xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าวิกฤตโลก ยุทธศาสตร์โลก......ไทย (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค

ที่จริงแล้ว คำว่า ยุทธศาสตร์โลก......ไทย ตรงจุด.....จุดๆ ต้องมีคำว่า ภูมิภาค อยู่ด้วย จึงจะคิดได้ครบวงจรจริงๆ

แต่การคิดวางยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคไม่ง่ายนัก เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังหลงเป็น “ทาส” ปัญญาตะวันตกด้านประวัติศาสตร์ในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นชาติ หรือเรื่องรัฐชาติ

คำว่า รัฐชาติ คือ รัฐของชนชาติใดชนชาติหนึ่งเป็นสำคัญ

อย่างเช่น คนไทยก็ต้องมาจากชนชาติไต ที่เคยอยู่ที่ภูเขาอัลไต แล้วมาสร้างราชธานีแห่งแรกที่สุโขทัย

ประวัติศาสตร์แบบอิทธิพลฝรั่ง ไม่เพียงเป็นการแยกผู้คนเป็นชนชาติเท่านั้น ยังช่วยสร้างประวัติศาสตร์สงครามระหว่างชนชาติ

อย่างเช่นเรื่อง ไทยรบกับพม่า และไทยรบกับขอม

เราจึงไม่มีประวัติศาสตร์ของคนหลายชนชาติที่อยู่รวมกันอย่างสงบและสันติ ประวัติศาสตร์ที่สอน “ค่า” ของเรื่องการดำรงอยู่ร่วมกันและเอื้ออาทรต่อกันระหว่างชนชาติที่แตกต่างกันในดินแดนแถบนี้

ความเป็นคนไทย ไม่ได้มาจาก “ชนชาติไต” เท่านั้น แต่เกิดจากการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย

ที่สำคัญ เราจึงไม่มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมแบบที่มองผ่านมิติที่เป็นหนึ่งเดียวกันในระดับภูมิภาค

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เรามีประวัติศาสตร์แค่ระดับประเทศ แต่เราไม่ประวัติศาสตร์ภูมิภาค


ความคิดที่จะผนึกรวมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นหนึ่งเดียวกันจึงไม่มี

วันนี้ อารยธรรมโลกก็กำลังเคลื่อนมาทางทิศตะวันออก จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศในย่านตะวันออกกลาง และอินเดีย กำลังกลับเข้ามามีบทบาทนำในระบบโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้นำญี่ปุ่นกำลังเสนอจีนให้สร้างชุมชนเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น เพราะในย่านนี้มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรม (เดิม) ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน

ความจริงแล้ว ในยุคอารยธรรมโลกโบราณ ผู้คนในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดมีความเป็นหนึ่งเดียวกันทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม

ในสมัยโบราณ ชาวอินเดียเรียกดินแดนแถบนี้ว่า “สุวรรณภูมิ” คำว่า สุวรรณภูมิ ไม่ได้หมายถึงประเทศไทยเท่านั้น แต่น่าจะกินความแบบรวมๆ ถึงดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด เพราะในยุคนั้น ดินแดนแถบนี้ไม่ได้มีพรมแดนที่แยกออกจากกัน จึงถือว่าเป็นดินแดนลุ่มแม่น้ำหลายสาย มีพื้นที่ป่าที่อุดมอย่างยิ่ง และอุดมด้วยแร่ธาตุและทรัพยากร (รวมทั้งทองคำ)

“ความอุดมอย่างยิ่งทางธรรมชาติ” คือ ฐานที่มาของวัฒนธรรมที่เชื่อมคนหลายเชื้อชาติให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และผู้คนทุกเชื้อชาติล้วนนับถือเป็นพี่น้องกัน

จุดเริ่มของอารยธรรมขนาดใหญ่ของดินแดนแถบนี้ เริ่มประมาณศตวรรษที่ 6 หรือ 7 เริ่มจากประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ที่เรียกว่า ทวาราวดี ซึ่งเชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทางใต้ที่เรียกชื่อว่า ศรีวิชัย เพราะทั้งสองสายวัฒนธรรมต่างเป็นวัฒนธรรมพุทธศาสนาทั้งคู่

