xs
xsm
sm
md
lg

"กรณ์"ติวคนออมสิน รับมือคนไทยแห่กู้ ล้างหนี้นอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ขุนคลังเข้มพบคนออมสิน-ธ.ก.ส. เตรียมความพร้อมแก้หนี้นอกระบบ ก่อนเปิดให้ขึ้นทะเบียน 1 ธ.ค. วันเสาร์เปิดให้บริการ ผ่อนปรนเงื่อนไขบุคคลค้ำประกัน ไม่จำเป็นต้องข้าราชการ ขอให้มีรายได้ 10% ของวงเงินกู้ โพลล์หอการค้าไทยชี้เกษตรกรพอใจรัฐบาลแก้หนี้นอกระบบ

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ให้นโยบายกับผู้จัดการสาขาของธนาคารออมสินทั้ง 14 ภาค เพื่อเตรียมความพร้อมของการเปิดรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบที่จะเริ่มวันที่ 1 ธันวาคมนี้ โดยระบุว่าการดำเนินงานครั้งนี้นอกจากเป็นการช่วยเหลือประชาชนในระยะสั้นแล้วธนาคารออมสินต้องร่วมแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะการอบรมให้ความรู้ประชาชน และมีความเข้าใจด้านการบริหารจัดการด้านรายรับรายจ่าย โดยกระทรวงการคลังจะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดหลังจากขึ้นทะเบียนและมีการแยกแยะตัวลูกหนี้และส่งรายชื่อกลับไปให้ธนาคารรับผิดชอบช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.53

“1 ธ.ค.นี้ผมจะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขึ้นทะเบียนใน กทม.ด้วยเพื่อดูว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ จะได้ประสานงานกับผู้อำนวยการธนาคารออมสินเพื่อแก้ไขต่อไป โดยเฉพาะหากจุดรับลงทะเบียนไม่เพียงพอก็อาจจะต้องเปิดเพิ่มเติม ซึ่งออมสินเองก็มีคอลเซ็นเตอร์รับแจ้งปัญหาอยู่แล้ว รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ หลังจากนี้ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและจากมหาดไทย เพราะครั้งนี้ถือว่ารัฐบาลมีความจริงจังในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างมาก”

ขณะที่ออมสินทำหน้าที่ในการเป็นธนาคารประชาชนปล่อยสินเชื่อได้ดีดูได้จากยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในช่วง 1 ปีกว่า 2 แสนล้านบาทซึ่งสวนทางกับแบงก์พาณิชย์ที่สินเชื่อหดตัวและการแก้หนี้นอกระบบก็น่าจะปล่อยสินเชื่อได้มากเพราะมีเงื่อนไขผ่อนปรนลงและให้มีการแยกบัญชีอยู่แล้ว

ด้านผู้จัดการภาค 1 เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ระบุว่า สาขาของออมสินจำนวน 100 สาขา รวมกับอีก 20 หน่วยบริการและอีก 13 จุดที่เปิดเพิ่มตามเขตต่างๆ นั้นได้เตรียมพร้อมรับลงทะเบียนที่คาดว่าจะมีเข้ามาจำนวนมาก เพราะสาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใน กทม.มีไม่มากนัก โดยมีการประชุมกับผู้บริหาร เตรียมบุคคลกรและติดประกาศหรือคู่มือให้ลูกค้ารับทราบขั้นตอนต่างๆ ไว้ตามสาขาแล้ว นอกจากนี้ธนาคารออมสินจะเปิดใหบริการเพิ่มอีก 1 วัน คือวันเสาร์

ผู้จัดการภาค 6 ระบุว่า ออมสินกว่า 800 สาขา พร้อมรับลงทะเบียนอยู่แล้ว โดยหากพื้นที่ใดร้องขอให้เข้าไปรับลงทะเบียนก็พร้อมจะจัดหน่วยเคลื่อนที่เข้าไปให้บริการ ซึ่งจากการประมาณการณ์ผู้มาลงทะเบียนครั้งนี้น่าจะมีประมาณ 1.2-1.3 ล้านคน ออมสินพร้อมรับลงทะเบียนได้เต็มที่สาขาละ 50 คนรวมระยะเวลา 1 เดือนก็สามารถรับลงทะเบียนได้เป็นล้านคนเพราะปกติแต่ละสาขาก็ให้บริการประชาชนวันละ 300-400 คนอยู่แล้ว อีกทั้งจากที่เตรียมการมาอย่างดีน่าจะสามารถให้สินเชื่อแก้หนี้นอกระบบได้เร็วกว่ากำหนดก่อนเดือนเมษายน 2553 ด้วยซ้ำ และได้ผ่อนปรนกรณีของบุคลค้ำประกันไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการและมีรายได้เพียง 10%ของวงเงินกู้เท่านั้น

