ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – “โสภณ ซารัมย์-ยุทธนา ทัพเจริญ” ปฎิเสธร่วมเวทีถกปัญหารถไฟ ที่กลุ่ม มอ.รักชาติ จัดขึ้น ขณะที่ผู้ร่วมเสวนาหนุนต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยสนับสนุนการต่อสู้ของสหภาพฯรถไฟ ให้เปลี่ยนตัวผู้บริหารที่ไม่มีวิสัยทัศน์และความรับผิดชอบ พร้อมยกปัญหาบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจรถไฟเป็นวาระของประชาชนทุกคน เตรียมผลักดันสู่เวทีสาธารณะอีกครั้งวันอาทิตย์ 25 นี้ ณ ลานประวัติศาสตร์สถานีรถไฟหาดใหญ่
วันนี้ (23 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.กลุ่ม มอ.รักชาติ ได้จัดเวทีเสวนา “รถไฟของเรา...จะเอาอย่างไรดี” ณ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับกิจการรัฐวิสาหกิจรถไฟ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ประสบปัญหาในการให้บริหารจัดการ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนากิจการที่มีประสิทธิภาพและล้าหลัง
โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วนทั้งประชาชน ผู้โดยสาร นักวิชาการ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ ยกเว้นฝ่ายรัฐและผู้บริหารการรถไฟที่ปฎิเสธเข้าร่วม โดย นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า ร่วมเปิดงานประชุมอาเซียน ส่วน นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เหตุผลกำลังแก้ไขปัญหาภายในของรถไฟ และปฎิเสธที่จะส่งตัวแทนมาร่วมเวที
โดยในที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นการเกิดขึ้นของรถไฟไทยตั่งแต่ยุคแรกก่อนประเทศอื่นๆ เพราะคนไทยทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่สร้างรถไฟ ซ่อม ทำราง แต่ทว่าการบริหารของรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัยนั่นเองที่ทำให้ความเข้มแข็งนั้นตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะแตกย่อยงานออก และจ้างให้เอกชนซึ่งไม่มีความชำนาญเข้ามาทำงานแทนพนักงานรถไฟ ซึ่งเป็นการตัดทอนความสำคัญและบั่นทอนกำลังใจให้ค่อยๆ หมดไป
ส่วนความเคลื่อนไหวในการพิทักษ์กิจการรถไฟของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) นพ.อนันต์ บุญโสภณ ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นของการรถไฟนั้น ยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายประการที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ จึงมีอคติต่อการขับเคลื่อนต่อสู้เพื่อพิทักษ์รัฐวิสาหกิจรถไฟของสหภาพฯรถไฟ โดยเฉพาะหลังเกิดอุบัติเหตุที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้สหภาพฯ รถไฟ ปฏิเสธจะวิ่งขบวนรถไฟจากความไม่พร้อมของอุปกรณ์และหัวรถจักร ซึ่งจะมีผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารนั่นเอง แต่เมื่อผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อนและได้รับข้อมูลไม่เพียงพอจึงกล่าวโทษพนักงานรถไฟ
และเป็นที่น่าสังเกตว่า อุบัติเหตุล่าสุด ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วผู้บริหารต้องออกมารับผิดชอบ ซึ่งอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีก่อนได้ทำการลาออก ทว่าครั้งนี้กลับมีการลงโทษพนักงานแต่ไม่ได้ทบทวนบทบาทของตัวเอง และรัฐบาลเองก็ออกมาปกป้องผู้ว่าการการรถไฟฯเสียเอง
ด้าน น.ส.เสาวลักษณ์ แซ่ผ่อ นักศึกษาภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มอ.หาดใหญ่ เสนอให้สภาพฯ รถไฟออกมาชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นคนภายนอกเข้าใจที่ถูกต้อง ถึงผลกระทบของการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อว่า ถ้านักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มผู้โดยสารจำนวนมากที่ไข้บริการเข้าใจแล้ว จะเข้าร่วมอุดมการณ์กับสหภาพฯ รถไฟ เพื่อพิทักษ์ให้การบริหารรถไฟมีประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องแปรรูปให้เอกชนเข้ามาลงทุน
