xs
xsm
sm
md
lg

จี้ มท.โอนเมกะโปรเจกต์ CCTV ให้ท้องถิ่นบริหาร (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน

ความล้มเหลวของโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ สะท้อนถึงระบบการเมืองแบบเก่าๆ ที่ไม่โปร่งใสยังมีบทบาทครอบงำสังคมไทยอยู่มาก โดยเอาวิกฤตประเทศชาติ และความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นเครื่องมือแสวงประโยชน์


จากการลงพื้นที่ชายแดนใต้ของ “ศูนย์ข่าว ASTVผู้จัดการหาดใหญ่” พบว่า ประชาชนยังต้องเผชิญกับเหตุร้ายที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และชีวิตคนรวมถึงทรัพย์สินถูกใช้เป็นเครื่องทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องมือชนิดนี้มาต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะชาวบ้านตาดำๆ ไม่เคยทราบเลยว่า กล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งทั่วเสาไฟฟ้าเกลื่อนเมืองนั้น ใช้การได้หรือไม่ จนกว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นก่อนเท่านั้น

โครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการโดยงบประมาณกลางของกระทรวงมหาดไทย นับตั้งแต่การประมูลโดยไม่ผ่านหน่วยงานในท้องถิ่น แม้แต่ระดับจังหวัด เพียงแต่ให้เข้าร่วมประชุมรับรู้ข้อมูลเพียงบางส่วนเท่านั้น จึงเป็นช่องว่างที่จังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนถึงความล้มเหลวที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะอะไร

แต่นี่ก็ไม่ใช่โครงการแรกที่ใช้งบประมาณไปจำนวนมาก แต่ไม่อาจซื้อความเชื่อมั่นจากประชาชนได้ เพราะก่อนที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งเอง กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการชุดแรกของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อปี 2547 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมี นายโภคิน พลกุล รมว.มหาดไทย นั่งบัญชาการดับไฟใต้ โดยมีการหนดสเปก ตลอดจนการหาบริษัทผู้รับสัมปทานที่มีบริษัท ซายเนค เทคโนโลยี จำกัด ตัวแทนจำหน่ายกล้องวงจรปิด AVTECH จากประเทศไต้หวัน

เช่นเดียวกันที่หลังการใช้งานในระยะหนึ่ง สังคมเกิดข้อกังขาของประสิทธิภาพ เฉพาะในเขตเทศบาลนครยะลา มีการติดตั้งจำนวน 64 ตัว มูลค่า 32 ล้านบาท แต่ประชาชนเพิ่งทราบภายหลังว่า กล้องจำนวนมากไม่สามารถใช้งานได้ หรือที่ใช้ได้ก็ไม่เต็มร้อย เนื่องจากระบบไม่สมบูรณ์ หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดร้านก๋วยเตี๋ยวโบราณ ริมถนนเทศบาล 3 เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2548 เพราะกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตรงบริเวณสี่แยกตรงหน้าร้านกลับใช้การไม่ได้

เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 60 คน และเจ้าของร้านนอกจากต้องสังเวยชีวิตแก่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแล้ว ยังรวมถึงการทำงานของรัฐที่สุดชุ่ย อีกทั้งยังใช้กำลังลูกจ้างในโครงการ 4,500 บาท/เดือนมาดูแล ซึ่งไม่ได้มีความรู้เรื่อง CCTV จึงส่งผลลบต่อการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงโยรวมด้วย

เช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ทั้งในปัตตานี และนราธิวาส พื้นที่ที่ CCTV ทยอยเสียสะสมมานานถึง 5 ปี เพราะไม่มีงบประมาณซ่อมแซมรองรับ โดยแต่ละจังหวัดต้องจัดหางบประมาณดำเนินการเอง เพื่อให้ความพิกลพิการของอุปกรณ์เหล่านี้มีน้อยที่สุด แม้จะไม่มีประสิทธิภาพเต็มร้อย แต่ก็พอจะลดเสียงก่นด่าของประชาชนลงได้บางส่วนก็ยังดี

