xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟหยุดวิ่ง : ตกหลุมพรางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

วัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปการ อันได้แก่ การท่าเรือ การท่าอากาศยาน และการรถไฟ เป็นต้น และประเภทสาธารณูปโภค อันได้แก่ การประปา และการไฟฟ้า เป็นต้น ก็เพื่อให้บริการขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีความจำเป็นในการดำรงชีพแก่ประชาชนโดยรวม โดยไม่มุ่งแสวงหากำไร เฉกเช่นผู้ประกอบการธุรกิจเอกชน ดังนั้นการกำหนดราคาขายสินค้าและบริการที่รัฐวิสาหกิจประเภทนี้เป็นเจ้าของ จึงคำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้บริโภคมากกว่าการคำนึงถึงผลกำไร

และนี่เองเป็นสาเหตุหลักในการทำให้รัฐวิสาหกิจทั้งที่เป็นสาธารณูปการและสาธารณูปโภคขาดทุน เมื่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนดำเนินการสูงขึ้น แต่รัฐบาลไม่อนุญาตให้ปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน แต่นั่นมิได้หมายความว่าการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจเกิดจากการที่รัฐควบคุมราคาเพียงอย่างเดียว แท้จริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ซึ่งพอจะอนุมานได้ดังต่อไปนี้

1. คนล้นงาน ทั้งล้นงานโดยตรง คือ จำนวนบุคลากรที่มีอยู่มากกว่าปริมาณงาน และล้นงานโดยอ้อม คือ จำนวนคนเหมาะสมหรือใกล้เคียงกับปริมาณงาน แต่ศักยภาพของบุคลากรด้อยกว่าความยากของงาน ต้องใช้คนจำนวนมากทำงานต่อหน่วยจึงทำให้ต้นทุนสูงกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐวิสาหกิจที่มีอายุการจัดตั้งมานานเป็นเวลาหลายปีจนเกิดปัญหาสะสมในองค์กร

2. มีการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดซื้อจัดจ้างทำให้ได้ของแพงกว่าความเป็นจริง หรือแม้ในกรณีที่ได้ของถูก แต่คุณภาพไม่ดีทำให้อายุการใช้งานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือได้งานที่ต่ำกว่าเงื่อนไขที่องค์กรกำหนดในการจัดซื้อจัดจ้าง

3. การเมืองเข้าแทรกการบริหารองค์กร ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองเข้าแทรกในกรณีสรรหาบุคลากรในระดับผู้นำสูงสุดขององค์กร อันได้แก่ ผู้ว่าการ และผู้อำนวยการ เป็นต้น

เมื่อผู้บริหารองค์กรมาจากการเมืองก็มีความจำเป็นเพื่อให้อยู่รอดในตำแหน่งที่จะต้องทำตามที่นักการเมืองสั่ง และส่วนใหญ่ที่นักการเมืองสั่ง ก็คือ การใช้อำนาจในตำแหน่งรับใช้นักการเมืองนั่นเอง

ในบรรดารัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน แต่ไม่สามารถยุบหรือโละกิจการขายให้แก่เอกชนได้ เนื่องจากจำเป็นต้องคงไว้เพื่อให้บริการประชาชน การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท.เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น และที่เป็นเช่นนี้ย่อมเกิดจากเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น และสาเหตุอื่นๆ อันเป็นลักษณะเฉพาะของธุรกิจประเภทให้บริการในการขนส่ง ซึ่งพออนุมานได้ดังต่อไปนี้

1. รถไฟ พาหนะขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าระบบรางระหว่างเมืองที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับความนิยมใช้บริการจากประชาชนด้วยดีตลอดมา จะเห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารที่เต็มขบวนทุกเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟด่วนสายใต้ และเหนือ แต่ก็ขาดทุนเนื่องจากต้นทุนดำเนินการต่อหน่วยขายสูงกว่าราคาขาย

2. ในปัจจุบันรถไฟมิได้เป็นกิจการผูกขาดในการขนส่งทั้งผู้โดยสาร และสินค้า ตรงกันข้าม รถไฟเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งทั้งจากรถประจำทาง และเครื่องบิน และในระยะหลังเมื่อถนนหนทางสะดวกสบาย และทั่วถึง การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลก็เข้ามามีส่วนทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงด้วย

