xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ตั้งเป้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1 พันเมกะวัตต์ ในปี 63

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดสัมมนาเรื่อง "แรงกดดันต้นทุนไฟฟ้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ" โดยเชิญผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานมาชี้แจงถึงปัญหาวิกฤติพลังงานในอนาคต
นายวิรัช กาญจนพิบูลย์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กฟผ.ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 70 โดยในจำนวนนี้นำเข้าจากพม่าร้อยละ 25 ถือเป็นความเสี่ยงและแรงกดดันของต้นทุนไฟฟ้า เพราะราคาก๊าซธรรมชาติจะขึ้นลงตามราคาน้ำมัน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ค่าไฟฟ้ามีโอกาสแพงขึ้น และยังมีความเสี่ยงด้านความ มั่นคงของพลังงานในประเทศ เพราะพึ่งพิงก๊าซจากต่างประเทศ กฟผ.จึงมีแผนปรับไปสู่เชื้อเพลิงชนิดอื่น ได้แก่ ถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งมีเป้าหมายสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 1 แห่ง ในปี 2563 และอีก 1 แห่งในปี 2564 จากนั้นจะนำก๊าซไปใช้ในภาคขนส่งแทนน้ำมัน
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ก๊าซในอ่าวไทยคาดว่าจะเหลือใช้อีก 19 ปี ซึ่งในช่วง 1-2 ปีนี้ จะยังไม่เห็นผลกระทบจากต้นทุนไฟฟ้า เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำและเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับไทยมีการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินถึงร้อยละ 25 แต่ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวในช่วง 4 ปีข้างหน้า ปีละร้อยละ 4-5 ไฟฟ้าที่ผลิตได้อาจไม่เพียงพอ ดังนั้น ไทยควรเริ่มต้นสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งแต่ตอนนี้ เนื่องจากต้องใช้เวลาสร้าง 13 ปี
นายสุวิทย์ ลิ้มวัฒนะกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นห่วงต้นทุนค่าไฟฟ้าของผู้บริโภค หลังพบว่าช่วงวิกฤตน้ำมันแพงมีผู้ใช้รถจำนวนมากหันไปใช้ก๊าซ แสดงถึงผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และแม้ปัจจุบันค่าไฟฟ้าในประเทศจะอยู่ระดับปานกลางและเท่ากับค่าไฟฟ้าในประเทศสหรัฐฯ แต่พบว่ารายได้ต่อคนไทยต่ำกว่าสหรัฐฯ มาก ดังนั้นหากรัฐบาลไม่สนับสนุนด้านราคาในอนาคต ก็เกรงว่าคนไทยจะไม่มีเงินจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น