xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์เพื่อ"ชินวัตร" ของ"เพื่อไทย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมการการเมือง
โดย...พาณิชย์ ภูมิพระราม

“ในขณะที่เป็นนายกฯไทย ผมได้ทุ่มเททำงานเรื่องนี้มากกว่านายกฯท่านอื่นๆ โดยทำงานตั้งแต่วันแรกที่เป็นนายกฯ เพื่อให้คนไทยที่ยากจนได้มีเครื่องมือ และทรัพยากรที่จะช่วยตัวเองให้ได้” เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกตอนหนึ่งของ “ทักษิณ ชินวัตร” เพื่อชี้แจงการรับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา

เป็นเนื้อหาแสดงธาตุแท้ “หลงตัวเอง” ของทักษิณแบบเดิมๆ

ทักษิณนั้นไม่เคยเชื่อว่า ตัวเขาอยู่ต่ำกว่าคนอื่น

ตรงกันข้าม ทักษิณคิดว่า ตัวเขาอยู่เหนือกว่าคนอื่นเสมอ และเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในประเทศไทย

บทสัมภาษณ์ในไทมส์ ออนไลน์ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ของทักษิณ บ่งบอกตัวตนที่แท้จริงได้ดี

ทั้งนี้ ริชาร์ด ลอยด์ แพร์รี่ บรรณาธิการข่าวภูมิภาคเอเชีย ได้เดินทางไปสัมภาษณ์ถึงนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ของทักษิณนั้น อาจจะเข้าข่ายจาบจ้วงต่อสถาบันเบื้องสูง เพราะทักษิณกล่าวถึงการปฏิรูปสถาบัน และการเปลี่ยนแปลงที่สถาบันระดับสูงควรทำให้เกิดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยไว้อย่างชัดเจน

แต่ประเด็นที่กระทบต่อความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศคือ การให้สัมภาษณ์ที่พาดพิงไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เกี่ยวกับอาการพระประชวร การสืบสันตติวงศ์ และการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549

เท่ากับปิดประตูกลับประเทศไทยของทักษิณทันที

แม้ว่า ทักษิณ ได้ออกแถลงการณ์ และจดหมายเปิดผนึกผ่านเว็บไซต์ของตนเอง กล่าวหาและประณาม เดอะ ไทมส์ ว่าบิดเบือนคำให้สัมภาษณ์ของตนโดยสิ้นเชิง

"ผมไม่เคยให้สัมภาษณ์ที่ไปกระทบสถาบันใดๆเลย แต่ในทางตรงกันข้ามระหว่างการสัมภาษณ์นั้นได้ปกป้องสถาบันว่าอยู่เหนือการเมือง และเทิดทูนสถาบันว่าเป็นที่เทิดทูนของคนไทยทั้งปวงและคนหนึ่งคนใดไม่ควรดึงสถาบันให้มาเกี่ยวข้องกับการเมือง" ตอนหนึ่งของแถลงการณ์

การโกหกคำโตของทักษิณ ถูกไทมส์ ตีแสกหน้าด้วยการตีพิมพ์คำสัมภาษณ์ประเภทคำต่อคำ จำนวน 12 หน้า ที่สำคัญในฐานะเจ้าของพรรคเพื่อไทย ผลของการกระทำของทักษิณ ทำให้ “ความไม่ไว้วางใจ” ในตัวทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

แม้ว่าก่อนหน้านี้ คนชั้นกลาง และคนชั้นสูง จะไม่ไว้วางใจพรรคเพื่อไทย แต่บทสัมภาษณ์และการเป็นที่ปรึกษาสมเด็จฮุนเซน ของทักษิณ

ทำให้ความไม่ไว้วางใจขยายตัวลงสู่คนชั้นล่างระดับบน

ผลการสำรวจความนิยมของ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ตอกย้ำถึงความระแวงต่อพรรคเพื่อไทย และทักษิณเป็นอย่างดี

ผลวิจัยเรื่อง เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อบทบาททางการเมืองของบุคคลนัยสำคัญทางการเมืองของประเทศในปัจจุบัน ของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระบุว่า บทบาททางการเมืองระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาของ ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า ร้อยละ 83.1 มองว่าเป็นผลเสียต่อประเทศไทย ร้อยละ 16.9 มองว่า เป็นผลดีต่อประเทศไทย ร้อยละ 88.1 ยังมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังทำเพื่อประโยชน์ให้กับตนเอง ร้อยละ 11.9 คิดว่าเป็นการทำประโยชน์ให้กับประเทศ ร้อยละ 82.6 ระบุไม่เคยได้รับประโยชน์อะไรโดยตรงจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ร้อยละ 17.4 บอกว่า เคยได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากพ.ต.ท.ทักษิณ