3. ในการแข่งกับรถประจำทางและเครื่องบิน การรถไฟฯ ไม่อยู่ในฐานะจะแข่งขันทั้งในด้านความเร็ว และความสะดวกสบาย จะได้เปรียบคู่แข่งก็เพียงด้านราคาที่ถูกกว่า และในด้านความปลอดภัยซึ่งมีมากกว่าเท่านั้น แต่หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุรถไฟตกรางที่เขาเต่าแล้ว ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าความเชื่อในด้านความปลอดภัยจะยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้เดินทางโดยรถไฟหรือไม่

รถไฟตกรางที่เขาเต่าเกิดจากคนหรือระบบ เมื่อเกิดแล้วใครควรรับผิดชอบ คนขับรถ และช่างเครื่องเท่านั้นหรือ หรือว่าฝ่ายบริหารควรจะรับผิดชอบด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้าท่านผู้อ่านได้ตามข่าวมาตลอด จะพบว่าการรถไฟฯ ได้ตั้งกรรมการสอบสวน และมีผลสรุปออกมาว่าพนักงานขับรถได้รับโทษถึงขั้นถูกไล่ออก และช่างเครื่องถูกตัดเงินเดือนเป็นเวลาหลายเดือน แต่ไม่ปรากฏมีผู้บริหารระดับสูงได้รับโทษด้วยแต่ประการใด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้าพิจารณาจากข้อมูลที่พนักงานการรถไฟฯ เปิดเผยออกมาว่าระบบการเดินรถไม่มีความพร้อม อุปกรณ์บางตัวอันเกี่ยวกับความปลอดภัย คือ สัญญาณเตือนพนักงานในกรณีที่เกิดหลับในไม่ทำงาน แต่การรถไฟฯ ปล่อยปละละเลยไม่ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่มีความพร้อมในการใช้งาน รองผู้ว่าฯ ที่รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงควรจะได้รับโทษด้วย

จากการที่ลงโทษพนักงานขับรถ และช่างเครื่องโดยไม่มีการลงโทษฝ่ายบริหารนี้เอง ได้เป็นเหตุให้สหภาพฯ ร.ฟ.ท.ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการลงโทษในครั้งนี้ และแถมเลยไปถึงการไม่นำเอาหัวรถจักรที่มีข้อบกพร่องในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดอุบัติเหตุที่เขาเต่าออกมาวิ่ง และตามมาด้วยการลาหยุดงานของพนักงานพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้การรถไฟฯ ขาดบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่พนักงานขับ และเป็นเหตุให้รถหยุดวิ่ง ส่วนที่ออกมาวิ่งให้บริการก็พากันจอดกลางทางเป็นเหตุให้ผู้โดยสารต้องลงต่อรถโดยสารเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง ก่อให้เกิดความไม่พอใจ และต่างพากันประณามการรถไฟฯ กันเสียงขรม จนถึงผู้นำรัฐบาลออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อพนักงานการรถไฟฯ ด้วยการปฏิเสธที่จะเจรจาต่อรองกับสหภาพฯ ร.ฟ.ท. และแถมมีแนวทางออกมาว่าจะดำเนินการปฏิรูปการรถไฟฯ ตามแผนเดิมที่เคยนำเสนอเพื่ออนุมัติมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่ต้องหยุดชะงักไปเพราะสหภาพฯ ร.ฟ.ท.ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน

ดังนั้น การหยุดเดินรถของพนักงานการรถไฟฯ ในครั้งนี้เข้าทำนองเตะหมูเข้าปากหมาโดยแท้ กล่าวคือ ทำให้รัฐบาลนำไปเป็นเหตุอ้างในการรีบเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจเก่าแก่แห่งนี้ โดยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดูแลกิจการการรถไฟฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศเพื่อแสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และอาจพ่วงแถมด้วยการจัดซื้อหัวรถจักรมาทดแทนของเก่าโดยอ้างว่าสหภาพฯ ไม่ยอมใช้งานแล้ว และถ้าทุกอย่างเกิดขึ้นตามนี้ การหยุดเดินรถของพนักงานการรถไฟฯ ที่เกิดขึ้นด้วยเกรงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร และพนักงานต้องรับเคราะห์เหมือนกับเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เขาเต่า จะเท่ากับว่าตกหลุมพรางที่นักการเมืองขุดไว้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ น่าเห็นใจแท้ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น