xs
xsm
sm
md
lg

หนี้สาธารณะต.ค.4ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คลังเผยยอดหนี้สาธารณะภาครัฐเดือนตุลาคม 4 ล้านล้านบาท อยู่ในระดับ 45.55% ของจีดีพี ลดลงกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท หลังรัฐบาลจ่ายคืนหนี้เงินต้นพันธบัตรออมทรัพย์กองทุนฟื้นฟูฯ 5.4 หมื่นล้านบาท

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐประจำเดือนตุลาคม 2552 การปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรรัฐบาล วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ โดยทำการ Roll Over หนี้เดิม วงเงินรวม 1.44 พันล้านบาท

ส่วนการกู้เงินภาครัฐได้เบิกเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน3 พันล้านบาท และได้การชำระหนี้จากงบประมาณรวม 8 พันล้านบาท โดยเป็นการชำระคืนเงินต้น 2.9 พันล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 5 พันล้านบาท

ขณะที่หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 มีจำนวน 4 ล้านล้านบาท หรือ 45.55% ของ GDP เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2.5 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1.1 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 2.08 แสนล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 9.8 หมื่นล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะลดลง 1.6 หมื่นล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงลดลง 2.2 หมื่นล้านบาท สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 2.6 พันล้านบาท 2.8 พันล้านบาท และ 1.1 พันล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีหนี้คงค้าง

การลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญเกิดจากการลดลงของ หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง รายการที่สำคัญเกิดรัฐบาลได้ดำเนินการชำระคืนต้นพันธบัตรออมทรัพย์ที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF 3) ที่ครบกำหนด วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท สำหรับหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 1.1 พันล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการตั้งดอกเบี้ยค้างจ่ายพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ

ทั้งนี้หนี้สาธารณะ 4 ล้านล้านบาท แยกออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 3.84 แสนล้านบาท หรือ 9.60% และ หนี้ในประเทศ 3.61 ล้านล้านบาท หรือ 90.40% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3.6 ล้านล้านบาท หรือ 89.98% และหนี้ระยะสั้น 4 แสนล้านบาท หรือ 10.02% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น