xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อผู้ออกกฎหมายหักดิบกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต


สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ใช้อำนาจพิจารณากฎหมายออกมาใช้บังคับร่วมกันในสังคม

พูดง่ายๆ ว่า เป็นคนทำคลอดกฎหมาย

หากผู้เป็น ส.ส.หรือ ส.ว. กลับกลายเป็นผู้จงใจกระทำผิดกฎหมาย หรือละเมิดกฎหมายเสียเอง ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้


อาจเทียบเคียงได้กับ “บุพการีข่มขืนลูกในไส้ของตัวเอง”

ส.ส. และ ส.ว.ชุดปัจจุบัน มีกรณีที่อาจเป็นการกระทำผิดกฎหมาย อย่างน้อย 2 เรื่อง

1. ส.ว.เลือก กทช.

(1) กทช. หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของกิจการโทรคมนาคมมูลค่านับล้านล้านบาท ในการจัดสรรคลื่นความถี่ การกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและบริหารคลื่นความถี่ของชาติ

เอาแค่เฉพาะที่เกี่ยวกับการพิจารณาใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ 3 จี ก็มีมูลค่าผลประโยชน์ทางธุรกิจเกี่ยวข้องหลายแสนล้านบาท

ไม่แปลกใจที่บริษัทโทรคมนาคมเอกชนจะต้องการได้คนของตัวเองเข้าไปเป็น กทช. เพื่อจะได้ดำเนินการออกใบอนุญาติระบบ 3 จี ดูแลกิจการดาวเทียม หรือแปรสัญญาโทรคมนาคมโดยเร็ว!

(2)กฎหมายกำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจหน้าที่ในการเลือก กทช. ตามกระบวนการสรรหา

ด้วยเหตุที่การเลือก กทช.เป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล กฎหมายจึงกำหนดให้ ส.ว.ทำการเลือก กทช. โดยรัดกุม รอบคอบ ให้มีการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอจากคณะกรรมการสรรหา และในการลงมติเลือก กทช. ก็กำหนดให้เป็นการลงคะแนนลับ โดยเจตนาก็เพื่อให้ ส.ว.เป็นอิสระ ป้องกันการวิ่งเต้น ล็อบบี้ แทรกแซง หรือกดดันการตัดสินใจของ ส.ว. โดยจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ ต้องได้ 76 เสียงขึ้นไป จากจำนวน ส.ว. 150 คน และหากการลงคะแนนรอบแรกได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็กำหนดให้ลงคะแนนลับรอบที่สองต่อเนื่องทันที โดยต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งเช่นกัน หากไม่ได้ ก็ให้วุฒิสภาส่งชื่อกลับไปให้คณะกรรมการสรรหา ดำเนินการสรรหาผู้สมควรเป็น กทช.มาใหม่

เหตุที่กำหนดให้ลงคะแนนรอบที่สองต่อไปทันที ก็เพื่อป้องกันการวิ่งเต้นล็อบบี้ กดดัน แทรกแซงการตัดสินใจของ ส.ว. ในระหว่างการประชุมเพื่อลงคะแนนอีกครั้ง ภายหลังจากปรากฏผลคะแนนรอบแรกแล้วนั่นเอง!


(3)เนื่องจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2543 กำหนดให้ กทช.มีการจับสลากออกจำนวนครึ่งหนึ่ง หลังทำงานไปครบ 3 ปี (จากอายุงาน 6 ปี) ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2550 ผู้ได้จับสลากออก ประกอบด้วย พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ และนายเหรียญชัย เรียววิไลสุข นอกจากนี้ นายอาทร จันทวิมล กทช.อีกคนหนึ่ง ก็ได้ลาออกไปก่อนแล้ว

เท่ากับว่า จะต้องมีการสรรหา กทช. 4 ตำแหน่ง แทนตำแหน่งที่ว่างลงจากการลาออก 1 ตำแหน่ง และแทนตำแหน่งที่ว่างลงจากการจับสลากออกอีก 3 ตำแหน่ง

ในการดำเนินการเลือก กทช.ของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2552 เกิดปัญหาว่า วุฒิสภาอาจมิได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย!

