xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์ก่อนพายุลูกใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
สมการการเมือง
โดย...พาณิชย์ ภูมิพระราม

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ที่จะประกาศปลายเดือนนี้ แสดงถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่การขาดดุลการค้าของสหรัฐ สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี แสดงถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ขณะเดียวกันการว่างงานก็เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า นั่นทำให้ค่าเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นของไทยช่วงนี้

ดังนั้นกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดหวังว่า เศรษฐกิจจีนจะช่วยสร้างความสมดุลเศรษฐกิจของโลกเนื่องจากสถาบันนักคิดของจีนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของจีนในปีหน้าจะเติบโตประมาณ 8.5% และเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2.5%

วอร์เรน บัฟเฟตต์ คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวในเวลา 2 ปี แทนที่จะเป็น 1 ปี แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว หลังจากเผชิญกับวิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี

อย่างไรก็ตามการตอกย้ำถึงการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำ น้ำมัน และ ข้าวสาลี

ที่สำคัญกว่านั้น ผลการสำรวจผู้จัดการกองทุน 11 แห่งล่าสุด โดย Bofa-ML ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ พบว่า 39% จะลดการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ เพราะภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มการเติบโตที่ช้า และ 42% จะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐไปแล้ว 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ นอกจากนั้นปริมาณเงินในตลาดเงินที่ลดลงจาก 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงการเคลื่อนย้ายเงินออกจากตลาดเงินระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี)

แต่คาดการณ์ว่า จีน อินเดีย และบราซิล จะเป็นตลาดหุ้นที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายปียังได้รับผลกระทบจากยอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติในช่วงปลายปี

แม้ว่าปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าของไทยได้รับการแก้ไขไปในระดับหนึ่ง

แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงดำรงอยู่

จากการเปิดเผยของทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ตัวเลขใน ปี พ.ศ. 2549 พบว่ากลุ่มประชาชนที่ร่ำรวยที่สุด 20% ของประเทศ มีทรัพย์สินเกือบ 70 เท่าของกลุ่มที่จนที่สุด 20% ของประเทศ และมาตรการด้านการคลังของไทยในบางด้านยังเป็นตัวเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น

กระนั้นก็ตาม มาตรการนโยบายการคลังของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ไม่ได้ลดระดับความรุนแรงของปัญหาดังกล่าว แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลจะดำเนินนโยบายปฏิรูปปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชน ที่ปัจจุบันต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 50-60 ให้มาเป็นหนี้ในระบบ และโครงการประกันรายได้เกษตรกร แทนการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ล่าสุดมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้ว 4 ล้านราย

รวมทั้งรัฐบาลจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ได้ออกแผนพัฒนาสถาบันการเงินที่จะมีการออกใบอนุญาตให้ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อรายย่อย หรือไมโครไฟแนนซ์

ดูเหมือนว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ จะมั่นใจกับผลงานทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลจากมาตรการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ที่จ่ายให้ผู้ประกันตน 9 ล้านคน ทำให้การว่างงานลดเหลือ 500,000 คนจากที่ประเมินว่า มีคนว่างงานประมาณ 2 ล้านคน

ต่อมารัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะปานกลาง 2- 3 ปี ผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง ที่มีวงเงินสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยรัฐบาลจ่ายเฉลี่ยร้อยละ 4-5 ต่อปีของจีดีพี

แต่กระนั้นการดำเนินโครงการไทยเข้มแข็งก็เกิดขึ้นพร้อมกับ “กลิ่นหึ่งๆ” ศักยภาพการโกงของนักการเมืองไม่ยิ่งหย่อนกว่าประเทศใดๆ

ล่าสุดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชัน ประจำปี 2552 (Corruption Perceptions Index 2009) จากการสำรวจขององค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) พบว่า ประเทศไทยได้ 3.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 84 จากการจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 10 จาก 23 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย และเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัด ตั้งแต่ปี 2538-2552 ปรากฏว่า อันดับของประเทศไทยแย่ลง