นายยู่สิน จินตภากร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา เปิดใจว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ประชาชนก็ต้องหันมาพึ่งพาดูแลตัวเองดีที่สุด เห็นได้ชัดจากการขออนุญาตซื้ออาวุธปืนเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันตัวเองในยามฉุกเฉิน และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เช่นเดียวกับการเดินทางที่ต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางและเวลาเดิมๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย

ในส่วนของนักลงทุนหรือห้างร้านต่างๆ ที่ประกอบธุรกิจในพื้นที่แทบไม่ต้องมองถึงการลงทุนใหม่ๆ ขอแค่เพียงประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด พอมีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายและใช้หนี้ได้ก็นับว่าดีแล้ว แม้จะต้องยอมกัดฟันต่อสู้กับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่ง ค่าใช้จ่ายการดูแลตัวเองที่เพิ่มขึ้น หรือเงินประกันต่างๆ ที่แพงขึ้นนับเท่าตัว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประชาชนอีกจำนวนมากที่ฝากความหวังว่า ภาครัฐจะนำเงินภาษีของพวกเขามาดำเนินโครงการติดตั้ง CCTV ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่หลายปีดีดักความล้มเหลวก็ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งนี้ได้ทำลายขวัญและกำลังใจคนชายแดนใต้เป็นอย่างมาก แถมเรื่องราวความล้มเหลวที่ถูกเปิดเผยขึ้นจะเป็นช่องว่างให้คนร้ายเหิมเกริมก่อเหตุเพิ่มขึ้นอีก

ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยให้เร่งรัดดำเนินการโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด 5 จังหวัดชายแดนใต้ให้เสร็จสิ้น และทำให้กล้องทุกตัวสามารถใช้งานได้โดยเร็ว พร้อมแจ้งประชาชนได้รับรู้ด้วยว่าเหตุที่ไม่คืบหน้านั้นเป็นเพราะอะไร หลังจากที่มีอันต้องบอกเลิกสัญญากับบริษัท ดิจิตอล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด ไปแล้ว

“ส่วนใหญ่ชาวชายแดนใต้เรายังไม่ทราบเรื่องเสียด้วยซ้ำว่า กล้อง CCTV ที่ติดอยู่หน้าบ้าน ตามห้างร้านหรือชุมชนนั้นใช้การไม่ได้ จนกระทั่งเมื่อเรื่องแดงขึ้นมาว่าบริษัทผู้รับงานบอกเลิกสัมปทานไปแล้ว และมีการอ้างเหตุผลต่างๆ นานา ทั้งเรื่องกลัวความไม่ปลอดภัย ซึ่งไม่น่าจะมีการข้อกล่าวอ้างนี้เกิดขึ้น เพราะหากกลัวก็ไม่ควรมารับงานนี้ตั้งแต่แรก การแก้ปัญหาและดำเนินโครงการต่างๆ ต้องเข้าหาและใกล้ชิดประชาชน เผื่อจะได้แนวคิดดีๆ เกิดขึ้น” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา กล่าว

เช่นเดียวกัน นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี ได้กล่าวย้ำว่า อุปกรณ์ที่ไม่สามารถใช้การได้และโครงการที่ดำเนินการล่าช้านั้น จะทำให้คนร้ายใช้เป็นช่องทางในการก่อเหตุร้ายได้สะดวกขึ้น จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรับเรื่องนี้ไปดูแล ด้วยการโอนงบประมาณมาให้ท้องถิ่นดำเนินการเอง

หลังจากนี้ กระทรวงมหาดไทย คงต้องพิจารณาแล้วว่า ควรจะเป็นผู้ดำเนินการเองอีก หรือกระจายงานให้แต่ละท้องถิ่น ซึ่งอยู่ร่วมและเผชิญชะตากรรมเดียวกับประชาชนเป็นผู้ดำเนินการเอง เพื่อสามารถแก้ปัญหาได้อย่างใกล้ชิดและทันท่วงที หรือจะหามาตรการอื่นที่มีความปลอดภัยอย่างแท้จริงเสียที

ห้องควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ดำเนินการโดยเทศบาลนครยะลา
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา
กำลังโหลดความคิดเห็น