(4)ในการประชุมวุฒิสภา วาระการเลือก กทช. แทนตำแหน่งที่ว่างจากการลาออก 1 ตำแหน่ง มีผู้ได้รับการเสนอชื่อ 2 คน คือ นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร และ พล.อ.ชูชาติ สุขสงวน

ปรากฏว่า ในช่วงแรกเป็นการประชุมโดยเปิดเผย เพื่อพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อ มีการอภิปรายประมาณ 1 ชั่วโมง มี ส.ว.บางท่าน (นายวรินทร์ เทียมจรัส) อภิปรายวิพากษ์เปิดโปงว่า มีการนำผู้สมัครบางคนมาขอเสียงสนับสนุนและแจกเอกสารแนะนำตัวหลังห้องรับทานอาหารของสมาชิกวุฒิสภา

จากนั้น เป็นการประชุมลับ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ก่อนที่จะลงมติด้วยการใช้บัตรลงคะแนนลับ ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ ต้องได้ 76 เสียงขึ้นไป (และหากรอบแรกได้ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ลงคะแนนลับรอบที่สองทันที ไม่ต้องอภิปรายอีก เพราะเปืดให้อภิปรายกันไปหมดแล้ว โดยต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งเช่นกัน หากไม่ได้ วุฒิสภาต้องส่งชื่อกลับไปให้คณะกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการสรรหาใหม่)

ปรากฏว่า การลงคะแนนลับรอบแรก นายสุรนันท์ได้ 69 คะแนน พล.อ.ชูชาติได้ 56 คะแนน งดออกเสียง 17 คะแนน ทำให้ต้องมีการลงคะแนนลับรอบสอง

แต่แล้ว... แทนที่วุฒิสภาจะดำเนินการลงคะแนนเลือก กทช.รอบที่สองต่อไปทันที กลับปรากฏว่า มี ส.ว.จากจังหวัดอ่างทองลุกขึ้นอภิปรายโน้มน้าว ชี้นำ ทำนองว่าหากรอบสองไม่ได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง จะต้องเสียเวลาสรรหากันใหม่นาน ยิ่งกว่านั้น นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น ยังทำการแจ้งต่อประชุม ส.ว.โดยอ้างถึงการประชุมกมธ.วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) เอ่ยอ้างในลักษณะทวงถามถึงอาณัติหรือข้อผูกพัน กล่าวทำนองว่า ใครได้คะแนนสูงกว่าในรอบแรก ส.ว.ก็มีสัญญาสุภาพบุรุษกันอยู่

หลังจากนั้น จึงมีการลงคะแนนลับรอบสอง!

ผลปรากฏว่า นายสุรนันท์ ได้ 82 คะแนน พล.อ.ชูชาติ ได้ 42 งดออกเสียง 17 คะแนน ทำให้นายสุรนันท์ ได้รับเลือกเป็นกทช.!

การกระทำของ ส.ว.ในการเลือก กทช.เยี่ยงนี้ ไม่เหมาะสม และไม่น่าจะถูกต้องตามกฎหมายบัญญัติ

มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการ “หักดิบกฎหมาย” เพียงเพราะเร่งรีบอยากให้ได้ กทช. ตามอาณัติของผู้ใด?

จะเข้าข่ายจงใจละเว้น หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กระทำการขัดต่อกฎหมาย หรือไม่?

และผลของการสรรหาจะชอบและถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?


การตกลงกัน กรมีสัญญาสุภาพบุรุษ (ฮั้วกัน) การอภิปราย พูดจา ย้ำถึงข้อตกลงลับ ทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ถูกบิดเบือน

เสมือนเป็นการแก้กฎหมายอย่างเถื่อนๆ ให้ผู้ได้คะแนนนำ หรือได้คะแนนสูงกว่าเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ซึ่งทำให้การคัดเลือกไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

ยิ่งกว่านั้น การชี้นำของ ส.ว.อ่างทอง และการย้ำเตือนและทวงถามถึงสัญญาฮั๊วกัน (สัญญาสุภาพบุรุษ) ของผู้ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกฎหมายได้กำหนดห้ามไว้ เพื่อให้ ส.ว.เป็นอิสระ และต้องปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 อีกด้วย

2.ส.ส.และ ส.ว.รับผลประโยชน์พิเศษจากหน่วยงานของรัฐ ด้วยการซื้อปืนราคาถูก


(1)กรมการปกครองได้จัดทำโครงการจัดหาอาวุธปืนสั้น เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการกรมการปกครอง และข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่เนื่องจากมี ส.ส. และ ส.ว.ให้ความสนใจโครงการดังกล่าว จึงขยายโอกาสให้แก่สมาชิกรัฐสภา เข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย

โครงการจัดซื้ออาวุธปืนดังกล่าว เป็นการจัดให้กับบุคคลในกลุ่มราชการโดยเฉพาะ จัดให้พิเศษ ไม่ใช่ธุรกิจการงานทั่วไปของกรมการปกครอง และไม่ได้เปิดโอกาสขายปืนให้กับบุคลทั่วไป