ทั้งนี้ วันที่ 27 พ.ย. นี้นายกรณ์จะชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้จัดการสาขาของ ธ.ก.ส.ด้วยเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและรับฟังปัญหาก่อนจะเปิดรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกด้วยระบบเช่นเดียวกัน

**เกษตรกรชอบแก้หนี้เถื่อน

นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนะต่อนโยบายของรัฐ : นโยบายการประกันรายได้เกษตรกรและการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-15 พ.ย. จากจำนวนเกษตรกร 2,018 ตัวอย่างทั่วประเทศ ว่า เกษตรกรส่วนใหญ่พึงพอใจต่อนโยบายของรัฐบาล โดยในส่วนของนโยบายไทยเข้มแข็ง 30.8% ระบุว่าพอใจมาก 35.4% พอใจปานกลาง และ 27.4% พอใจน้อย ส่วนนโยบายประกันรายได้ 35.5% พอใจมาก 30.8% ปานกลาง และ 28.4% พอใจน้อย ส่วนการแก้ไขหนี้นอกระบบ 33.6% พอใจมาก 29.4% ปานกลาง และ 29.6% พอใจน้อย

ในส่วนของนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาล กลุ่มตัวอย่าง 43% ระบุว่าพอใจมากกว่าโครงการรับจำนำ ขณะที่ 34.3% ระบุว่าพอใจเท่ากัน และอยากให้มีทั้ง 2 โครงการเพื่อเป็นการพยุงราคาข้าว แต่เมื่อถามถึงการเปรียบเทียบรายได้ที่ได้รับ กลุ่มตัวอย่าง 60% ระบุว่าราคาประกันรายได้สูงกว่า ขณะที่ 40% ระบุว่าการรับจำนำได้ราคาสูงกว่า ซึ่งเกษตรกรกว่า 65% ระบุว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ระบุว่าไม่พบปัญหาในการขึ้นทะเบียน ขณะที่ 16% พบปัญหาน้อย และ 27.4% พบปัญหาปานกลาง

สำหรับภาระหนี้สินของเกษตรกร ผลสำรวจพบว่า ปัจจุบันอยู่ที่ 243,938.60 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนที่มีหนี้สิน 210,387 บาทต่อครัวเรือน โดยเป็นหนี้ในระบบ 56.25% และหนี้นอกระบบ 43.75% ขณะที่การผ่อนชำระอยู่ที่ 9,796.85 บาทต่อเดือน ขณะที่หนี้ในระบบผ่อนชำระ 6,609.75 บาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 7.42% ต่อปี ส่วนหนี้นอกระบบผ่อนชำระ 9,608.53 บาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ย 10.40% ต่อเดือน หรือ 124.8% ต่อปี

เมื่อถามถึงภาระหนี้ปัจจุบันเทียบกับที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง 25% ระบุว่าเพิ่มขึ้นทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ และเมื่อถามถึงภาระหนี้ในอีก 1 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่ 50% ตอบว่าจะลดลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 66.7% ระบุว่าจะเข้าร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล ขณะที่ 33.3% ระบุว่าไม่เข้าร่วม เนื่องจากไม่รู้ว่าจะไปลงทะเบียนที่ไหนและบางส่วนไม่มีหนี้นอกระบบ

“กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการแก้หนี้นอกระบบ 35.3% ระบุว่าโครงการแก้หนี้นอกระบบมีประโยชน์ ทำให้ลดอัตราดอกเบี้ยจ่าย มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น ขณะที่ 25.3% ระบุว่าช่วยลดปัญหาอาชญากรรมจากการทวงหนี้ แต่เมื่อถามถึงผลสำเร็จในการแก้หนี้นอกระบบ ส่วนใหญ่ 75% ระบุว่าแก้ปัญหาได้น้อยมากถึงปานปลาง ขณะที่มี 9.7% ระบุว่าแก้ปัญหาได้มาก และมี 9.4% ระบุว่าแก้ปัญหาไม่ได้เลย” นายวชิรกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น