โดยสรุปแล้ว หลายคนประเมินว่ารัฐบาลสอบผ่านด้านเศรษฐกิจ และต้องการให้บริหารประเทศต่อไป เพื่อดำเนินตามมาตรการต่างๆ ที่ประกาศไว้

แต่กระนั้นก็เป็นเพียงการสอบผ่านแบบธรรมดา หากคิดเป็นเกรด ก็แค่ระดับ B
ตรงกันข้ามกับ การแก้ไขปัญหาการเมือง ทุกฝ่ายเชื่อว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ สอบตก

ที่สำคัญที่สุด ลึกๆ แล้วรัฐบาลก็เชื่อว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปีหน้า

ด้วยโมเดลพรรครัฐบาลรูปแบบใหม่

นั่นทำให้พรรคมาตุภูมิ เปิดตัว พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. และประธาน คมช.

“การเมืองในระบอบประชาธิปไตยยังไม่สามารถเดินไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เพราะประชาชนยังมีการศึกษาที่จำกัด และยังมีความยากจน ซึ่งพรรคมองไปถึงรัฐสวัสดิการและความกินดีอยู่ดี”

รัฐสวัสดิการ...ดูจะสอดคล้องแนวทางแก้เศรษฐกิจของประชาธิปัตย์

คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สนธิ บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า มาตุภูมิ ต้องการพื้นที่ทางการเมืองบางส่วนโดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคใต้ และภาคกลางย่านปากน้ำ

“ระบอบประชาธิปไตย ผมเอาระบอบเป็นตัวตั้ง และประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นตัวกำหนดทิศทางในการปฏิบัติ” นั่นคือวิธีคิดของอดีตประธาน คมช. ต่อการเดินเข้าสู่ถนนการเมือง

“อันที่จริง พล.อ.สนธิ เข้าสู่ถนนการเมืองตั้งแต่ยึดอำนาจ 19 กันยาฯ แล้ว มิหนำซ้ำ พรรคเพื่อแผ่นดินนั้น พล.อ.สนธิ ก็เป็น 1 ใน 3 ผู้ถือหุ้น นอกเหนือจาก สุวิทย์ คุณกิตติ และวัฒนา อัศวเหม” แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อแผ่นดินระบุ

ที่สำคัญ การลงขันครั้งนั้น พล.อ.สนธิ ควักกระเป๋าน้อยกว่าคนอื่น เพราะด้วยนิสัยทหารที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังเป็นหมื่นล้านเหมือนนักธุรกิจ ทำให้ภาระหนักไปตกอยู่กับวัฒนา

แต่เมื่อวัฒนา โดนพิษบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำให้โอกาสเป็นของ พล.อ.สนธิ ส่วนสุวิทย์ คุณกิตติ ที่อยากเป็นนายกรัฐมนตรีมากๆ กลับต้องไปรื้อฟื้น “โมเดลพรรคกิจสังคม” แต่ก็เกินคุ้ม เพราะทุกวันนี้ไม่ค่อยว่างรับแขกการเมือง เนื่องกำลังยุ่งอยู่กับการถอนทุนให้ “เสี่ยโรงงานน้ำตาล”

ที่สำคัญกว่านั้น พล.อ.สนธิ คาดหวังว่า จะเป็นนายกรัฐมนตรี ในสถานการณ์หลากสี ต่างอุดมการณ์ หลังจากที่พล.อ.สนธิ ผิดหวัง และทำพลาดมาครั้งหนึ่งแล้ว ที่ไปเชื้อเชิญ พล.อ.สรุยุทธ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่บริหารการเมืองเอง

โดยสรุป พล.อ.สนธิ จำเป็นต้องมาอยู่พรรคมาตุภูมิ เพราะปัญหา 4 ประการ คือ  1.ปัญหาการเมืองที่มีความขัดแย้ง  2. ความสมานฉันท์  ความรักและความสามัคคีที่เกิดขึ้น  3. ความซื่อสัตย์สุจริต  4. การแก้ปัญหาในพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการศึกษาของเยาวชนและระบบเศรษฐกิจ