ที่สำคัญ การซื้อปืนในโครงการดังกล่าว จะได้ราคาถูกกว่าท้องตลาด เช่น ปืนยี่ห้อสมิทแอนด์เวสสัน รุ่น เอ็ม 868 ชนิดรีวอลเวอร์ ขนาด .357 แม็กนั่ม ราคาตลาด 1 แสนบาท แต่ราคาโครงการ 56,900 บาท, ปืนยี่ห้อกล็อค รุ่น จี 36 ชนิดกึ่งออโต้ขนาด .45 เอซีพี ราคาตลาด 95,000 บาท แต่ราคาโครงการ 44,000 บาท, ปืนยี่ห้อซิกเซาเออร์ รุ่น 1911 ชนิดกึ่งออโต ขนาด .45 ราคาตลาด 150,000 บาท แต่ราคาโครงการเพียง 79,000 บาท เป็นต้น

เท่ากับว่า ผู้ซื้อในโครงการของกรมการปกครองดังกล่าว จะได้ผลประโยชน์พิเศษเป็นส่วนลดราคาปืน มูลค่ากว่า 50%

(2)รัฐธรรมนูญ มาตรา 265 (3) ได้บัญญัติห้ามเรื่องการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ว่า ส.ส.และ ส.ว. ต้อง “ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานตามปกติ”

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมีข้อห้ามดังกล่าว เนื่องจาก ส.ส.และ ส.ว.เป็นผู้มีหน้าที่ในด้านนิติบัญญัติ และการตรวจสอบควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร ได้แก่ รัฐบาล และหน่วยราชการ จึงห้ามมิให้ไปรับผลประโยชน์พิเศษจากหน่วยานของรัฐหรือในสังกัดรัฐบาล เพื่อป้องกันมิให้ ส.ส.และ ส.ว. ถูกแทรกแซง ก้าวก่าย ครอบงำ ติดสินบน หรือใช้ผลประโยชน์พิเศษเข้ากดดัน-จูงใจ-สร้างบุญคุณ ผ่านหน่วยงานต่างๆ อันจะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส.และ ส.ว.


อย่างไรก็ตาม... ส.ส. และ ส.ว. สามารถได้รับเงินหรือประโยชน์ที่หน่วยงานของรัฐจัดให้เป็นการทั่วไปได้ตามปกติ เช่น ใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำประปา ซื้อตั๋วเครื่องบิน ค่าสะสมไมล์การเดินทาง ฯลฯ เพราะหน่วยงานรัฐก็ได้ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติอยู่แล้ว ไม่ถือว่าเป็นผลประโยชน์พิเศษ

แตกต่างจากส่วนลดพิเศษ สิทธิพิเศษ เปอร์เซ็นตร์พิเศษ หรือผลประโยชน์พิเศษ ที่หยิบยื่นให้เฉพาะกับ ส.ส.หรือส.ว. โดยที่ปกติไม่มีบริการหรือการให้ผลประโยชน์ดังกล่าวแก่คนทั่วไป

(3)ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 106 คน เข้ารับผลประโยชน์พิเศษจากการซื้อปืนในโครงการดังกล่าว โดยสั่งซื้อปืนจำนวนกว่า 100 กระบอก (บางคนสั่งซื้อ 5 กระบอก)


มีทั้ง ส.ส.จากพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน

น่าเสียใจ... ส.ส.และ ส.ว. บางคน เมื่อถูกท้วงติงในประเด็นดังกล่าว แทนที่จะถอนตัว หรือแก้ไขการกระทำ เพื่อแสดงความสุจริตใจว่าไม่มีเจตนาต้องการผลประโยชน์พิเศษจากหน่วยงานดังกล่าว กลับปรากฎว่า พยายามจะตอบโต้ แก้ตัว หาคำอธิบาย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง

สะท้อนชัดถึงความต้องการจะเข้าไปรับผลประโยชน์พิเศษดังกล่าว ยิ่งมัดแน่นถึงเจตนาแห่งการกระทำ

ส.ส.บางราย อ้างว่า เป็นการใช้สิทธิตามที่กรมการปกครองเสนอให้ ไม่ใช่การรับผลประโยชน์ แต่เป็นเรื่องสวัสดิการ “ข้าราชการยังได้รับได้ แล้วทำไม ส.ส.จะรับไม่ได้” ตนเองก็เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ”

การอ้างเช่นนี้ ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย หากนักการเมืองไม่ลืมสถานะแห่งตำแหน่งและหน้าที่ของตน กระทั่งลืมไปว่าตนเองเป็น ส.ส. และ ส.ว. ไม่ใช่ลูกน้องรัฐบาล และลืมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ห้ามไว้

ส.ส.และ ส.ว.เป็นผู้ตรวจสอบรัฐบาล ไม่ใช่ข้าราชการที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล


ส.ส.และ ส.ว.ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อห้ามในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่บังคับไว้เป็นการเฉพาะ (ต่างจากข้าราชการ) เพราะเกรงผลประโยชน์ขัดกันระหว่างผลประโยชน์บุคคลและรัฐ

รัฐธรรมนูญมิได้ห้ามหน่วยงานของรัฐเสนอผลประโยชน์พิเศษแก่ ส.ส. และ ส.ว.

