xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กฯ ยังกำไรโต เน้นคุมต้นทุนสู้วิกฤตดัน Q3 มาร์จิ้นพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 3 ปีนี้กำไรโตเกิน 30% หลายบริษัทผลงานก้าวกระโดดดันกำไรกลุ่มเติบโตต่อเนื่อง แม้ส่วนใหญ่ผลงานต่ำกว่างวดเดียวกันของปี 51 เหตุวิกฤตเศรษฐกิจโลกระทบออร์เดอร์หด ทำให้ยอดขายต่ำ บางแห่งเน้นคุมต้นทุนดันกำไรขั้นต้นพุ่ง สวนทางบางบริษัทขาดทุนจากค่าเงินแถมมาร์จิ้นหด ขณะคำสั่งซื้อแม้จะทะลักเข้ามาเพิ่มแต่รับรู้รายได้ไม่ทันไตรมาสนี้

จากการสำรวจผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ งวดไตรมาส 3 พบว่ายังกำไรโตต่อเนื่อง แม้ส่วนใหญ่ผลงานต่ำกว่าปีก่อน เพราะยอดขายหด โดยกลุ่มมีกำไรสุทธิรวม 2,113 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 1,623 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 489.98 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 30.19% ส่วนใหญ่กำไรยังลดลงเหตุวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลต่อออร์เดอร์ที่ลดลง ทำให้กำไรขั้นต้นต่ำกว่าปีก่อน แม้ส่วนใหญ่หันคุมต้นทุนการผลิตเพื่อให้กำไรขั้นต้น โดย เคซีอี ฯ และ เดลต้า ฯ กำไรโตต่อเนื่องโดดเด่น สวนทาง ทีมพรีซิชั่น และอุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ ที่ขาดทุนเหตุยอดขายตกและขาดทุนค่าเงิน

 KCEไตรมาสนี้กำไรฟื้นต่อเนื่อง

บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ไตรมาส 3 ปีนี้มีกำไรสุทธิ 123.5 ล้านบาทขณะที่งวดนี้ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 10.3 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 1,097.28% จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น)อย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการบริหารจัดการต้นทุนคู่กับการควบคุมการผลิต จนทำให้ประสิทธิภาพการผลิตอยู่ในระดับน่าพอใจ ขณะอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ใกล้ระดับการผลิตสูงสุด ทำให้เกิดประโยชน์เต็มที่ต่อการประหยัดต่อขนาด โดยงวดนี้มียอดขาย 1,627.7 ล้านบาท ( 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งลดลงจากยอดขายของไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ 2,059.6 ล้านบาท ( 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่ยอดขาย PCB ในไตรมาสนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 33% เมื่อเทียบกับยอดขายในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจากความต้องการในสินค้าพิ่มมากขึ้น อีกทั้งอัตรากำไรขั้นต้นก็ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 21 %

บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด ( มหาชน) หรือ HANA งวดนี้กำไรสุทธิ 687.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มี 580.26 ล้านบาท คิดเป็น 18.49% ขณะที่อัตราส่วนกำไรขั้นต้นไตรมาสนี้มี 20 % ใกล้เคียงกับไตรมาส 3/51 จากการประเมินมูลค่าสินค้าคงคลังใหม่ไตรมาสนี้ลดลงแต่ถูกชดเชยกับต้นทุนแรงงานที่ลดลงและมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านรายได้จากการขายแตกต่างกันคือที่จังหวัดลำพูนมียอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่เมืองเจียซิง ประเทศจีนลดลง 29 % และหน่วยงาน IC ทั้งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและเมืองเจียซิงมียอดขายลดลง ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่ำลง เพราะต้นทุนลดและได้รับเงินชดเชยค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญบางส่วน

DELTA หรือ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ไตรมาสนี้กำไรก้าวกระโดด กว่า 700% แม้ยอดขายไตรมาสนี้จะลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวและผลกระทบจากฤดูกาลซึ่งไตรมาสนี้จัดเป็นช่วงเวลาที่ส่วนใหญ่ตลาดมีความต้องการสูงในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนยอดขายรวมลดลงในไตรมาสสามปีนี้ส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มผลิตภัณฑ์เพาเวอร์ซัพพลายเพื่อการบริโภค รวมทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ DES แต่กำไรขั้นต้นปรับสูงขึ้น บวกกับการควบคุมค่าใช้จ่ายทำให้ผลงานเติบโตก้าวกระโดด

