รายงานพิเศษ
โดย...ทีมข่าวการเมือง
นับวันสัมพันธ์การทูตระหว่างไทย-กัมพูชา เริ่มขยายปมขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ จนถือว่าเข้าสู่ “สงครามการฑูต”เต็มตัวแล้ว และคงยากที่ปัญหาจะแก้ไขให้เหมือนเดิมได้ภายในอนาคตอันใกล้
อย่างไรก็ตาม ต้องชื่นชมคนที่ทำหน้าที่ในฝ่ายไทยที่ได้ช่วยกันเป็นปากเป็นเสียงและปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศไทย ไม่ให้ถูกเหยียบย่ำจากแผนการชั่วร้ายของ ทักษิณ ชินวัตร-พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ-ส.ส.พรรคเพื่อไทยและฮุนเซน ผู้นำเขมร
นอกจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่แสดงภาวะผู้นำในสถานการณ์นี้ได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งคนซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวขานกันมาก ไม่ใช่แค่ในแวดวงนักการทูตไทย กระทรวงบัวแก้ว แต่รวมถึงนักการทูตอีกหลายประเทศที่อยู่ในประเทศไทย–นักรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ–แวดวงการเมืองและคนในสังคมที่ติดตามเรื่องนี้
บุคคลนั้นคือ ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายการเมือง
ที่ทำหน้าที่เป็นโฆษกบัวแก้ว ในการเดินหน้าซัดกับ ”ทักษิณ-ฮุน เซน” รวมถึงไพร่พลของทักษิณ อาทิ นพดล ปัทมะ และแกนนำเสื้อแดง ที่ออกมาปกป้องทักษิณและฮุนเซน แบบไม่ลืมหูลืมตา
ชื่อของ ชวนนท์ เริ่มคุ้นหูคุ้นตาเมื่อได้ทำหน้าที่สำคัญในการเป็นตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงปัญหาข้อเท็จจริงทั้งหมดกับฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาแบบหมัดต่อหมัด นับแต่วันที่ ฮุนเซน ลงนามตั้ง ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชาเมื่อ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา
และเมื่อสถานการณ์ทำท่าไม่จบลงง่ายๆ เกิดเหตุแทรกซ้อนขึ้นต่อเนื่อง จนกระทรวงบัวแก้วต้องใช้มาตรการต่างๆ เช่น การเรียกนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทย ผู้มีอำนาจเต็มประจำราชอาณาจักรกัมพูชา ให้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ 5 พ.ย. 52 รวมถึงการที่กระทรวงการต่างประเทศ ต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบการยกเลิกเอ็มโอยู ไทย-กัมพูชา ที่เซ็นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในการประชุมครม.เมื่อ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน เมื่อสถานการณ์ลุกลามไปถึงขั้น กัมพูชา ส่งตัวนักการทูตไทยประจำสถานทูตไทยในกัมพูชากลับประเทศภายใน 48 ชั่วโมง ด้วยเหตุผลคือเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา บัวแก้วก็ใช้มาตรการเดียวกันกับกัมพูชา อันถือเป็นการแลกหมัดที่สมน้ำสมเนื้อกัน
รัฐบาลก็ส่ง “ชวนนท์” ทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ได้เป็นอย่างดีในการชี้แจงเรื่องนี้กับสื่อมวลชนทั้งสื่อไทยและสื่อต่างชาติได้เข้าใจปัญหา เหตุผล และวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลไทย ว่าเหตุใดจึงต้องทำเช่นนั้น และผลกระทบที่จะตามมา