แต่รัฐธรรมนูญห้าม ส.ส.และ ส.ว.มิให้รับผลประโยชน์พิเศษจากหน่วยงานของรัฐ


หน่วยงานของรัฐใดๆ จะเสนอผลประโยชน์พิเศษมโหฬาร จนทำให้ ส.ส.และ ส.ว.บางคนตาโต แทบจะกระโดดเข้าใส่ หรือรู้สึกเป็นบุญคุณล้นเหลือเพียงใดก็ตาม แต่ ส.ส.และ ส.ว.ก็ห้ามรับ ตามรัฐธรรมนูญ

(4)กรณี ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปรับผลประโยชน์พิเศษ โดยการซื้อปืนจากโครงการของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งหน่วยราชการดังกล่าวไม่ได้มีธุรกิจการงานโดยปกติที่จะจัดซื้อปืนให้ใคร และการให้ส่วนลดพิเศษกว่า 50% แก่ผู้ที่เข้าโครงการนั้น ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้าร่วมโครงการ แต่เป็นการให้สิทธิพิเศษสำหรับข้าราชการของมหาดไทย หรือแม้จะระบุให้แก่ ส.ส.หรือ ส.ว.ก็ตาม

การกระทำของ ส.ส. และ ส.ว. น่าจะขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 (3)

เป็นการกระทำที่ไม่น่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง !


เรื่องนี้ แม้มิใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่ก็ควรทำให้ถูกต้องเป็นเยี่ยงอย่างที่ดี และควรยกเลิกการจองซื้อเสีย ความผิดของท่านยังไม่สำเร็จ เพราะยังไม่ได้จ่ายเงินและนำปืนมาครอบครอง มิฉะนั้นก็สมควรจะต้องถูกตรวจสอบตามกลไกของรัฐธรรมนูญ ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการชี้ขาดต่อไป


3.การถอดถอนสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ


มีผู้เข้าชื่อเพื่อยื่นถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต่อประธานวุฒิสภา ในฐานะที่นายสมชายเป็นนายกฯ ที่กระทำมิชอบด้วยกฎหมาย ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ทำร้ายประชาชนอย่างโหดเหี้ยม วันที่ 7 ต.ค. 2551 ที่หน้ารัฐสภา

ปรากฏว่า ประธานวุฒิสภายังรีรอ ไม่ดำเนินการถอดถอน โดยอ้างว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ได้พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว การดำเนินการถอดถอนก็ไม่มีผลแต่อย่างใด

ท่าอาจจะลืมไปว่า การถอดถอน (impeachment) ตามรัฐธรรมนูญ โดยวุฒิสภา มีผลทำให้ผู้ถูกถอดถอนต้องหยุดทำงานการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ถอดถอน ซึ่งต่างกับกรณีการพิจารณาโทษปลดจากตำแหน่งในกรณีผิดกฎหมายหรือผิดวินัยราชการ

คงไม่เป็นไปอย่างที่มีผู้นินทา ว่าประธานวุฒิสภาเคยเป็นผู้พิพากษาเช่นเดียวกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จึงช่วยเหลือกัน เพราะท่านประธานคนนี้ก็ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมาโดยตลอดอยู่แล้ว

ครั้งนี้ การถอดถอนคงไม่ใช้เวลามาก เพราะเมื่อประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบมูลความผิด ก็จะได้คำตอบที่รวดเร็ว เพราะ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนและชี้มูลความผิดในกรณีเหตุการณ์ 7 ต.ค.2551 ไปก่อนหน้านี้แล้ว

ไม่จำเป็นต้องรอเปิดสมัยประชุมสภา เพราะการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบมูลความผิดไม่ต้องรอสมัยประชุมสภา ยิ่งกว่านั้น กฎหมายยังกำหนดด้วยว่า หาก ป.ป.ช.ชี้มูลคาวมผิดแล้ว เมื่ออยู่นอกสมัยประชุมสภาก็ให้เปิดประชุม ดำเนินการถอดถอนได้

และอย่าลืมดำเนินการเรื่องเดียวกันนี้ กับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ถอดถอนออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในคดี 7 ต.ค.ด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น