ดังนั้น เส้นทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชุดนี้จึงเชื่อมตั้งแต่ประเทศพม่าไปถึงลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลงไปถึงภาคใต้ของไทย และเกาะชวา

ยุคนี้คือ การก่อเกิดวัฒนธรรมเมืองที่มีชนชาติที่หลากหลายมาอยู่ด้วยกันอย่างเอื้ออาทร

ถือว่านี่คือ วัฒนธรรมเมืองที่อุดม งดงาม และเปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่างกันทางเชื้อชาติ และใช้ชีวิตอยู่รวมกันอย่างสงบสันติ

จนกล่าวได้ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือฐานรากของวัฒนธรรมพุทธที่งดงามที่สุดของโลก

หลังจากนั้น ประมาณหลังศตวรรษที่ 10 สายวัฒนธรรมชุดที่สองก็ไหลบ่าเข้ามา นั่นคือวัฒนธรรมพราหมณ์

วัฒนธรรมชุดนี้คือ รากที่มาของการสร้างอาณาจักรขนาดใหญ่ ที่กินพื้นที่ไปเกือบทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กินพื้นที่จากลุ่มแม่น้ำโขงถึงแม่น้ำเจ้าพะยา และทางใต้ไปถึงเกาะชวา และไปถึงเวียดนาม

ยุคที่เรียกกันว่า ยุควรมัน ที่สามารถแผ่อิทธิพลไปทั่ว และสร้างอำนาจหรือสร้างอาณาจักรขนาดใหญ่ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน

ยุควรมัน มาสิ้นสุดลงประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 และถูกสืบทอดต่อด้วย ยุครามคำแหง และ ยุครามาธิบดี โดยมีฐานสร้างอาณาจักรที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (สุโขทัยและอยุธยา) ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่พุทธศาสนาเริ่มกลับมามีอิทธิพลอีกครั้งหนึ่ง

แต่ “ความเป็นอยุธยา” คือการผสมประสานวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน มากกว่าความเป็นแบบเดียวทางวัฒนธรรม

นี่คือ ที่มาของการเชื่อมพุทธและพราหมณ์เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

นอกจากนี้ ในยุคอยุธยาถือเป็นช่วงประวัติศาสตร์ที่วัฒนธรรมจีนเริ่มไหลทะลักเข้ามาสู่ประเทศไทย และแพร่ระบาดขยายตัวไปทั่วดินแดนแถบนี้

ชนชาติต่างๆ ในดินแดนแถบนี้เรียนรู้วัฒนธรรมจีนผ่านวัฒนธรรมด้านการค้า ด้านยุทธศาสตร์ การจัดการปกครอง อาหาร และการรักษาโรค

“ความเป็นอยุธยา” ก็สามารถผนึกความเป็นจีนเข้ากับความเป็นพุทธและพราหมณ์แบบอินเดียได้อย่างลงตัว

ราวกับว่าคือ ระบบวัฒนธรรมเดียวกัน

ในยุคนี้ แม้ว่าศูนย์ทางวัฒนธรรมและการเมืองจะแยกเป็น 2 ศูนย์ คือ สายแบบพุทธ–พราหมณ์บวกจีนแบบอยุธยาที่มีอิทธิพลไปถึงทางใต้และชวา และสายพุทธ-ผีบวกจีนซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศพม่า

แต่ถึงอย่างไร ทั้งสองสายวัฒนธรรมก็เชื่อมกันหรือแลกเปลี่ยนกันทางวัฒนธรรมผ่านเครือข่ายระบบวัฒนธรรมโลกโบราณที่เชื่อมโยงกันทางเครือข่ายศาสนาและการค้าขายติดต่อระหว่างกัน (ไทย พม่า อินเดีย จีน ทิเบต เปอร์เซีย และศรีลังกา)