อีกทั้งในห้วงที่ผ่านมา เกิดการต่อสู้ของข่าวสารเพื่อช่วงชิงพื้นที่สื่อ ทว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าการต่อสู้ของสหภาพฯ รถไฟ จะเป็นการปกป้องทรัพย์สมบัติของสาธารณะในระยะยาว และเพื่อให้บริการมีความปลอดภัย โดยการขับไล่ นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟฯ เพื่อเปิดทางให้ผู้มีความสามารถ วิสัยทัศน์เข้ามา และให้ปฎิรูปรถไฟแทนการแปรรูปซึ่งเปิดบริษัทเอกชนทยอยเข้ามาดำเนินงานสำคัญในกิจการรถไฟ แต่กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ประชาชนมีอคติต่อการต่อสู้ของสหภาพฯ รถไฟ
นอกจากนี้ ยังมีผู้ร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นอีกว่า ไม่ว่ากิจการรถไฟจะมีปัญหาอย่างไร แต่ก็ยังมีศักยภาพ โดยเฉพาะในฝีมือของพนักงานซ่อมรถไฟ ถึงแม้รถไฟจะมีอายุ 40-50 ปี ก็สามารถทำให้วิ่งได้ แต่ผู้บริหารกลับนำงานซ่อมเหล่านี้ไปว่าจ้างบริษัทเอกชน โดยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบุคลากรที่มีอยู่
ทั้งนี้ ในที่ประชุมเห็นว่าเรื่องของรถไฟไม่ใช่หน้าที่ของสหภาพฯ รถไฟ หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ต้องพิทักษ์ไว้เท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของคนทั้งชาติที่ต้องร่วมกันรักษาให้เป็นสมบัติของชาติ ปัญหาด้านการบริหารต้องได้รับการแก้ไขโดยการปฏิรูป แต่ไม่ใช่วิธีการแปรรูป อย่างไรก็ตาม ในที่ได้มีการประชุมนอกรอบ เพื่อหารือเปิดเวทีสาธารณะหน้าลานประวัติศาสตร์ สถานีรถไฟ เพื่อพูดคุยเรื่องนี้ในระดับสาธารณะชนในวงกว้างอีกครั้ง ซึ่งคาดว่า น่าจะมีการเสวนาในวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคมนี้
ด้าน นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ กล่าวว่า เรื่องการคำนึงถึงความปลอดภัยในอุปกรณ์และหัวรถจักรนั้น เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่สหภาพฯได้ยื่นแนวคิดในการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อให้มีประสิทธิภาพในสมุดปกขาวตั้งแต่ปี 2545 แต่ก็ได้รับการเพิกเฉย และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟที่ต้องการแปรรูปรถไฟ ซึ่งมีไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบยาก และขึ้นอยู่กับนักการเมือง
ทำให้กิจการรถไฟไม่ได้รับการพัฒนาแต่ถูกตักตวงผลประโยชน์เข้าหากลุ่มทุนและนักการเมืองมาโดยตลอด จึงจะเห็นได้ว่าทรัพย์สินของการรถไฟไม่ได้ถูกบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเปิดที่ดินทำเลทองให้เอกชนเช่าก็ได้ค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อยที่ต่ำกว่าอัตราการเช่าตามมาตรฐาน หรือปัญหาที่ดินรถไฟถูกฮุบโดยกลุ่มนักการเมือง ซึ่งผู้บริการรถไฟก็ละเลยที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์มาโดยตลอด
“นโยบายการบริหารรถไฟที่ผ่านมา คือ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อจะให้รถไฟอ่อนแอ ทั้งเรื่องการให้บริการ และการบริหารทรัพย์สินที่ปล่อยให้เช่าที่ดินทำเลทองในราคาถูก การติดหนี้รถไฟอุดหนุนการบริการเชิงสังคม 2.6 หมื่นล้านบาท ทำให้สภาพคล่องของรถไฟไม่มี การปรับลดพนักงานและต้องทำงานหนักขึ้น แม้แต่ภายใต้ผู้บริหารรถไฟคนนี้เข้ามาพบว่ารถไฟเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นกว่าเดิมเฉลี่ย 2 วัน/ครั้ง ทั้งนี้ เพื่อสะสมปัญหาและนำไปสู่การแปรรูป” นายวิรุฬห์ กล่าวต่อและว่า
ต่อกรณีอุบัติเหตุล่าสุดที่สถานีเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้สหภาพฯ รถไฟตกเป็นจำเลยของสังคมมาโดยตลอด ซึ่งผลการสอบสวนระบุถึงการชำรุดของอุปกรณ์ Vigilance แต่ผู้บริหารแก้ปัญหาโดยไล่พนักงานขับรถทั้งที่วันปฎิบัติงานกินยาแก้ไข้ และตัดเงินเดือนพนักงานอีก 2 รายโดยไม่พิจารณาถึงความผิดของตัวเอง นำไปสู่การตรวจสอบหัวรถจักรและหยุดวิ่งขบวนรถไฟ เพราะความไม่ปลอดภัยดังกล่าว
ทว่า ก็ยังมีการอกคำสั่งบีบบังคับให้พนักงานวิ่งขบวนรถไฟแต่ให้ใช้ความระมัดระวัง ซึ่งหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นพนักงานปฎิเสธไม่ได้ที่ต้องมีความผิดทางอาญา ขณะที่ผู้บริการอยู่อย่างลอยตัวเหนือปัญหา พนักงานหลายคนจึงเกิดภาวะกดดัน
ด้านพนักงานรถไฟซึ่งมีประสบการณ์ขับรถไฟ 20 ปี และเป็นช่างเครื่องอีก 10 ปี ชี้แจงว่า อุปกรณ์ Vigilance นั้นต้องมาพร้อมกับหัวรถจักร ไม่ใช่อุปกรณ์เสริมอย่างที่ผู้ว่าการ ชี้แจงแต่จากประสบการณ์ทำงานพบว่ารถไฟ 100 คัน มีอุปกรณ์ครบสมบูรณ์เพียง 5 คันเท่านั้นที่ใช้การได้ ซึ่งพนักงานขับรถไฟต้องใช้ความระมัดระวังกันเอง