xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ร่วงหนักเซ่นพิษมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – หุ้นไทยโดนปัจจัยลบในประเทศฉุดรูด 21 จุดหนักกว่าตลาดเพื่อนบ้าน ทั้งความสัมพันธ์ไทย-เขมร และกรณีมาบตาพุด กลุ่มพลังงานอาการโคม่า ปตท.และหุ้นในเครือร่วงหนัก หลังโดนMSCIถอดหุ้น “ราชบุรี โฮลดิ้ง” ด้าน “ก้องเกียรติ” มองปีหน้าเศรษฐกิจฟื้น แต่เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะกดดันราคาหุ้น อีกทั้งสภาพคล่องในระบบจะน้อยลง ฉุดภาพรวมไม่สดใส แนะเก็บหุ้นปันผลสูง พื้นฐานดี และหุ้นควบรวมหรือกิจการในกลุ่มแบงก์ที่อาจเกิดขึ้น 2-3 แห่งในปีหน้า
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (12พ.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 696.72 จุด ลดลง 21.18 จุด หรือ 2.95% มูลค่าการซื้อขาย 27,310.85 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงมากกว่าตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค อันเกิดจากปัจจัยลบภายในประเทศที่มากดดัน โดยเฉพาะแรงขายที่ออกมาจากหุ้นกลุ่มพลังงานของเครือปตท. จากกรณีปัญหามาบตาพุด โดยระหว่างวันปรับตัวสูงสุด 717.34 จุด และต่ำสุด 696.72 จุด นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 3,168.22 ล้านบาท เช่นเดียวกับบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ที่ขายสุทธิ 811.31 ล้านบาท
หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก คือ PTT มูลค่าการซื้อขาย 4,708.73 ล้านบาท ปิดที่ 236.00 บาท ลดลง 14.00 บาท PTTEP มูลค่าการซื้อขาย 3,134.03 ล้านบาท ปิดที่ 136.00 บาท ลดลง 8.00 บาท และ BANPU มูลค่าการซื้อขาย 2,622.57 ล้านบาท ปิดที่ 470.00 บาท เพิ่มขึ้น 8.00 บาท
ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในภุมิภาค พบว่า ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดที่ 22,397.57 จุด ลดลง 229.64 จุด ดัชนีสเตรทไทม์ ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ปิดที่ 2,726.24 จุด ลดลง 14.19 จุด ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดที่ 9,804.49 จุด ลดลง 67.19 จุด
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลาย เช่น ความสัมพันธ์ของไทยกับกัมพูชาที่ตรึงเครียด อีกทั้งกรณีของมาบตาพุดที่ยังไม่ชัดเจน และMSCIได้ถอดบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ออกจากการคำนวนดัชนี แม้ปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และบมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) แต่อาจทำให้สัดส่วนของหุ้นบมจ. ปตท. และ บมจ. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP มีสัดส่วนในMSCI ลดลง
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเชียย พลัส จำกัด กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงแรง ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงเทขายของProprietary Trading นักลงทุนรายใหญ่ หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่เทรดหุ้นด้วยพอร์ตบัญชีของตัวเอง โดยถ้าหุ้นที่ขายเป็นหุ้นใหญ่แค่ 1-2 ตัว จะสามารถส่งผลถึงลดลงของดัชนีด้วยเช่นกัน อีกทั้งดัชนียังมีแนวทดสอบสำคัญอยู่ที่ 700 จุด ที่สร้างความกังวลอยู่มาก และอีกสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากMSCI ปรับเปลี่ยนหุ้นในการคำนวณดัชนี
นางสาวมยุรี โชวิกรานต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงปรับฐาน บวกกับนักลงทุนชะลอการลงทุนบางส่วน เพื่อรอติดตามความเคลื่อนไหวกรณีไต่สวนคดีมาบตาพุดครั้งที่ 2 อีกทั้ง MSCI ได้ประกาศปรับเปลี่ยนหุ้นที่ใช้คำนวณดัชนี Global Standard Indices โดยเปลี่ยนหุ้นที่ใช้คำนวณดัชนี MSCI THAILAND INDEX ซึ่งหุ้นส่วนที่ถูกถอดออก มีผลต่อราคาด้วยเช่นกัน ประกอบกับ ในช่วง3-4วันที่ผ่านมาบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (Proprietary Trading) ก็การขายหุ้นออกมาค่อนข้างมากจึงฉุดให้ดัชนีฯ ปรับตัวลดลง
สำหรับแนวโน้มของดัชนีฯวันนี้ ( 13 พ.ย. 2552) เชื่อว่าดัชนีมีโอกาสที่จะรีบาวน์ขึ้นมาได้ เพราะในคืนวานนี้(12พ.ย.)จะมีการรายงานตัวเลขสต๊อกน้ำมันของสหรัฐฯ ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนคือ แนะนำหาจังหวะทยอยเก็บสะสมหุ้นเมื่อดัชนีฯ ปรับตัวลดลง โดยให้แนวรับ 695-690 จุด แนวต้าน 705-710 จุด
**ปี53เงินเฟ้อ-ดบ.กดดันราคาหุ้น
นอกจากนี้ นายก้องเกียรติ กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นปี2553 ว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้า จะฟื้นตัวขึ้นแน่ โดยคาดว่าจะเติบโตประมาณ 3.1% จากปีนี้ที่ติดลบ 1.1% ขณะที่เศรษฐกิจของไทยเองก็จะฟื้นตัวเช่นกัน ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลการประชุมG20 เมื่อเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลทุกประเทศร่วมมือกันอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าติดตามในปีหน้า คือ เมื่อหมดการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเงินเข้าระบบแล้ว เศรษฐกิจจะสามารถยืนด้วยตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวเข้ามาเป็นปัจจัยกดดันแล้ว รวมถึงอัตราดอกเบี้ยซึ่งคาดว่าในช่วงกลางปี ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯจะเริ่มขยับเพิ่มแน่นอน และตรงจุดนี้ก็จะมีผลต่อราคาหุ้นแน่
ขณะเดียวกัน สิ่งที่กังวลในระยะยาวคือ อัตราการเติบทางเศรษฐกิจของประเทศ หากไทยยังเติบโตอยู่ในระดับ 3-4% ต่อไปเรื่อยๆ แต่ขณะที่ประเทศอื่นมีการเติบโต 6-7% ต่อปี ภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจถูกทิ้งให้ยืนอยู่ข้างหลังประเทศอื่นๆได้ จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องดึงขีดความสามารถของภาคเอกชนออกมาให้มากที่สุด เพราะจะเป็นปัจจัยที่หนุนต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น