แต่ความเป็นอดีตประธาน คมช. ของ พล.อ.สนธิ ทำให้มาตุภูมิถูกวางน้ำหนักไปที่ “ฝั่งตรงกันข้ามกับทักษิณ”

แต่ไม่ได้หมายความ ปิดประตูตายสำหรับการร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย

เพียง “โมเดลการเมือง” ที่มีเพื่อไทยเป็นแนวร่วมนั้น ต้องมีภูมิใจไทย หรือประชาธิปัตย์ควบคู่ด้วยเสมอ

พล.อ.สนธิ มีโอกาสมากน้อยแค่สำหรับ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เอาไว้โอกาสหน้าจะวิเคราะห์ในรายละเอียด

แต่ที่สำคัญ การปรับกลยุทธ์ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ หลังจากถูกโดดเดี่ยวให้แก้ไขปัญหาอยู่พรรคเดียว...เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

โดยเฉพาะการแต่งตั้ง พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง แทนนายอิสรา สุนทรวัฒน์ ที่ลาออกเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มอบหมายให้ พล.ต.อ.ธานี มาดูแลงานด้านตำรวจ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระบวนการยุติธรรม

โดยเฉพาะคดีสำคัญๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชน เช่น คดีลอบยิงสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือคดีเพชรซาอุดีอาระเบีย

ขณะเดียวกัน สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เผด็จศึกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยการแต่งตั้งโยกย้ายระดับรอง และผู้ช่วยผ้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

แต่งตั้งบอร์ดกลั่นกรองชุดใหม่ ที่มี รองผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ ร่วมเป็นคณะกรรมการ และมี เบญจวรรร สร่างนิทร เลขาธิการ ก.พ. เป็นประธาน ตามที่นายสุเทพ ทำหนังสือเวียนขอความเห็นจาก ก.ตร. โดยมี ก.ตร. 13 ใน 18 เสียง (รวมประธาน) ที่ไม่คัดค้าน

หลังจากนั้นก็ประชุม ก.ตร. พิจารณาแต่งตั้งตามบอร์ดกลั่นกรอง ก่อนถัดมาอีกสองวัน พล.ต.อ.ปทีป  ตันประเสริฐ  รักษาการ ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่  579/2552  กำหนดลักษณะงาน และการมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบระดับรอง  ผบ.ตร. และผู้ช่วย  ผบ.ตร.ใหม่

ที่น่าสนใจที่สุดคือ พล.ต.ท.ภาณุพงศ์  สิงหรา  ณ  อยุธยา  รักษาการแทนที่ปรึกษา  (สบ 10)  เทียบเท่า  รอง ผบ.ตร. ปป.5  และ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง  ผู้ช่วย ผบ.ตร.ปป.51   รับผิดชอบหน่วยงาน บช.ก.  บช.น.  สนว.ตร.  พฐ.  และสำนักงานนิติเวชวิทยา

พล.ต.ท.สัญฐาน ชยนนท์ ผบช.ภ. 8 รรท. ผบช.น. ถือเป็นคนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผบ.ทบ.เสนอมา เพราะเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกัน และสนิทสนมคุ้นเคยกับสุเทพ เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้นคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ จึงอยู่ในอำนาจการสั่งการของสุเทพ แต่สำหรับอภิสิทธิ์ มีเพียง พล.ต.อ.ธานี คอยถ่วงดุล ปัญหาเรื่อง “อำนาจสั่งการ” กลไกรัฐทั้งตำรวจและทหาร น่าจะแก้ไปได้เปลาะหนึ่ง

ยังคงเหลือปัญหาการเมืองระดับพื้นที่ และภาพกว้างเท่านั้นที่กำลังสะสมทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น