xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด!อุ้มนายทุนทิ้งโชห่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เป็นไปตามคาด! ครม.เลือกอุ้มนายทุน ทิ้งโชห่วย ใช้ดีเลย์ แทกติกส่งกฎหมายค้าปลีกเข้าครม.เศรษฐกิจ พิจารณาซ้ำวันนี้ นายกรัฐมนตรีให้เหตุผลสั้นๆ อยากให้รวมร่างกันระหว่างร่างพาณิชย์กับร่างทีทีอาร์ “พาณิชย์”ระบุคิดไว้แล้วว่าจะต้องออกมาอย่างนี้ แจงเหตุถูกยักษ์ค้าปลีกค้าน เพราะกำหนดชัดใครต้องขออนุญาต แต่ร่างทีทีอาร์ให้ออกกฎกระทรวงกำหนดภายหลัง ทำให้ถ่วงเวลาได้อีก
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์ นำร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ. … เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในวันนี้ (2 ธ.ค.) เพื่อเสนอประกบกับร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของรัฐบาล เนื่องจากบางเรื่องมีรายละเอียดมาก จึงอยากให้ใช้เวลาในการพิจารณา ประกอบกับนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่อยู่ เพราะเดินทางไปราชการที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอร่างกฎหมายค้าปลีกให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยได้ยืนยันว่าเป็นร่างกฎหมายที่ดีที่สุด เพราะได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงร่างกฎหมาย ที่สำคัญเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และมติครม. ที่ให้ยกร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมครม. นางพรทิวาไม่ได้อยู่ชี้แจงด้วยตนเอง เพราะได้เดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ที่เจนีวา
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ถือว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ว่าจะมีการใช้ดีเลย์ แทกติก ในการชะลอการออกกฎหมายค้าปลีก เพราะการที่ได้ขอให้นำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของครม.เศรษฐกิจอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ครม.สามารถมีมติรับหรือไม่รับได้เลย ที่สำคัญนายกรัฐมนตรียังต้องการให้มีการร่วมร่างกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์กับร่างกฎหมายที่ประธานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) ยกร่างไว้อีก ก็เท่ากับว่าต้องการให้ชะลอการออกกฎหมายฉบับนี้ออกไป เพราะกว่าจะรวมร่างกันได้ จะต้องใช้เวลาอีกนาน
นอกจากนี้ ยังมีการให้เหตุผลว่าร่างกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ เป็นร่างกฎหมายที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตหรือขยายสาขาของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ การให้อำนาจคณะกรรมการกลางมากจนเกินไป และให้การเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่สนับสนุนร่างกฎหมายของทีทีอาร์ว่าเป็นร่างที่ดี เหมาะสม และเป็นร่างที่ได้มีการศึกษากฎหมายของประเทศต่างๆ มาประกอบ
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดการขออนุญาตตั้ง หรือขยายสาขา ไว้อย่างชัดเจน โดยแบ่งขนาดเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ร้านค้าขนาดใหญ่มาก พื้นที่ 3,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีระยะห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 10 กม. เวลาเปิดปิด 12-16 ชั่วโมง ร้านค้าขนาดใหญ่ พื้นที่ 1,000-2,999 ตารางเมตร ต้องห่างเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 5 กม. เวลาเปิดปิด 12-16 ชั่วโมง ร้านค้าขนาดกลางพื้นที่ 300-999 ตารางเมตร ต้องห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 3 กม. เวลาเปิดปิด 12-16 ชั่วโมง และร้านค้าขนาดเล็ก พื้นที่ 120-299 ตารางเมตร ต้องห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 1 กม.ไม่กำหนดระยะเวลาเปิดปิด
ส่วนการควบคุมดูแลตามกฎหมาย จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการกลางกำกับดูแลค้าปลีกค้าส่ง กำกับดูแลภาพรวมของนโยบาย และคณะกรรมการระดับจังหวัด กำกับดูแลเรื่องการขยายสาขาธุรกิจค้าปลีกค้าส่งให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ และยังเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาค้าปลีกรายย่อยขึ้นมาด้วย
ขณะที่ร่างกฎหมายของทีทีอาร์ ไม่มีการกำหนดประเภทของค้าปลีกที่จะต้องขออนุญาตตั้งหรือขยายสาขา โดยให้ออกเป็นกฎกระทรวงในภายหลัง ส่วนการควบคุมดูแลตามกฎหมาย จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาในลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ไม่มีการจัดตั้งของทุนดูแลค้าปลีกรายย่อย
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายค้าปลีกของทีทีอาร์ที่มีการออกมาสนับสนุนของร้านค้าปลีกรายใหญ่บางรายนั้น จริงๆ แล้วเป็นร่างที่กระทรวงพาณิชย์เคยยกร่างไว้เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ในสมัยที่นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งในครั้งนั้น ค้าปลีกรายใหญ่ได้ออกมาคัดค้านอย่างหนักว่าไม่มีการกำหนดประเภทค้าปลีกที่จะต้องขออนุญาตให้ชัดเจน แต่มาครั้งนี้กลับให้การสนับสนุน เพราะเห็นว่าเป็นหนทางที่จะชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไปได้อีก หากกฎหมายผ่านการพิจารณา ก็ต้องมีการออกกฎกระทรวงในภายหลัง แต่กฎหมายของพาณิชย์ฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ในกฎหมายเลย หากกฎหมายบังคับใช้ก็ต้องปฏิบัติตามทันที

++สำหรับธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท แต่ผลจากการที่ประเทศไทย ไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมการแข่งขัน ส่งผลให้รายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่เพียง 5-6 ราย และมีการขยายสาขาแข่งขันกับร้านค้าปลีกรายย่อย หรือโชห่วย จนต้องปิดกิจการจำนวนมาก โดยข้อมูลการขยายสาขาของห้างค้าปลีกสมัยใหม่จากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าตั้งแต่ปี 2548
ถึงเดือนก.ค.2552 มีการขยายสาขาเกิดขึ้นมากมาย โดยมี เทสโก้ โลตัสเพิ่มสาขามากสุดจากปี 2548 มี 184 แห่ง เป็น 633  แห่ง บิ๊กซี 50 แห่ง เป็น 77 แห่ง คาร์ฟูร์ 23 แห่ง เป็น 34 แห่ง แม็คโคร 29 แห่ง เป็น 42 แห่ง ท็อป ซูเปอร์มาร์เก็ต 81 แห่ง เป็น 109 แห่ง และเซเว่น อีเลฟเว่น 3,311 แห่ง เป็น 4,943 แห่ง
/////////////
กำลังโหลดความคิดเห็น