ที่สำคัญ อาณาจักรแถบนี้ไม่เคยมีพรมแดน และใช้ประเพณีการแต่งงานกันเองระหว่างชนชั้นปกครองเพื่อเชื่อมและสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันทางการเมือง

ดังนั้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงถือได้ว่าเป็นดินแดนที่ไม่เคยมีพรมแดน และสามารถผสมผสานความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมเข้าเป็นหนึ่งเดียว จึงเป็นดินแดนที่ค่อนข้างสงบสุข จะมีสงครามระหว่างกันบ้างก็น้อยครั้ง

ทำไมเราจึงต้องเปลี่ยนความเข้าใจประวัติศาสตร์ใหม่

ประการแรก
ทำให้เราสามารถก้าวผ่านความเชื่อ (แบบตะวันตก) เรื่องรัฐชาติที่มีพรมแดน ซึ่งแยกผู้คนในดินแดนแถบนี้เป็นชนชาติ และเป็นประเทศๆ และมุ่งแต่ทำสงครามระหว่างกัน

ประการที่สอง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือศูนย์ผลิตของอารยธรรมเอเชียโบราณที่สำคัญของโลก ซึ่งเกิดจากความสามารถในการผสมผสานความแตกต่างทางวัฒนธรรม และผลิตซ้ำขึ้นมาใหม่

ในสมัยโบราณ เราเป็นดินแดนที่สามารถผลิตวัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อนที่สุดของเอเชีย

ไม่ว่าจะมองในแง่ศิลปะ การก่อสร้าง อาหารและยารักษาโรค

ประการที่สาม ถ้าผู้คนในย่านนี้ตระหนักถึงความเป็นหนึ่งเดียวในอดีต การคิดที่จะหาทางผนึกเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะเกิดขึ้นได้

ปัจจุบัน ถ้าผู้คนในย่านนี้ผนึกเป็นหนึ่งเดียว จะกลายเป็นพลังอำนาจในระดับภูมิภาคในการต่อรองกับศูนย์อำนาจอื่นๆ ในระบบโลก

ถ้าผนึกเป็นหนึ่งเดียวกัน เราจะกลายเป็น “แหล่งผลิตสินค้าเกษตรกรรม” ที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของโลก

ถ้าผนึกเป็นหนึ่งเดียวกัน ดินแดนแถบนี้จะกลายเป็น “ศูนย์ของการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่สร้างได้ง่ายที่สุดในโลก เพราะดินแดนแถบนี้มีความอุดมทางธรรมชาติสูงมาก เรามีทั้งน้ำมันและทรัพยากรที่มีค่าอื่นๆ เรียกว่า “เราอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร”

ถ้าคิดผนึกกัน เราจะกลายเป็น “ฐานภูมิปัญญาโบราณในด้านสมุนไพรและวิถีการดูแลสุขภาพ” แบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ถ้าผนึกกัน เราจะกลายเป็น “แหล่งผลิตอาหารโลก” (ไทยบวกเวียดนาม บวกพม่า รวมทั้งอาหารอิสลาม)

ถ้าผนึกรวมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็น “แหล่งผลิตวัฒนธรรมที่อุดมและหลากหลาย” เพราะดินแดนแถบนี้ ในสมัยโบราณเป็นดินแดนที่เปิดรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากทั่วโลก และเป็นแหล่งผลิตซ้ำ และแต่งเติมเสริมสร้างวัฒนธรรมที่เป็นตัวของตัวเองออกมาได้

นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งของการคิดวางยุทธศาสตร์ระดับการคิดระดับภูมิภาค

ผมคงฝากไว้ให้ช่วยกันคิดต่อ

บทสรุป

ขอโทษที่ชิ้นงานนี้ค่อนข้างยาวไปสักหน่อย เพราะเรื่องยุทธศาสตร์เป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากเรื่องราวของระบบโลกทั้งระบบ