แม้กระทั่งแนวคิด “นครปัตตานี” ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ผลการวิจัยระบุว่า ร้อยละ 80.7 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 19.3 เห็นด้วย

สิ่งที่สำคัญคือ ร้อยละ 70.7 ระบุว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของทั้งพล.อ.ชวลิต และ พ.ต.ท.ทักษิณ ครั้งล่าสุด ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ร้อยละ 15.1 ระบุทั้ง 2 คนกำลังทำเพื่อประเทศไทย ร้อยละ 7.5 ระบุ พล.อ.ชวลิต กำลังพยายามทำเพื่อประเทศชาติ ร้อยละ 6.7 มองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังทำเพื่อประเทศชาติเช่นกัน

นั่นเท่ากับว่า การเดินเข้าพรรคเพื่อไทยของ พล.อ.ชวลิต กลับทำให้คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยลดลง

ตรงกันข้าม แนวโน้มความนิยมของสาธารณชนต่อคู่แข่งทางการเมืองกลับเพิ่มสูงขึ้น นั่นคือ ความนิยมของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ที่ร้อยละ 60.0 ขณะที่ความนิยมในตัวทักษิณ ยังคงไม่แตกต่างไปจากการสำรวจครั้งก่อนเท่าใดนัก คือร้อยละ 21.0

นอกจากนั้น คนส่วนใหญ่ยังให้โอกาสรัฐบาลอภิสิทธิ์ทำงาน โดยร้อยละ 77.9 ยังคงให้โอกาสรัฐบาลชุดปัจจุบันทำงานต่อไป

ดูเหมือนว่าสถานการณ์ในปัจจุบันของพรรคเพื่อไทยจะถูกซ้ำเติมจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของทักษิณ และพล.อ.ชวลิต ทั้งๆ ที่พรรคการเมืองนี้ยังไม่สามารถหา “ผู้นำพรรคอย่างเป็นทางการ”

รวมทั้งการขาดแคลน “กลุ่มคนกำหนดยุทธศาสตร์” ที่เป็นระดับแกนนำของพรรค เพราะหลายคนต้องเว้นวรรคทางการเมืองตามกฎหมาย

คงเหลือเพียง เฉลิม อยู่บำรุง และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เพียง 2 คนเท่านั้น ที่เป็น “ผู้อาวุโส” ของพรรค

นั่นทำให้ภาพพจน์พรรคเพื่อไทยเสื่อมถอยไปในทิศทางเดียวกับการเคลื่อนไหวของทักษิณ

แต่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ทักษิณมีความสำคัญมากกว่าเพื่อไทย เนื่องจากทักษิณเป็นเจ้าของพรรค

พรรคเพื่อไทยจะเป็นจะตายก็อยู่ที่ทักษิณคนเดียว

โดยเฉพาะการหล่อเลี้ยงสนับสนุนให้เพื่อไทย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ขับเคลื่อนคัดค้านประชาธิปัตย์ หรือ ภูมิใจไทย แม้จะมีเสียงบ่นของส.ส.เกี่ยวกับการสนับสนุน กลุ่มนปช. บ้างก็ตาม

แต่ “สถานภาพคล่อง” ของเพื่อไทยยังเป็นจุดแข็งที่สำคัญที่สุด

ทำให้การเดินทางไปกัมพูชาของทักษิณ กลายเป็นข่าวใหญ่ ที่กลบทุกเรื่องไปเกือบหมด
ก่อนหน้านี้ “9 อรหันต์ของวังจันทร์ส่องหล้า” คุมการนำทั้งหมดในพรรคไทยรักไทย ซึ่งประกอบด้วย ทักษิณ, คุณหญิงอ้อ, บรรณพจน์, ภูมิธรรม, หมอมิ้ง, หมอเลี้ยบ,บุญคลี, เฮียเพ้ง, วิเชษฐ์

แต่ในปัจจุบันทักษิณ จะมอบให้ 4 พี่น้องของตระกูลดูแลพรรคคนละภาค

กรรมการบริหารพรรคทั้ง 21 คน ของเพื่อไทย เป็นเพียงลูกจ้างของเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หรือ ปลอดประสพ สุรัสวดี ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร สุนีย์ เหลืองวิจิตร ฯลฯ

ทั้งนี้ เพราะ 4 พี่น้องตระกูลชินวัตร แบ่งกันดูแลส.ส.ของพรรค แล้วปล่อยให้กรรมการบริหารพรรค ทำงานด้านธุรการไป ประเภทหนังสือเข้าหนังสือออก

พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งไม่สำคัญมากนัก ปล่อยให้ เยาวเรศ ชินวัตร พี่คนโตที่อยู่ในเมืองไทย วัย 57 ปี เป็นผู้ดูแล ในฐานะประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ คนที่ 20

เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ วัย 54 ปี น้องสาวคนรองของทักษิณ บุตรคนที่ห้าของครอบครัวชินวัตร จากทั้งหมด 9 คน ดูแลพื้นที่ และส.ส.ภาคเหนือของพรรค และเป็นเจ้าของบริษัทเอ็มลิงค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จึงทำให้ส.ส.ภาคเหนือของพรรคไม่คิดแยกตัวไปร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่น

พื้นที่ใหญ่ในภาคอีสานปล่อยให้ พายัพ ชินวัตร เป็นบุตรคนที่ 6 ของครอบครัวบริหารจัดการ พายัพ ถือเป็นรายใหญ่คนสำคัญในตลาดหุ้น แม้ว่าเขาจะทำธุรกิจไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว เขาไม่ทำให้แมงเม่า และส.ส.ที่เล่นหุ้นในตลาดผิดหวัง

น้องสาวคนสุดท้อง“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กลายเป็นผู้ดูแลพื้นที่ภาคกลาง และ กทม. แต่ขณะเดียวกันบทบาทอีกด้านหนึ่งของ ปู-ยิ่งลักษณ์ ก็คือ การบริหารบริษัทเอสซี แอสเสท จำกัด และ มูลนิธิไทยคม

ที่สำคัญที่สุดคือ เครือข่ายนักธุรกิจที่เคยร่วมชายคาพรรคไทยรักไทยในอดีต ยังเกาะกลุ่มผ่าน 4 พี่น้อง และทักษิณ เพื่อผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมทักษิณ

ปูทางกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง!!

ไม่เว้นกระทั่งเครือข่ายในต่างประเทศอย่าง “สมเด็จฮุนเซน”

ว่ากันว่า ทักษิณต้องลงทุนกับการเดินทางเข้าเขมรครั้งนี้จำนวนมาก

ขณะที่เครือข่ายในประเทศ โดยเฉพาะฐานเสียงจากคนระดับล่างก็ยังเหนียวแน่นกับทักษิณ ทำให้ผลการสำรวจคะแนนนิยมในตัวทักษิณ มีความคงที่ที่ระดับ 21%

โดยสนับสนุนให้ กลุ่มนปช. เคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องตามความต้องการของทักษิณ

เพื่อไทย จึงวางแผนที่ทางยุทธศาสตร์ไว้ที่ “การยุบสภา” เพราะด้วยฐานเสียงสนับสนุนที่มีอยู่ ทักษิณเชื่อว่า เพื่อไทยจะครองเก้าอี้ ส.ส.เป็นอันดับหนึ่ง

แต่กระนั้น"อุปสรรคขวากหนาม" ที่สำคัญที่สุดของเพื่อไทยก็คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมทั้งพรรคประชาปัตย์ และภูมิใจไทย

ช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อไทยและทักษิณ ไม่สามารถลดระดับอุปสรรคที่มีอยู่สูงจากกลุ่มพันธมิตรฯได้

มิหนำซ้ำการปฏิเสธของกลุ่มคนชั้นกลาง และคนระดับสูง กลับขยายวงกว้างขึ้น

ไม่มีใครเชื่อว่า เพื่อไทยจะมีที่นั่ง ส.ส.ใน กทม. ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ขณะเดียวกัน การนำเสนอนโยบายที่เป็นจุดขายในอดีตของไทยรักไทย กลับถูกลดความสำคัญ

แม้กระทั่งนักการเมือง และคีย์แมนหน้าใหม่ ที่จะเข้ามาทดแทนคนที่ติดบ่วงกรรม 5 ปี ก็เป็นสิ่งที่เพื่อไทยขาดแคลนอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม โอกาสทางการเมืองของเพื่อไทย ยังคงดำรงอยู่ทั้ง ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

ก่อนหน้านี้ ทีดีอาร์ไอ ได้แสดงข้อมูลปี 2549 เกี่ยวกับทรัพย์สินของครอบครัวไทยกลุ่มต่างๆ พบว่า ครอบครัวกลุ่มที่รวยที่สุด ร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็นร้อยละ 69 ของทั้งประเทศ ขณะที่ครอบครัวจนสุดร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกัน ร้อยละ 1 หมายความว่า ความมั่งคั่งได้กระจุกตัวอยู่กับคนเพียง 20%

แต่เพื่อไทยกลับไม่ใช้โอกาสทางการเมืองในปัจจุบัน ขยายฐานเสียงสนับสนุน

ตรงกันข้าม เพื่อไทยและทักษิณ กลับเดินหน้าใช้เครือข่ายทั้งในและต่างประเทศกดดันคู่แข่งทางการเมือง

เพียงเพื่อลดอุปสรรคของครอบครัวชินวัตร !!




กำลังโหลดความคิดเห็น