xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจบัตรเครดิต NPLพุ่ง13.71% สวนทางเบิกเงินสด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ธปท.เผยธุรกิจบัตรเครดิตยอดเอ็นพีแอลพุ่ง 13.71% ทั้งนอนแบงก์และธนาคารพาณิชย์ ส่วนปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมผ่านบัตรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 354 ล้านบาทจากไตรมาสก่อนเป็นผลจากการใช้จ่ายบัตรในต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 20% ขณะที่การใช้จ่ายบัตรในประเทศและยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าลดลงตามการระมัดระวังของผู้ถือบัตรในช่วงเศรษฐกิจซบเซา

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า สายนโนยบายสถาบันการเงินของธปท.ได้ประกาศตัวเลขบัตรเครดิตในระบบล่าสุดเดือนก.ย.หรือไตรมาส 3 ของปีนี้ พบว่า ธุรกิจบัตรเครดิตโดยรวมในส่วนของปริมาณบัตรและยอดสินเชื่อยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ในส่วนของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศ แต่ในส่วนของยอดการใช้จ่ายในประเทศและและยอดเบิกเงินสดล่วงหน้ากลับลดลง

ทั้งนี้ ธุรกิจบัตรเครดิตในไตรมาสนี้มียอดเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 6.72 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 810 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในสัดส่วน 13.71% โดยบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาสบันการเงิน(นอนแบงก์)มียอดเอ็นพีแอล ทั้งสิ้น 3.14 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 735 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ไทยมียอด 2.63 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 81 ล้านบาท และสาขาธนาคารต่างชาติมียอดทั้งสิ้น 928 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน7 ล้านบาท

ส่วนปริมาณบัตรเครดิตในระบบมีทั้งสิ้น 13.23 ล้านใบ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.23 แสนใบ หรือเพิ่มขึ้น 0.94% โดยธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 8.07 หมื่นใบ นอนแบงก์เพิ่มขึ้น 4.56 หมื่นใบ ส่วนสาขาธนาคารต่างชาติลดลง 3.51 พันล้านบาท ด้านยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 1.83 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 320.94 ล้านบาท คิดเป็น 0.18% โดยนอนแบงก์และสาขาธนาคารต่างชาตลดลง 637 ล้านบาท และ50 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังคงมียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.01 พันล้านบาท

สำหรับปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมมีทั้งสิ้น 7.50 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน 354 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.48% หากแยกตามประเภทการใช้จ่าย พบว่า ปริมาณการใช้จ่ายในประเทศมีทั้งสิ้น 5.66 หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย 160 ล้านบาท หรือลดลง 0.28% โดยในส่วนของสาขาธนาคารต่างชาติและนอนแบงก์ลดลง 376 ล้านบาท และ201 ล้านบาท ตามลำดับ มีเพียงธนาคารพาณิชย์เท่านั้นที่ยังมียอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตในประเทศเพิ่มขึ้น 418 ล้านบาท

นอกจากนี้ การเบิกเงินสดล่วงหน้าที่มีอยู่ทั้งสิ้น 1.52หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 17.69 ล้านบาท หรือลดลง 0.12% โดยนอนแบงก์ลดลงมากที่สุด 240 ล้านบาท และสาขาธนาคารต่างชาติลดลง 18.15 ล้านบาท ส่วนธนาคารพาณิชย์ยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศมีทั้งสิ้น 3.17 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 532 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.14% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการบัตรเครดิตทุกประเภท โดยนอนแบงก์เพิ่มขึ้น 260 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ 210 ล้านบาท และสาขาธนาคารต่างชาติ 63 ล้านบาท

สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของธปท.นั้น ในระบบมีจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 8.90 ล้านบัญชี ลดลงจากไตรมาสก่อน 2.46 แสนบัญชี หรือลดลง 2.69% ซึ่งสถาบันการเงินทุกประเภทต่างมียอดบัญชีลดลงถ้วนหน้า ด้านยอดคงค้างสินเชื่อมีทั้งสิ้น 2.16 แสนล้านบาท ลดลง 6.01 พันล้านบาท หรือลดลง 2.70% ซึ่งผู้ประกอบการทุกประเภทต่างมียอดลดลง โดยธนาคารพาณิชย์ 3.44 พันล้านบาท นอนแบงก์ 1.98 พันล้านบาท และสาขาธนาคารต่างชาติ 595 ล้านบาท

ขณะที่ยอดเอ็นพีแอลของธุรกิจนี้มียอดทั้งสิ้น 7.45 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนกว่า 1 พันล้านบาท หรือลดลง 11.88% ซึ่งนอนแบงก์ ธนาคารพาณิชย์ และสาขาธนาคารต่างชาติต่างมียอดลดลง 605 ล้านบาท 227 ล้านบาท และ173 ล้านบาท ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น