปะภาคธุรกิจเอกชนที่ อ.หาดใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์และท่าเรือน้ำลึกระหว่างสงขลา-สตูล จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งหากจะให้เกิดการคุ้มค่าการลงทุนต้องเปิดให้อุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามา พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งเป็นคณะกรรมการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนิเวศ คือการผลักดันโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดอย่างเต็มรูปแบบนั่นเอง

ด้าน รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า มายาคติที่รัฐบาลสร้างเพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมข้ามชาติในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคือ GPD ที่สูงขึ้นโดยใช้รายได้เป็นตัวชี้วัด และไม่สนใจความสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจ 3 สาขา ในภาคอุตสาหกรรม บริการ และเกษตร จะอ่อนแอเพียงใด แม้ปี 2550 จะมีรายได้เฉลี่ยคนละ 1,035,536 บาท/ปี แต่เป็นเพราะต้องพึ่งพิงอุตสาหกรรม 88% ทว่ารายได้ในระดับครัวเรือนแท้จริงมีเพียง 25,090 บาท/ปี เท่านั้น ในขณะที่เศรษฐกิจของ จ.สงขลา ในปี 2550 ยังพึ่งพาเศรษฐกิจ 3 ขาในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ อุตสาหกรรม 33% เกษตร 28% และบริการ 39% หรือรายได้เฉลี่ยคนละ 114,981 บาท/ปี โดยไม่ต้องเผชิญกับมลภาวะจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว

“นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกได้เตือนไว้แล้วว่า การใช้จีดีพีเป็นตัวชี้วัดผลประกอบการกับการทำงานที่แย่นั้น ไม่ใช่ตัวชี้วัดถึงเศรษฐกิจที่มีความผาสุกอยู่ดีกินดี หรือช่วยให้สังคมในวงกว้างมีความสุขได้ แม้แต่ จ.สงขลาเองที่ยังไม่มีอุตสาหกรรมหนัก แต่ก็ได้บทเรียนจากการเข้ามาของโรงแยกก๊าซจะนะ ซึ่งถือเป็นการรุกรานฐานทรัพยากรของชาวบ้านอย่างแท้จริง เมื่อเทียบกับการสูญเสียโอกาส สุขภาพแล้วไม่อาจชดเชยด้วยเม็ดเงิน”

ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เปิดเผยว่า แนวโน้มจังหวัดแถบอ่าวไทยภาคใต้ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์จนถึง จ.ปัตตานี กำลังก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม โดยสงขลามีทั้งโรงไฟฟ้าจะนะและโรงแยกก๊าซที่กำลังขยายโรงที่ 2 และกำลังจะเกิดโรงไฟฟ้าเหมืองลิกไนท์ที่ อ.สะบ้าย้อย,โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกจะนะคู่กับท่าเรือปากบารา จ.สตูล, มอเตอร์เวย์, แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล, รถไฟรางคู่ เป็นต้น เพื่อรองรับการเกิดของนิคมอุตสาหกรรม

สิ่งที่คนสงขลาต้องเรียนรู้และตระหนักคือผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดใน จ.ระยอง ซึ่งอีกไม่ช้าคงจะได้เห็นการต่อสู้ด้านผลกระทบของสุขภาพที่ชาวระยองต้องเผชิญตลอด 25 ปี เพราะหน่วยงานรัฐเองกำหนดค่ามาตรฐานของระดับมลพิษขึ้นเองที่แสดงอาการโดยฉับพลัน ทำให้ต้องรับมลพิษในระดับต่ำไม่เกินค่ามาตรฐานทุกวัน ร่างกายสะสมสารพิษทีละน้อยจนมีอาการป่วยเรื้อรัง

ผศ.ประสาท มีแต้ม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า เราถูกลุ่มทุนหลอกมาโดยตลอดให้พึ่งพิงพลังงานฟอสซิล ทั้งถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ เพื่อไม่ให้ความสำคัญกับพลังงานชีวมวลและพลังงานหมุนเวียนที่มาจากลม แสงอาทิตย์ ของเสียจากการเกษตร ทำให้คนไทยต้องเผชิญกับการพัฒนาที่ยิ่งยากจน ต้องจ่ายค่าพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของรายได้

โดยสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าปี 2550 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยเร่งผลิตไฟฟ้าเพียงเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรม ซึ่งมีความต้องการสูงที่สุด 49% รองลงมาคือภาคธุรกิจ 25% ที่อยู่อาศัย 21% และลูกค้าอื่นๆ 5% แต่พบว่าคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าครัวเรือน แพงกว่าค่าไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมถึง15%

“นโยบายไฟฟ้าของไทย เป็นอาชญากรรมการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย แต่เราจะหลุดพ้นจากตรงนั้นได้ต้องหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน และพลเมืองต้องร่วมกันกำหนดนโยบายพลังงานเอง” ผศ.ประสาทกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น