ผมจึงต้องพาเพื่อนท่องโลก ย้อนไปตั้งแต่กำเนิดระบบ (เศรษฐกิจ)โลก เพื่อชี้ให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์โลกที่กำหนดเหนือยุทธศาสตร์ไทย มีฐานปรัชญา ฐานทฤษฎีอะไรและอย่างไร

ผมพาเพื่อนมาถึงปลายยุคเศรษฐกิจโลก หรือยุคที่ผมเรียกว่า “กลียุค” และบอกเพื่อนๆ ว่า ถึงเวลาที่เราต้องคิด “ยุทธศาสตร์โลก...ไทยใหม่” แบบถอนราก และแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากยุคระบบ (เศรษฐกิจ) โลก

จะวางยุทธศาสตร์ได้ ต้องวางฐานปรัชญา ฐานทฤษฎีใหม่

ยุทธศาสตร์เฉพาะหน้าที่ต้องคิดคือเรื่องว่า เราจะเผชิญสภาวะกลียุคอย่างไร หรือทำอย่างไร จึงจะปรับและสร้างโลกใหม่ที่มีดุลยภาพทั้งทางธรรมชาติและสังคมอีกครั้งหนึ่ง

และผมเคยเสนอว่า หลังยุคเศรษฐกิจโลกแล้ว ระบบโลกกำลังก้าวสู่ยุคโลกสีเขียว

แต่อะไรเล่าคือ “ยุทธศาสตร์ใหม่” ที่สอดคล้องกับทิศทางโลกอนาคตนี้

คำตอบที่พบ อาจจะดูล่องลอยอยู่บ้าง

อย่างเช่น การปฏิวัติพลังงานทางเลือก เศรษฐกิจเชิงนิเวศน์ เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจธรรมชาติ รวมทั้งการสร้างเมืองแบบใหม่ที่เรียกว่า เมืองนิเวศน์

การรื้อฟื้นวัฒนธรรมตะวันออก ที่ใช้ “ธรรมะ” นำการเมือง นำเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ก่อนจบ ขอย้ำว่า การเข้าใจเรื่องยุทธศาสตร์นั้น มีมิติที่หลากหลายมาก อย่าไปคิดเฉพาะเรื่องการเมืองใหม่เท่านั้น เราต้องเริ่มจากการวางฐานคิดทางปรัชญาโลกใหม่ ฐานคิดทางทฤษฎีใหม่ ก่อนที่จะคิดเรื่องยุทธศาสตร์

ที่สำคัญ ต้องเข้าใจว่า การคิดในเชิงยุทธศาสตร์นั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับโลกมาถึงระดับภูมิภาค และมาถึงระดับประเทศ และต้องไม่ลืมคิดวางในระดับเมืองและชุมชนด้วย

นอกจากนี้ การคิดในเชิงยุทธศาสตร์ ยังมีระดับความลึกในการแก้ปัญหาหลายระดับ อย่างน้อย 3 ระดับ

1. ระดับพื้นผิว เช่น การแก้วิกฤตเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรม รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่

2. ระดับโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ที่รวมศูนย์และกระจุกตัวอย่างยิ่ง ซึ่งซ่อนอยู่ภายใน

3. ระดับที่ลึกสุดคือ ระดับฐานผลิตวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

ก่อนอื่นต้อง “กล้าคิด” ในเชิงอภิวัตน์ใหญ่ กล้าคิดสร้างโลกใหม่

“เราต้องช่วยกันคิด ช่วยกันวาง” เพราะเรื่องยุทธศาสตร์เป็นเรื่องของชาวไทยทุกคน ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

สุดท้าย การวางยุทธศาสตร์เป็นเรื่องของโลก.....ไทย และการสร้างพรรคก็เช่นกัน ต้องมีมิติทางสากลที่สามารถเชื่อมประสานกับพลังประชาชนที่ก้าวหน้าทั่วโลก

                               จนกว่าจะพบกันอีก

                                  ยุค ศรีอาริยะ
กำลังโหลดความคิดเห็น