ล่าสุดกับการตอบโต้ในกรณีเขมรจับกุมนายศิวรักษ์ โชติพงษ์ วิศวกรหนุ่มคนไทยของบริษัท แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด ตั้งข้อกล่าวหาโจรกรรมข้อมูลตารางการบินของทักษิณ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย
เป็นอีกแผนการร้ายลวงโลกที่ฮุนเซนกับทักษิณ ร่วมกันสร้างขึ้น หวังเขี่ยลูกให้ทักษิณกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ยื่นมือที่เข้ามาช่วยเหลือเหยื่อโจรการเมืองแทนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพื่อเรียกคะแนนนิยมจากคนไทย แต่หมากตื้นๆ แบบนี้มันก็คือโจรเรียกค่าไถ่ที่ทุกคนแม้แต่เด็กอมมือก็รู้ทัน
แต่เกมนี้กลับเสริมให้ “ชวนนท์” มีความโดดเด่นบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น
ทั้งหมดที่เอ่ยมา คือสถานการณ์ทำให้บทบาทของ“ชวนนท์”โดดเด่นเพียงแค่ชั่วข้ามคืนใน”สงครามการทูต” ครั้งนี้ เป็นตัวแทนให้ กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงไม่ต้องออกมาแถลงข่าวหรือชี้แจงแบบรายวัน ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดี เพราะจะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกัน หากจะใช้ข้าราชการบัวแก้วที่ส่วนใหญ่เป็นพวกอนุรักษ์นิยม ก็ต้องเข้าใจว่าข้าราชการส่วนใหญ่ก็ต้องการรักษาตัวเอง เพราะไม่มีใครรู้อนาคตการเมืองข้างหน้าได้ว่าประชาธิปัตย์จะเป็นรัฐบาลได้นานแค่ไหน จึงไม่มีใครอยากเสี่ยงไปปะทะกับทักษิณโดยตรง ก็จะส่งผลให้เกมตอบโต้ทักษิณกับฮุนเซนของรัฐบาลอภิสิทธิ์ พลาดท่าได้
บทบาทของ “ชวนนท์” ที่มาจากฝ่ายการเมืองจึงถูกใจทั้งรัฐบาล-ข้าราชการ-ประชาชนยิ่งนักในการแลกหมัดการทูตกับเขมรแบบทันเขมรทุกเกม ถูกใจคนไทยทุกครั้ง
ไม่ใช่แค่ครั้งนี้เท่านั้น ที่ “ชวนนท์” ทำหน้าที่ในการชนกับระบอบทักษิณแบบทันท่วงที แต่ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ วัย 36 ปีผู้นี้ ได้เป็นตัวหลักของกระทรวงบัวแก้วในการทำความเข้าใจกับต่างประเทศ เพื่อให้รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเมืองไทย และความผิดของทักษิณเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหยุดยั้งการเคลื่อนไหวแบบโลกล้อมประเทศของทักษิณ
ไม่ว่าจะเป็นการให้กระทรวงบัวแก้วทำความเข้าใจกับสถานทูตต่างประเทศทุกแห่งในไทย ถึงเรื่องฎีกาเสื้อแดง ด้วยการให้แปลเอกสารถวายฎีกาของเสื้อแดง และอธิบายกระบวนการที่ถูกต้องในการขอพระราชทานอภัยโทษ หรือการประสานงานผ่านสถานทูตในกลุ่มประเทศทวีปแอฟริกา เพื่อขอความร่วมมือในการส่งข้อมูลการเคลื่อนไหวของทักษิณในการเดินทางเข้าประเทศเหล่านั้น
ด้วยบทบาททั้งหมดของ “ชวนนท์” จึงทำให้มีแต่เสียงถามไถ่กันว่า เขาเป็นใครมาจากไหน เป็นอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศหรือเปล่า