SPPT หรือบริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ไตรมาส 3 ปีนี้กำไรขยับเพิ่ม จาก 28 ล้านบาทเป็น 32 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ไตรมาสนี้ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนต้นทุนขายก็ต่ำลงจากการคุมวัตถุดิบและต้นทุนค่าจ้างพนักงานที่สมัครใจลาออกและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้นที่เติบโตจากประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการผลิตและต้นทุนวัตถุดิบได้ดี บริษัทสามารถกลับมาเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าได้เต็มกำลังการผลิต ปริมาณการผลิตอยู่ในขนาดที่เหมาะสมและประหยัด (Economy of Scale) รายได้จากการขาย (Sales mix) ของกลุ่มสินค้า NON HARD DISK

TEAM -EIC งวดนี้ขาดทุน

บริษัทเอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI งวดนี้กำไรหดเกือบ 38% อันเป็นผลจากรายได้ลดลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดลงของยอดขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบควบคุมอุตสาหกรรม ในขณะที่รายได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบสำนักงานยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าไตรมาสนี้จะมีออร์เดอร์เข้ามาช่วงท้ายไตรมาสแต่การขาดแคลนชิ้นส่วนวัตถุดิบในการผลิต ทำให้บริษัทไม่สามารถทำการผลิตได้ทันกับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น รายได้ในไตรมาสนี้จึงลดลง ซึ่งการขาดแคลนวัตถุดิบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในทุกระดับของ

วงจรการผลิตต่างลดระดับของสินค้าคงคลังลงตั้งแต่ต้นปี 2552 เมื่อมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ระดับสินค้าคงคลังของอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จึงทำให้ชิ้นส่วนวัตถุดิบที่สำคัญที่ใช้ในการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนค่าใช้จ่ายลดจากปีก่อนจากการบริหารสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้จำนวนสินค้าคงคลังลดลงเป็นผลให้การสำรองเผื่อสินค้าล้าสมัยหรือด้อยค่าลดลง ประกอบกับการสำรองการด้อยค่าของเครื่องจักรลดลง

บริษัท แคล - คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ ( ประเทศไทย ) จำกัด (มหาชน) หรือ CCET ไตรมาส 3 กำไรหดเกือบ 31% เนื่องจากงวดนี้บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้า 28,268.98 ล้านบาท ลดจากงวดเดียวกันของปีก่อนเกือบ 28% จากการชะลอตัวของความต้องการสินค้าในตลาดโลกเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย แม้จะมีกำไรจากการขายที่ดิน อาคารและอุปกรณ์บวกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนต้นทุนขายต่ำลง แต่กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น

TEAM หรือ บริษัท ทีมพรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) ไตรมาสนี้ขาดทุน เกือบ 12 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 26.23 ล้านบาท หรือขาดทุนกว่า 145 % ผลจากยอดขายลดลงเพราะความต้องการสินค้าในกลุ่มลูกค้าของทางบริษัทยังไม่ดีขึ้นทั้งในกลุ่มลูกค้าในอเมริกาและยุโรป ซึ่งได้รับ ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก บวกกับอัตรากำไรขั้นต้นก็ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการขายของลูกค้าแต่ละรายที่มีอัตรากำไรของแต่ละสินค้าที่แตกต่างกัน เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ลูกค้าแต่ละรายได้รับแตกต่างกัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อสัดส่วนของอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทด้วย อย่างไรก็ดีบริษัทจะหันมาเน้นควบคุมต้นทุนและการปรับปรุงคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน

EIC หรือ บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) งวดนี้ขาดทุนเกือบ 6 ล้านบาท จากงวเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ เกือบ 20 ล้านบาท อันเป็นผลจากยอดขายลดลงจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังบันทึก รายการขาดทุนจากการตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าสินค้า ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น บวกกับยังขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

DRACO หรือบริษัท ดราโก้ พีซีบี จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิลดลงจากงวดนี้ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 29 ล้านบาท เป็นขาดทุน 9.57 ล้านบาท หรือขาดทุนเกือบ 67% ผลจากยอดขายต่ำลงอย่างต่อเนื่องของแผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้า ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ตั้งแต่ต้นปี 52 แม้ไตรมาสนี้คำสั่งซื้อแผ่นพิมพ์ วงจรไฟฟ้าสำหรับชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์เริ่มมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แต่ยังต่ำกว่าปีก่อน ขณะราคาแผ่นเคลือบทองแดงที่เป็นต้นทุนวัตถุดิบหลักของการผลิตแผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้า มีราคาสูงกว่าปีก่อนอีกทั้งขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
กำลังโหลดความคิดเห็น