xs
xsm
sm
md
lg

ประกันรายได้-แก้หนี้เถื่อนเวิร์ก เกษตรกรถูกใจให้คะแนนเต็ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โพลล์หอการค้าไทย เผยเกษตรกรพอใจนโยบายประกันรายได้ และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ของรัฐบาล

นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนะต่อนโยบายของรัฐ : นโยบายการประกันรายได้เกษตรกรและการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-15 พ.ย. จากจำนวนเกษตรกร 2,018 ตัวอย่างทั่วประเทศ ว่า เกษตรกรส่วนใหญ่พึงพอใจต่อนโยบายของรัฐบาล โดยในส่วนของนโยบายไทยเข้มแข็ง 30.8% ระบุว่าพอใจมาก 35.4% พอใจปานกลาง และ 27.4% พอใจน้อย ส่วนนโยบายประกันรายได้ 35.5% พอใจมาก 30.8% ปานกลาง และ 28.4% พอใจน้อย ส่วนการแก้ไขหนี้นอกระบบ 33.6% พอใจมาก 29.4% ปานกลาง และ 29.6% พอใจน้อย

ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาล กลุ่มตัวอย่าง 43% ระบุว่าพอใจมากกว่าโครงการรับจำนำ ขณะที่ 34.3% ระบุว่าพอใจเท่ากัน และอยากให้มีทั้ง 2 โครงการเพื่อเป็นการพยุงราคาข้าว แต่เมื่อถามถึงการเปรียบเทียบรายได้ที่ได้รับ กลุ่มตัวอย่าง 60% ระบุว่าราคาประกันรายได้สูงกว่า ขณะที่ 40% ระบุว่าการรับจำนำได้ราคาสูงกว่า ซึ่งเกษตรกรกว่า 65% ระบุว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ระบุว่าไม่พบปัญหาในการขึ้นทะเบียน ขณะที่ 16% พบปัญหาน้อย และ 27.4% พบปัญหาปานกลาง

สำหรับภาระหนี้สินของเกษตรกร ผลสำรวจพบว่า ปัจจุบันอยู่ที่ 243,938.60 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนที่มีหนี้สิน 210,387 บาทต่อครัวเรือน โดยเป็นหนี้ในระบบ 56.25% และหนี้นอกระบบ 43.75% ขณะที่การผ่อนชำระอยู่ที่ 9,796.85 บาทต่อเดือน ขณะที่หนี้ในระบบผ่อนชำระ 6,609.75 บาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 7.42% ต่อปี ส่วนหนี้นอกระบบผ่อนชำระ 9,608.53 บาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ย 10.40% ต่อเดือน หรือ 124.8% ต่อปี

เมื่อถามถึงภาระหนี้ปัจจุบันเทียบกับที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง 25% ระบุว่าเพิ่มขึ้นทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ และเมื่อถามถึงภาระหนี้ในอีก 1 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่ 50% ตอบว่าจะลดลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 66.7% ระบุว่าจะเข้าร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล ขณะที่ 33.3% ระบุว่าไม่เข้าร่วม เนื่องจากไม่รู้ว่าจะไปลงทะเบียนที่ไหนและบางส่วนไม่มีหนี้นอกระบบ

“กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการแก้หนี้นอกระบบ 35.3% ระบุว่าโครงการแก้หนี้นอกระบบมีประโยชน์ ทำให้ลดอัตราดอกเบี้ยจ่าย มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น ขณะที่ 25.3% ระบุว่าช่วยลดปัญหาอาชญากรรมจากการทวงหนี้ แต่เมื่อถามถึงผลสำเร็จในการแก้หนี้นอกระบบ ส่วนใหญ่ 75% ระบุว่าแก้ปัญหาได้น้อยมากถึงปานปลาง ขณะที่มี 9.7% ระบุว่าแก้ปัญหาได้มาก และมี 9.4% ระบุว่าแก้ปัญหาไม่ได้เลย”นายวชิรกล่าว

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงทัศนะต่อการรวมตัวจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในมุมมองของเกษตรกร พบว่า 70% ไม่รู้จัก โดย 32% ระบุว่าไม่รู้จักเลย 15.7% รู้จักน้อยที่สุด 22.6% รู้จักน้อย โดยมีเพียง 3.7% ที่ระบุว่ารู้จักมาก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ภาคการเกษตรมีสัดส่วนประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลนวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่มีประชากรในภาคเกษตรกรประมาณ 24-30 ล้านคน หรือ 40% ของประชากรทั้งหมด และมี 60 จังหวัดทั่วประเทศที่พึ่งพาการทำเกษตร ซึ่งถ้าหากราคาสินค้าเกษตรมีราคาดีขึ้น จะทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และจะเป็นส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจในปี 2553 เติบโตได้ 3% และหากราคาสินค้าเกษตรกรยังสูงขึ้นในปีต่อๆ ไปเฉลี่ยที่ 15% จะส่งผลให้เศรษฐกิจในอนาคต 3-5 ปี สามารรถเติบโตได้ในอัตราเกิน 5% ต่อปีได้

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2553 ในมุมมองของศูนย์ฯ คาดว่าจะโตในกรอบ 3.2-4% และมีโอกาสที่จะโตได้ 4-5% หากการเมืองมีเสถียรภาพ ขณะที่เงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 3-3.5% ค่าเงินบาทเฉลี่ยจะแข็งค่าขึ้น 3-5% จากปี 2552 ที่คาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น