คำตอบที่ได้ก็คือ “ชวนนท์” ไม่ใช่หน้าใหม่ทางการเมือง แต่ถือเป็น ทายาทการเมืองรุ่นที่ 3 ของตระกูล “อินทรโกมาลย์สุต” ที่มีปู่คือ “ยศ อินทรโกมาลย์สุต” เป็นอดีตนักการเมืองรุ่นลายคราม คือเป็นอดีตส.ส.นครราชสีมา 4 สมัย ในสังกัดพรรคต่างๆ เช่น กิจสังคม เสรีมนังคศิลา สหประชาไทย เป็นอดีตรัฐมนตรีสองสมัยคือ รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เมื่อปี 2500 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการเกษตร และอีกครั้งในรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2526 ในตำแหน่งรมช.คมนาคม
ขณะที่บิดา คือ มานะศักดิ์ อินทรโกมาลย์สุต อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารสงเคราะห์ ก็เป็นอดีต ส.ส.นครราชสีมาหนึ่งสมัยในสังกัดประชาธิปัตย์ และอดีตส.ส.กทม. ลูกพรรคสมัคร สุนทรเวช ที่พรรคประชากรไทย
แต่แม้ครอบครัวคือ ทั้งปู่และพ่อ จะอยู่ประชาธิปัตย์แค่สมัยเดียว แต่ “ชวนนท์” ก็ผูกพันกับพรรคนี้มานานหลายสิบปี ทำให้ “ชวนนท์” ตั้งใจตั้งแต่เด็กว่าโตขึ้นต้องเล่นการเมืองตามรอยเท้าปู่และพ่อ และพรรคที่จะขอไปเขียนใบสมัครเป็นสมาชิก ต้องเป็นประชาธิปัตย์พรรคเดียวเท่านั้น
เมื่อวันเวลาของการแจ้งเกิดมาถึง “ชวนนท์” อดีตข้าราชการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้จบการศึกษาปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยระดับโลกคือ เยล สหรัฐอเมริกา ที่ได้พบกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปี 2548 หลังมีผู้ใหญ่พาไปรู้จักกับ อภิสิทธิ์ สมัยเป็นรองหัวหน้าพรรค ดูแลพื้นที่เลือกตั้งกทม.ในปี 48
“ชวนนท์”ก็เดินเข้าพรรค ปชป. สมดั่งตั้งใจ สมัครเป็นสมาชิกพรรคในปีนั้น และเตรียมตัวทุกอย่างเพื่อลงเลือกตั้ง
จนเมื่อพรรคอนุมัติให้ลงสมัครส.ส.เขตจตุจักรได้ เพราะเห็นว่าเป็นคนรุ่นใหม่ สนใจการเมืองจริงจัง และปูมหลังด้านการศึกษา และการทำงานก็พอจะขายในกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้
แต่ก้าวแรกบนถนนการเมืองของ “ชวนนท์” ก็แพ้ไปแบบไม่ต้องลุ้น เพราะกระแสทักษิณฟีเวอร์ปี 48 แรงสุดขีดจนตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ขนาดส.ส.กทม.หลายคนของปชป. ที่เป็นส.ส.หลายสมัยยังร่วง แล้ว “ชวนนท์” จะเหลืออะไร
เมื่อล้มเหลวจากเวทีการเมือง “ชวนนท์” ก็ทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการอีกครั้งที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จนกระทั่งเมื่ออภิสิทธิ์จัดตั้งครม.สำเร็จ แล้วมองหาคนมาทำหน้าที่ เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ และ โฆษกบัวแก้ว
เสียงเล่าขานในปชป.บอกตรงกันว่า อภิสิทธิ์นึกถึงชื่อ “อ๊อฟ” ชวนนท์ เป็นคนแรก จึงโทรศัพท์สั่งการให้ “ชวนนท์” รีบเขียนใบลาออกก่อนจะชงชื่อเข้าครม. เมื่อ 13 มกราคม 52 เพียงหนึ่งวัน เพื่อแต่งตั้งให้เป็นเลขาฯ รมว.กษิต อย่างเป็นทางการ
วันนี้ “ชวนนท์” ทายาทรุ่นที่ 3 ของอินทรโกมาลย์สุต แจ้งเกิดการเมืองสำเร็จแล้ว แม้จะยังไม่ได้เป็นส.ส.เหมือนปู่และพ่อ ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า
เขาจะไปได้ไกลขนาดไหนบนถนนการเมืองเส้นนี้